เพชรบูรณ์ สร้างสุขในเมืองแห่งความสุข

สุข สุข สุข … และแล้วความสุขก็ตลบอบอวลไปทั่วลุ่มน้ำภาคเหนืออีกครั้ง หลังจากเริ่มขบวนความสุขปีแรกที่เมืองพิษณุโลกสองแคว ล่องมาสู่ปีที่สองที่เมืองแพร่ แพะเมืองผี และส่งต่อมาที่เมืองมะขามหวาน จ.เพชรบูรณ์ กับงานสร้างสุขภาคเหนือ ประจำปี 2551 ที่จัดขึ้นในวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2552 โดยได้รับการสนับสนุนต้นทุนสุขภาพจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ช่วยส่งความสุขให้ฟุ้งกระจายไปทั่วทุกพื้นที่

 

            งานปีนี้จังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับเป็นเจ้าภาพจัดงาน ภายใต้ชื่องานที่ว่า นวัตกรรมสุขภาพบนฐานวัฒนธรรมภาคเหนือเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด และลานหน้าหอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ ภายในงานจัดให้มีนิทรรศการกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ นวัตกรรมสร้างสุขที่รวบรวมจากเครือข่าย 17 จังหวัดภาคเหนือ กว่า 60 นวัตกรรม และนำเสนอข้อมูลทางวิชาการนโยบายสาธารณะในหลายประเด็น

 

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายสุรพงษ์ พรมเท้า ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ภาคประชาสังคมจังหวัดเพชรบูรณ์และผู้ประสานงานโครงการสร้างสุขภาคเหนือ เล่าให้ฟังว่า การจัดงานภายใต้หัวข้อ นวัตกรรมสุขภาพบนฐานวัฒนธรรมภาคเหนือเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน นั้น มีเหตุจากสภาพสิ่งแวดล้อมของภาคเหนือที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลมาจากน้ำมือมนุษย์ อาทิ ไฟป่า ควันไฟ ฝุ่นละออง และอาจนำไปสู่ภาวะโลกร้อนในที่สุด

 

การจัดงานในครั้งนี้ มีเป้าหมาย 4 ประการ คือ 1.เพื่อเป็นการพัฒนากลไกการเสริมสร้างวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเสริมสร้างในระดับภาคเหนือและระดับจังหวัด 2.จัดระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสุขในภาคเหนือ 3.จัดทำบทเรียน ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมงานสร้างสุข และ 4.เพื่อจัดทำวาระสร้างสุขภาคเหนือ นายสุรพงษ์ เล่า

 

งานนี้ใช้สโลแกนในการจัดงานว่า ร่วมกันสานฝัน แบ่งปันความสุข หมายถึง การรวมพลังในการสร้างความสุข โดยมีสัญลักษณ์เป็น หนุ่มน้อยนครบาล ที่มีใบหน้ายิ้มแย้ม และมีความสุข บ่งบอกให้รู้ว่าคนเมืองเหนือ เป็นเมืองแห่งความสุข….

 

ซึ่งงานนี้เปิดฉากสร้างสุขได้อย่างอลังการด้วยขบวนจักรยานสร้างสุข กว่า 100 คัน ที่สตาร์ทออกจากจุดนัดหมายบริเวณโรงเรียนเมืองเพชรบูรณ์ ไปสมทบกับขบวนพาเหรดรณรงค์สร้างสุข ที่มีทั้งวงโยธวาทิต กำลังพลทหารบก จำนวน 200 คน กองพลทหารม้าที่ 1 จำนวน 500 คน นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจร่วมแรงร่วมใจกันเดินขบวนแจกจ่ายความสุขให้คละคลุ้งไปทั่วทุกพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ มุ่งหน้าสู่หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ด้วยความคึกครื้น หลังจากนั้นปิดฉากงานวันแรกด้วยการแสดงเพลงฉ่อย การเล่านิทานพื้นบ้าน และละครคุณธรรม จากชาวบ้านและนักเรียน ต.สะเดียง สร้างความตระการตา ตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ร่วมงานได้เป็นอย่างดี และที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือบูทนวัตกรรมจาก 17 จังหวัดภาคเหนือที่นำมาแสดงให้ชมกันตลอดงานอีกด้วย

 

 

….เปิดฉากความสุขกันวันที่สอง 26 ก.พ.52 ด้วยการแข่งขันวิ่งมินิมาราธอนสร้างสุข เพื่อเสริมสร้างสุขภาพ พร้อมกับนำทัพการแสดงวัฒนธรรมสร้างสุขภาคเหนือที่หลากหลาย อาทิ การแสดงพิณไทย การแสดงรำมวยจีน การแสดงภาษามือ การแสดงมวยไทยโบราณ การแสดงตุ๊บเก่ง การแสดงฟันดาบ และการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน ตามติดมาด้วยด้วยพิธีเปิดเวทีวิชาการที่ยิ่งใหญ่ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี รุจกรกานต์ ผู้แทนสภาพยาบาล มาบรรยายพิเศษ เรื่อง การสร้างสุขภาวะ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างล้นหลาม

 

 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานในรูปแบบกึ่งงานวิชาการ อย่างการจัดแสดงนิทรรศการ จากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในพื้นที่กว่า 60 กรณีในรูปแบบของลานวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีการนำเสนอข้อมูลวิชาการ ใน 4 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นที่หนึ่งเรื่อง เด็ก เยาวชนและครอบครัว ประเด็นที่สองเรื่อง ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพ ประเด็นที่สามเรื่อง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ ประเด็นสุดท้ายเรื่อง องค์กรปกครองท้องถิ่นในการจัดการสุขภาพ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดให้มีการนำเสนอความคิด เพื่อนำไปสู่วาระสุขภาพคนเหนือในรูปแบบของธรรมนูญสุขภาพอีกด้วย…

 

ปิดท้ายขบวนความสุขในวันที่สาม 27 ก.พ. 52 ด้วยการบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างเสริมสุขภาพภาคเหนือ ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และภาคี จ.เพชรบูรณ์ เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงว่า ประชาคมชาวภาคเหนือจะร่วมกันถักทอสายใยแห่งความสุขให้ลอยไปถึงประชาชนทั่วทั้งลุ่มน้ำในต่อไป

 

 

ซึ่งตัวแทนจาก สสส. นำโดย นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนงาน สำนักเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม เล่าว่า ภาคเหนือมีวัฒนธรรม ประเพณี ที่มีความเด่น และเป็นเอกลักษณ์ มีความสวยงามอบอวลไปทั่วลุ่มน้ำ และในงานสร้างสุขเอง ผู้จัดงานก็ได้ทำการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานแบบตั้งร้าน ให้กลายเป็นลานวัฒนธรรมที่มีการนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจ 4 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องจากงานสร้างสุขที่ จ.แพร่ ที่สำคัญ คือ ข้อเรียนรู้จากบทเรียนการทำงานด้านสร้างสุขภาวะ ในพื้นที่ภาคเหนือ 60 กรณี จากทุก จังหวัดในภาคเหนือ มีการสรุปบทเรียนการศึกษาออกมาอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งโดยละเอียดและย่อ ทำให้ภาคเหนือปีนี้ งดงามในเรื่องวิชาการเป็นอย่างมาก

 

อีกทั้ง นางผาสุก แสงเมือง พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ผู้เข้าร่วมงาน เล่าให้ฟังว่า งานสร้างสุขที่ จ.เพชรบูรณ์ ได้นำข้อมูล ความรู้ทางด้านวิชาการต่างๆ  มาเพื่อให้ประชาชนได้มีความรู้เพิ่มขึ้น โดยในส่วนตัวพอใจกับข้อมูลด้านสถานการณ์สุขภาพของคนภาคเหนือเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากตนเองประกอบอาชีพพยาบาล ทำให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ต่อ เพื่อป้องกันและรับมือกับปัญหาสุขภาพด้านต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

 

ตลอด 3 วันของการจัดงานมีประชาชนกว่า 800 คน ตบเท้าเข้ามาชมงานกันอย่างคับคั่ง ทำให้บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกครื้น พร้อมกับโชว์สุดอลังการจากเจ้าภาพ ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจในความอ่อนช้อย งดงามของศิลปะภาคเหนือได้เป็นอย่างดี

 

 

และแล้ว… งานสร้างสุขภาคเหนือก็จบลงอย่างสวยงาม ด้วยการมอบธงต่อจากเพชรบูรณ์ เมืองมะขามหวาน สู่ดินแดนเชียงราย เมืองเหนือสุดยอดแดนสยาม ที่เตรียมชักธงรบ พร้อมรับหน้าที่เจ้าภาพงานสร้างสุขปีต่อไป… แล้วพบกับงานสร้างสุขภาคเหนืออีกครั้งที่ จ.เชียงราย ปีหน้านะคะ

 

ถึงแม้งานสร้างสุขภาคเหนือจะปิดฉากลงแล้วอย่างสวยงาม แต่ความสุขทั่วไทยยังไม่จบเพียงแค่นี้ คนไทยยังจะได้สุขกันอีก 3 ภาค นั่นคือ วันที่ 20-22 มีนาคม 2552 พบงานสร้างสุขภาคอีสาน ภายใต้ชื่องานที่ว่า งานอีสานสร้างสุข 51-52 ตุ้มโอมภูมิปัญญา สร้างเสริมสุขภาวะ”” ที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนวันที่ 27-28 มีนาคม 2552 พบงานสร้างสุขภาคกลาง ภายใต้ชื่องาน ร่วมเคลื่อนพลังปัญญา…นำพาสร้างสุขที่ค่ายริมขอบฟ้า เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ และวันที่ 1-3 เมษายน 2552 พบงานสร้างสุขภาคใต้ ภายใต้ชื่องาน สุขภาวะทางปัญญา วาระสร้างสุขคนภาคใต้ ปี 51-52 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th

 

 

Update :  06-03-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ