เมื่อผู้สูงอายุ……ถูกทอดทิ้ง!!!!
วันเวลาไม่เคยหมุนย้อนกลับ คงไม่ต่างอะไรกับอายุคนเรานับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย อีกทั้งอาจเป็นเพราะคนไทยเราดูแลสุขภาพกันมากขึ้น จึงส่งผลให้ปัจจุบันสถานการณ์ผู้สูงอายุในสังคมไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
แต่อายุสูงขึ้นก็ไม่ได้มีแต่ประโยชน์เสมอไป กลับน่าตกใจ เมื่อได้ยินข่าวอยู่เสมอว่า มีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งให้อยู่เดียวดายเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญเมื่อมีการสำรวจประชากรผู้สูงอายุ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2537 มีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 6.8 ในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.4 และล่าสุด ในปี 2550 พบว่าผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 10.7 ของประชากรทั้งประเทศ และที่สำคัญคาดการณ์ว่าในปี 2553 และ 2563 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11 และร้อยละ 15 ตามลำดับ
และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในขณะที่ผู้สูงอายุทะลุหลัก 6,800,000 คน อย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปี กลับยิ่งพบผู้สูงอายุซึ่งถูกทอดทิ้งมีจำนวนสูงถึงกว่า 4 แสนคน ทั้งนี้เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป กลายเป็นกระแสทุนนิยม ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างครอบครัวให้กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ความรักความผูกพันในครอบครัวน้อยลง คนในครอบครัวมัวแต่สนใจเรื่องการทำงานเก็บเงิน จนอาจมองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวไป
ส่งผลให้สัดส่วนของผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวตามลำพังในครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2537 มีผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวร้อยละ 3.6 ในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.3 และข้อมูลล่าสุดในปี 2550 พบมีผู้สูงอายุอยู่คนเดียวในครอบครัวตามลำพังร้อยละ 7.7 ทั้งนี้ร้อยละ 56.7 ของผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวตามลำพังไม่มีปัญหา ที่เหลือร้อยละ 43.3 มีปัญญา ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงอยู่
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่พบบ่อยที่สุดคือ “ความรู้สึกเหงา” สูงถึงร้อยละ 51.2 ของผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว รองลงคือปัญาหาไม่มีคนดูแลท่านเมื่อเจ็บป่วย ร้อยละ 27.5 ปัญหาด้านการเงินที่ต้องเลี้ยงชีพ ร้อยละ 15.7 และร้อยละ 5.3 ไม่มีลูกหลานมาช่วยแบ่งเบาภาระภายในบ้าน
ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ โดยจะเกิดมากที่สุดในผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งจากลูกหลาน
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีปัญหาด้านร่างกาย เนื่องจากสภาพร่างกายที่ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา ส่งผลให้สุขภาพอ่อนแอ ช่วยเหลือได้น้อยลง อีกทั้งสังคมก็ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกในทางลบ มองตนเองเป็นผู้ไร้ประโยชน์และเป็นภาระของสังคม เกิดความสับสนทางอารมณ์ จิตใจ และความเชื่อมั่นในตนเองลดน้อยลง ท้ายสุดทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้อยู่ในภาวะอารมณ์เศร้า ท้อแท้ ผิดหวัง และมีปมด้อย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถือเป็นปัญหาทางสังคมที่จะต้องช่วยกันเร่งแก้ไขโดยด่วน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกเดียวที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้………………
เราควรหันมาสนใจ ผู้สูงอายุ โดยเอาใจใส่และดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะในเวลาปกติหรือในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย พูดคุยและหาโอกาสพาไปผักผ่อน หากิจกรรมให้ทำในเวลาว่าง รวมทั้งสนับสนุนให้ได้รับการออกกำลังกายที่ถูกวิธี เพื่อเป็นการพัฒนาร่างกายควบคู่กันไป หากิจกรรมให้ทำร่วมกันในครอบครัว เพื่อการสร้างความอบอุ่นและความสัมพันธ์ที่ดีของสมาชิกในครอบครัว เพราะนอกจากจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดีแล้ว ยังจะกลายเป็นวัคซีนที่ดีของสมาชิกทุกคนในครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย
วันนี้คุณกลับไปดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวของคุณแล้วหรือยัง!!!!!!
เรื่องโดย : ณัฐภัทร ตุ้มภู่ www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : หนังสือสุขสาระ
Update : 22-04-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฐภัทร ตุ้มภู่