เพิ่มกฎเลขที่ใบรับแจ้งสำหรับฉลากเครื่องสำอาง

อย. เผย กฎหมายประกาศใช้ฉลากของเครื่องสำอางฉบับใหม่ ดีเดย์ 14 กันยายน 2554 ซึ่งต้องระบุ “เลขที่ใบรับแจ้ง” เป็นเลข 10 หลัก บนฉลาก ซึ่งบ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ดำเนินการจดแจ้งรายละเอียดการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมแล้ว ย้ำเตือนผู้ประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย เครื่องสำอางรุ่นที่ผลิตหรือนำเข้าเพื่อขาย ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2554 เป็นต้นไป จะต้องมีเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลาก ฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมายทั้งจำ และปรับ แนะผู้บริโภคอ่านฉลากภาษาไทยให้ถี่ถ้วนก่อนซื้อทุกครั้ง ปิดช่องสินค้าปลอม

เครื่องสำอาง

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์สุขภาพของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่หยุดนิ่ง ได้ปรับปรุงประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอางเกี่ยวกับฉลากของเครื่องสำอางให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งคณะกรรมการเครื่องสำอางเห็นชอบให้แก้ไขกฎหมาย โดยในกฎหมายฉบับใหม่ บังคับให้แสดงข้อความที่จำเป็นต่อผู้บริโภค ได้แก่ ชื่อเครื่องสำอาง และชื่อทางการค้าของเครื่องสำอาง ซึ่งต้องมีขนาด ใหญ่กว่าข้อความอื่น ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง, ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ต้องเรียงลำดับปริมาณของ สารจากมากไปหาน้อย, วิธีใช้เครื่องสำอาง, ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต กรณีเป็นเครื่องสำอางที่ผลิตในประเทศ รวมทั้งชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้าและชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต

กรณีที่เป็นเครื่องสำอางนำเข้า, ปริมาณสุทธิ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต, เดือน ปี ที่ผลิต หรือ ปี เดือน ที่ผลิต ตลอดจน เดือน ปี ที่หมดอายุ หรือ ปี เดือน ที่หมดอายุ กรณีที่เครื่องสำอางมีอายุการใช้งานน้อยกว่า 30 เดือน และคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพอนามัยของบุคคล

ที่สำคัญ ต้องแสดง “เลขที่ใบรับแจ้ง” บนฉลากเครื่องสำอางด้วย เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้นได้มาแจ้งรายละเอียด ตามข้อกำหนดการผลิตเพื่อขายหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางควบคุมแล้ว

นอกจากนี้ สามารถใช้สืบค้นข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้นกว่าการสืบค้นด้วยชื่อผลิตภัณฑ์ หรือชื่อบริษัท อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ ในการติดตามเฝ้าระวัง ร้องเรียน แจ้งเบาะแส เครื่องสำอางที่สงสัยว่าจะไม่ปลอดภัย ซึ่งประกาศฯ ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2554 เป็นต้นไป

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขอให้ผู้ประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเครื่องสำอางฉบับใหม่นี้ โดยเจ้าหน้าที่จะพิจารณาเอกสาร และหลักฐานที่ผู้ประกอบธุรกิจส่งมอบ หากถูกต้อง ครบถ้วน จะออกใบรับแจ้งให้ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งในใบรับแจ้งจะปรากฏเลขที่ใบรับแจ้งด้วย โดยกำหนดให้เป็นเลข 10 หลัก ตัวอย่างเลขที่ ใบรับแจ้ง เช่น 10-1-5400001 และห้ามนำเลขที่ใบรับแจ้งมาใส่ในกรอบเครื่องหมาย อย. เพราะอาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดว่า ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นเครื่องสำอางควบคุมพิเศษ ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับแล้ว ซึ่งอาจเป็นความผิดตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางรุ่นที่ผลิตหรือนำเข้าเพื่อขายอยู่ก่อนวันที่ 14 กันยายน 2554 สามารถใช้ฉลากภาษาไทยที่มีข้อความอันจำเป็นฉบับเดิม แต่หากผลิตหรือนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอาง ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2554 เป็นต้นไป จะต้องแสดงฉลากที่มีข้อความภาษาไทยให้ครบถ้วน ซึ่งจะรวมถึงมีเลขที่ใบรับแจ้ง ปรากฏบนฉลากอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เครื่องสำอางทั่วไปที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดขณะนี้ ตามกฎหมายจะต้องมาจดแจ้งรายละเอียดทุกรายที่ อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่สถานที่ผลิตเครื่องสำอางตั้งอยู่ หรือแจ้งผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของ อย. (e-submission) เครื่องสำอางใดที่ได้รับใบ รับแจ้ง แสดงว่าผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการตามกฎหมายขั้นต้นแล้ว เมื่อ อย. มีข้อมูลที่ครบถ้วนอยู่ในระบบ e-logistic จะเป็นเรื่องที่ง่ายในการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ซึ่งหากพบว่าผลิตภัณฑ์ใดก่อให้เกิดอันตราย สามารถติดตามหาผู้รับผิดชอบได้ง่าย และสามารถ เยียวยาผู้เสียหายได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนของผู้บริโภค หรือผู้ที่จำหน่ายเครื่องสำอาง

หากสงสัยหรือต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้นได้จดแจ้งมีเลขที่ใบรับแจ้งแล้วหรือยังสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลได้ที่เว็บไซต์อย. www.fda.moph.go.th เข้าไปที่กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง เลือกเมนู ค้นหาข้อมูลเครื่องสำอาง แล้วพิมพ์ชื่อผลิตภัณฑ์ หรือชื่อผู้ประกอบธุรกิจ หรือในอนาคตอันใกล้นี้สามารถพิมพ์ “เลขที่ใบรับแจ้ง” ได้ ซึ่งข้อมูลจะโยงไปยังชื่อสินค้าของบริษัทนั้นทันที ทั้งนี้ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้น ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าได้ปฏิบัติตามกฎหมายขั้นต้นแล้ว หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง อย. โทร. 0-2590-7277-8 ทุกวันในเวลาราชการ

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code