เฟ้นหา`เพื่อนร่วมทาง`สร้างโอกาสพื้นที่ห่างไกล
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
องค์การอนามัยโลกได้นิยามไว้ว่า "สุขภาพ" หมายถึง ภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ รวมถึงการใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข สะท้อนถึงความเป็นองค์รวมอย่างแท้จริงของสุขภาพที่เกื้อหนุนและเชื่อมโยงกันทั้ง 4 มิติ นำมาสู่วิสัยทัศน์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือ หวังเห็นคนไทยมีสุขภาวะดีครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ กาย จิต ปัญญา และสังคม
แผนสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะ เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของการดำเนินงาน ในการสร้างเสริมสุขภาพสู่สังคมสุขภาวะของ สสส. โดยเมื่อวันก่อน สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) ได้จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงาน "หน่วยจัดการร่วมกับ สสส. ระดับพื้นที่ (Node)" เพื่อค้นหาเพื่อนร่วมทางระดับจังหวัด มาร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมพัฒนาโครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็กในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลและขาดโอกาส โดยมีผู้ให้ความสนใจร่วมงานกับ สสส.อย่างล้นหลามมากถึง 160 ทีม จาก 77 จังหวัด
ทั้งนี้ แผนสร้างเสริมโอกาสและนวัตกรรมสุขภาวะ มีเป้าหมายในการขยายโอกาส และพัฒนาศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะ โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคล ชุมชน และองค์กรทั่วไป สามารถดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายให้สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาของชุมชน มีกรอบการสนับสนุนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปีของ สสส.
สำนัก 6 จึงได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานของแผน โดยมีการพัฒนา "หน่วยจัดการร่วมกับ สสส. ในระดับพื้นที่ (Node)" เพื่อมาพัฒนาศักยภาพ ติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการสร้างเสริมสุขภาพของภาคีรายย่อย ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลสำเร็จตามที่กำหนดไว้
ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในช่วงการเปิดประชุมถึงความสำคัญว่า การทำงานที่ตอบโจทย์ปัญหาของชุมชน เป็นสิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ สสส. มีหลากหลายช่องทาง หลากหลายประเด็นในการดำเนินงาน นับเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมกันสร้างสรรค์งานสร้างเสริมสุขภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างกว้างขวาง
"1 เดือนหลังจากนี้ จะเป็นช่วงของกระบวน การกลั่นกรองโดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ทีมงานคุณภาพร่วมพัฒนาโครงการในระดับพื้นที่ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด" ผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าว
ขณะที่ ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) กล่าวว่า หน่วยจัดการร่วมกับ สสส. ในระดับพื้นที่ (Node) จะทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้ประชาชนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ขาดโอกาสได้มีความสามารถดูแลสุขภาพ และร่วมมือกันสร้างเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพระดับชุมชน เพื่อสุขภาวะที่ดีขึ้นของคนไทย โดยจะริเริ่มนำร่องดำเนินงานในโครงการสร้างเสริมสุขภาพขนาดเล็ก และหลังจากนั้นทางสำนัก 6 จะมีการนำบทเรียนและประสบการณ์การดำเนินงานดังกล่าวมาขยายผลพัฒนา ปรับปรุง และต่อยอดการทำงานในรูปแบบอื่นๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การสร้างสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการทำงานเพียงลำพัง จะต้องอาศัยความรับผิดชอบ การเรียนรู้ ร่วมคิดร่วมทำ ตลอดจนอาศัยความร่วมมือและข้อมูลทางวิชาการจากหน่วยงานในท้องถิ่น และหากทุกชุมชน มุ่งมั่นดำเนินการอย่างกว้างขวาง ประเทศไทยก็จะพัฒนาอย่างมีทิศทางเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด