`เมืองเดินได้ เมืองเดินดี` สู่สุขภาวะที่ยั่งยืน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


`เมืองเดินได้ เมืองเดินดี` สู่สุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


แฟ้มภาพ


ถ้าในกรุงเทพฯ มีถนนดีมากกว่าฟุตบาธพังๆ ออกแบบให้ผู้คนสามารถใช้ทางเท้าสัญจรได้ ไม่มีรถจักรยานขึ้นมาขับขี่ ระหว่างทางมีร่มเงา ที่นั่งพัก ไม่มีพ่อค้าแม่ขายมาตั้งวางขายของกันอย่างเสรี เชื่อว่าจะทำให้คนกรุงเดินในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้มีสุขภาพดี เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นการออกกำลังกายง่ายที่สุดและเป็นกิจกรรมช่วยลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)


เพื่อสนับสนุนให้การเดินอยู่ในชีวิตประจำวัน การปรับผังเมืองเพื่อรองรับกิจกรรมการเดินเป็นสิ่งที่นักออกแบบผังเมืองต้องหันกลับมามองและช่วยกันพัฒนาพื้นที่ให้เอื้อต่อการเดินมากขึ้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าว "โครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี ระยะที่ 3" ณ โกดังอเนกประสงค์ริมน้ำ ล้ง 1919 เมื่อเร็วๆ นี้


`เมืองเดินได้ เมืองเดินดี` สู่สุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการพัฒนาเส้นทางให้เหมาะสมให้คนได้เดินสะดวก มีกิจกรรมทางกายที่มากขึ้น สสส.ไม่ได้ขับเคลื่อนงานด้านกิจกรรมทางกายอย่างเดียว ยังสนับสนุนการปรับสภาพแวดล้อมให้ประชาชนได้เดิน ขี่จักรยาน โดยมีประชาชนในพื้นที่เป็นศูนย์กลางและนำหลักวิชาการมาออกแบบร่วมกับหลายภาคส่วน


"สสส.ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนคนไทยที่มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอหรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ให้ได้ 80% ของประชากรในปี 2564 เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ไม่อยากให้คนไทยใช้เวลาส่วนใหญ่กับการติดหน้าจอที่มากถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน การเดินนอกจากจะทำให้คนออกจากหน้าจอแล้ว ยังกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน สำหรับการออกแบบเส้นทางเพื่อให้ปลอดภัย น่าเดิน และสวยงาม ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ต่างๆ เป็นหน้าที่ทุกฝ่ายต้องช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาสู่การมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน" ผอ.สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. อธิบาย


`เมืองเดินได้ เมืองเดินดี` สู่สุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


ผศ.คมกริช ธนะแพทย์ ภาควิชาการวาง แผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เราเดินได้ก่อนที่เราจะจำความได้ และการเดินได้นำพาความทรงจำมากมาย สำหรับโครงการ "เมืองเดินได้ เมืองเดินดี" อาจารย์จุฬาฯ ปรารถนาร่วมกันพัฒนาเมืองให้เกิดพื้นที่สุขภาวะด้านการเดิน ทำให้ประชาชนตระหนักว่า การเดินเป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิต โดยลดอำนาจรถยนต์และเพิ่มอำนาจคนเดินเท้า


`เมืองเดินได้ เมืองเดินดี` สู่สุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


เมืองเดินได้ เมืองเดินดี (Good Walk) มีเป้าหมายทำให้เมืองน่าอยู่ เป็นเมืองที่ทุกคนมีโอกาสหาความสุขอย่างเท่าเทียม ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ หัวหน้าโครงการและทีมงานเมืองเดินได้ เมืองเดินดี กล่าวว่า พื้นฐานที่ทำให้เมืองน่าอยู่ คือ โครงข่ายการเดินเท้าที่ออกแบบอย่างกระชับ ทำให้คนสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างมีคุณภาพ คำว่า 'เมืองเดินดี' ประกอบด้วย น่าเดิน มีกิจกรรมระหว่างทาง ร่มเงา ที่นั่งพัก สะอาด เดินสะดวกโดยความต่อเนื่องของโครงข่ายทางเดินเท้า ความกว้างของทางเท้าที่เหมาะสม มีความเรียบของทางเท้า รวมถึงเดินปลอดภัยมีกิจกรรมทางเท้าที่พลุกพล่านมีชีวิตชีวา มีทางข้ามที่ดี และมีแสงสว่างยามค่ำคืน


`เมืองเดินได้ เมืองเดินดี` สู่สุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


กรุงเทพฯ มีถนนเดินดีเพียง 134 เส้น จากการศึกษาถนนทั่วกรุงเทพฯ กว่า 936 เส้น โดยมีถนน 5 เส้น คือ ราชวงศ์ จักรพงษ์ พระราม 1 สีลม และพระอาทิตย์ เป็นย่านที่สอดประสานกิจกรรมระดับเมืองและกิจกรรมระดับย่าน ในการคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งการเข้าถึงด้วยการเดินเท้า สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินและความพร้อมในการขับเคลื่อนการพัฒนาย่านอย่างมีส่วนร่วม จึงเกิด 3 พื้นที่ยุทธศาสตร์ คือ คลองสาน-ท่าดินแดง เดินฟื้นฟูต้นทุนวัฒนธรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่น อารีย์-ประดิพัทธ์ เดินเพื่อสร้างพลวัตและชีวิตชีวาของย่าน ทองหล่อ-เอกมัย เดินเพื่อขยายพื้นที่ชีวิตของคน ด้วยกระบวนการฟื้นฟูเมืองด้วยการฝังเข็มภายใต้แนวคิด ทำน้อย ได้มาก คือ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพให้น้อยที่สุด แต่ให้ได้ผลลัพธ์หรือผลกระทบทางบวกให้ได้มากที่สุด" ผศ.ดร.นิรมล ขยายความ


`เมืองเดินได้ เมืองเดินดี` สู่สุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


3 พื้นที่ยุทธศาสตร์ซึ่งประชาชนในพื้นที่ ภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมกันออกแบบ มีความคิดเห็นให้ปรับพื้นที่ทางเดิน ประกอบด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายการเดิน ลดอำนาจรถยนต์ เพิ่มอำนาจการเดินเท้า เชื่อมโยงการเดินกับมรดกทางวัฒนธรรม เพิ่มกิจกรรมบนถนนสายสำคัญและเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่พัฒนาโดยเอกชน เป็นต้น นำมาสู่การเพิ่มซอยลัดและการปรับปรุงทางเท้า โดยเสนอให้เป็นความร่วมมือของภาครัฐเอกชนหรือมูลนิธิ เพราะการพัฒนาเมืองเป็นเรื่องของทุกคน


สุขภาพคนเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น หรือการปรับพฤติกรรมการกินเท่านั้น ถ้ามองลึกลงไปการปรับผังเมืองให้เหมาะสมกับการมีกิจกรรมของประชาชน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพคนเมือง เศรษฐกิจเมือง และสังคมเมือง


นอกจากพื้นที่ต้นแบบทั้ง 3 ย่าน แผนอนาคตจะจุดประกายเพิ่ม 5 ย่านเดินดีในอนาคตของกรุงเทพฯ ประกอบด้วย ย่านสยาม-ปทุมวัน ย่านราชประสงค์-ประตูน้ำ ย่านสีลม-สาทร ย่านอโศก-เพชรบุรี ย่านพร้อมพงษ์ และขยายผลไปสู่เมืองทั่วประเทศไทยกว่า 24 เมือง

Shares:
QR Code :
QR Code