เภสัชกรชี้ช่องแก้เชื้อดื้อยา

ปรับพฤติกรรมยาปฏิชีวนะ

เภสัชกรชี้ช่องแก้เชื้อดื้อยา

 

          เมื่อวันที่ 16 กันยายน ภญ.นิธิมา สุ่มประดิษฐ์ เภสัชกรชำนาญการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (ihpp) กล่าวถึงข้อสรุปการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุข ของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 28 (hmm) และการประชุมคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมัยที่ 63 (rc) จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ภูฏาน เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ พม่า เนปาล ศรีลังกา ติมอร์เลสเต และไทย ที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เชื้อดื้อยากลายเป็นปัญหาของทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งยาปฏิชีวนะซึ่งผลกระทบของการดื้อยานั้น นอกจากจะทำอันตรายต่อผู้ใช้ยาแล้ว ยังทำให้บุคคลรอบข้างและสังคมตกอยู่ในอันตรายและเสี่ยงจากการติดเชื้อดื้อยา เพิ่มภาระแก่ผู้ดูแลเมื่อต้องนอนโรงพยาบาลหรือรักษาตัวนานขึ้น และเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาให้แก่ผู้ป่วย สถานพยาบาล และประเทศชาติ

 

          ภญ.นิธิมา กล่าวว่า ประเทศสมาชิกต่างทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีการเสนอทางออกให้ทุกประเทศเฝ้าระวัง และลดการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งจ่ายยาของแพทย์ หรือการซื้อยาในกลุ่มนี้รับประทานเอง ซึ่งหากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดภาวะดื้อยาขั้นวิกฤต จนไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะที่มีในปัจจุบัน และการจะรออุตสาหกรรมยาผลิตยารูปแบบใหม่ๆ ก็ต้องใช้เวลานานร่วม 20 ปี ที่สำคัญต้นทุนการผลิตยาปฏิชีวนะยังมีมูลค่าสูง ทางที่ดีที่สุดควรพึ่งพาตนเอง ขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคปอดบวม ซึ่งเป็นโรคที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เพราะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น หากพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็ต้องมีการใช้ยากลุ่มนี้ในอัตราสูง และโอกาสการดื้อยาก็จะสูงขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ควรมีกลไกในการเฝ้าระวังการดื้อยาในทุกประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเครือข่ายดังกล่าว ทั้งในส่วนของ อย.และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

          ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า เชื้อแบคทีเรียในประเทศไทยดื้อยามากกว่าประเทศที่มีการควบคุมการใช้ยาอย่างเข้มงวด เช่น เชื้อสเตรปโตคัคคัส นิวโมเนียอี ที่ก่อโรคปอดบวมดื้อยาเพนนิซิลิน ร้อยละ 50-60 ขณะที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน ดื้อน้อยกว่าร้อยละ 5 แสดงว่าสถานการณ์เชื้อดื้อยาในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต เชื้อแบคทีเรียดื้อยาเกือบทุกชนิดเพิ่มขึ้นพร้อมกัน โรคติดเชื้อที่รักษาไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และยาปฏิชีวนะที่เคยใช้ได้กลับใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบัน เช่น อาซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย (acinetobacter baumannii) พบว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว ทำให้ดื้อยาทุกชนิด รวมทั้งดื้อยากลุ่มคาบาพีเนม (carbapenem) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์แรง ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 2.1 ในปี 2543 เพิ่มเป็นร้อยละ 61 ในปี 2552 ทางที่ดีที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยา ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ พวกยาแก้อักเสบโดยไม่จำเป็น เพราะหากใช้สะสมย่อมมีโอกาสดื้อยาในที่สุด

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

 

 

update : 17-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code