‘เพชรบุรีดีจัง’ ปลุกเมืองให้มีชีวิต
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพโดย สสส.
จากอดีตจนถึงปัจจุบันเพชรบุรียังคงเป็นเมืองแห่งศิลปะ ศิลปินจากรุ่นสู่รุ่นสืบทอดวิชาเชิงช่าง ทั้งลายปูนปั้นอันอ่อนช้อย งานสถาปัตยกรรมยังยืนยง อยู่กับวัดวาอารามที่เรียงรายในจังหวัดเพชรบุรี ดินแดนแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า "อยุธยาที่มีชีวิต"
งานเพชรบุรี ดีจัง ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 16-17 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เลือกจัดในพื้นที่วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร พื้นที่ตั้งต้นของการจัดงานครั้งแรก หลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมาใช้พื้นที่จัดงานย่านชุมชนเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี และปิดถนนเพื่อให้เด็กได้มีพื้นที่ทำกิจกรรม ทั้งเวิร์กช็อปการแสดง วาดภาพ ตัดกระดาษ พร้อมกับงานออกร้านอาหารการกินขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบุรี
วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร สถาปัตยกรรมคู่บ้านเมืองเต็มไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์ เมื่อได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่จัดงานร้อยเรื่องราวศิลปะของ จ.เพชรบุรี จึงมีความขรึมขลัง มีความงดงามแบบมีชีวิตชีวาอย่างที่สุด
มหกรรมสาธารณศึกษา เพชรบุรีดีจัง สุขโขสโมสร เป็นชื่อของงานนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี เยาวชนเครือข่ายเพชรบุรี ดีจัง และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้น
"จากผลการสำรวจยูรีพอร์ตที่สำรวจเด็กและเยาวชน พบว่า เด็ก 35% เห็นว่าชุมชนที่ตนอาศัยอยู่มีพื้นที่สร้างสรรค์น้อย 12% มองว่าไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในพื้นที่และสื่อสร้างสรรค์ และ 42% อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือสร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนมากขึ้น การรณรงค์ให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์และบ่มเพาะสุขภาวะทางปัญญาผ่านกิจกรรม "เพชรบุรี…ดีจัง" จึงเป็นเสมือนสนามการเรียนรู้ในช่วงปิดเทอมขนาดใหญ่ที่เปิดกว้างให้เด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชน องค์กรท้องถิ่น ตลอดจนกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่สร้างสรรค์ได้สัมผัสสื่อศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยใช้กระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมพลังผ่านยุทธศาสตร์ 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และ ภูมิดี" ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ระบุ และว่า ปี 62 สสส. ได้จัดอบรมนักจัดการปิดเทอมสร้างสรรค์เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงกิจกรรมที่น่าสนใจอุดช่องโหว่ที่สำรวจพบว่า มีเด็กกว่า 43% เข้าไม่ถึงกิจกรรมอะไรเลยเพราะบ้านอยู่ไกล โดยนำร่องเพิ่มในพื้นที่ 15 จังหวัด กิจกรรมทั้งหมดจะรวบรวมอยู่ในเว็บไซต์ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com มีกิจกรรมและพื้นที่สร้างสรรค์ที่กระจายทุก ภูมิภาคถึง 1,248 กิจกรรม รวมถึงการเปิดรับตำแหน่งงานพิเศษ 10,000 ตำแหน่ง
ด้าน นางกรรณิกา เอี้ยวสกุลรัตน์ วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า พื้นที่เพชรบุรี ดีจัง สะท้อนถึงความยั่งยืนของการดำเนินงานของ สสส. ที่ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มเด็ก เยาวชน มีพื้นที่แสดงออกและพัฒนาศักยภาพของตนเอง และส่งเสริมให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มครอบครัว
น.ส.สุนิสา ประทุมเทือง แกนนำเยาวชนเครือข่ายเพชรบุรี ดีจัง กล่าวว่า มหกรรมครั้งนี้กลุ่มเยาวชนเครือข่ายเพชรบุรี ดีจัง เป็นเจ้าภาพหลักในการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์เป็นปีแรก โดยเริ่มต้นมาจากกลุ่มลูกหว้าซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้งานสกุลช่างเมืองเพชรแล้วนำไปสอนต่อ ถือว่าเป็นต้นแบบของพื้นที่สร้างสรรค์ โดยเกิดจากกลุ่มเยาวชน 10 กลุ่ม ในพื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดเพชรบุรี รวมตัวกันเกิดเป็นกิจกรรมกว่า 50 กิจกรรม ดังนั้นใน 1 ปีจึงมารวมตัวกันจัดงานเพชรบุรีดีจัง
สำหรับกิจกรรมสำคัญ เช่น การย้อมผ้าจากสีธรรมชาติที่มาต่อยอดทำเป็นกระเป๋า เสื้อยืด ให้น้อง ๆ ได้คิดต่อว่าจะนำไปต่อยอดออกมาเป็นชิ้นงานอะไรได้บ้าง หรืออย่างวิถีชีวิตชุมชน ในพื้นที่บางขุนไทรเป็นแหล่งทำนาเกลือใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศ เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจ แต่ใช้วิธีนำเกลือไปย้อมสีได้ลองเล่นก่อกองเกลือ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเวิร์กช็อปทำขนม เช่น ขนมครก ข้าวเกรียบงา ข้าวเกรียบว่าว ฝอยทอง นิทรรศการภาพถ่ายที่ใช้กุฏิทรงไทยของวัดเป็นที่จัดแสดงงาน นอกจากนี้ยังได้ใช้หอประชุมของวัดจัดให้เป็นสนามเด็กเล่นติดแอร์
งานที่เลิกราไปแล้วแต่เหลือความประทับใจไว้ กลายเป็นงานประเพณีที่คนในยุคหนึ่งเริ่มต้นขึ้นเพื่อสร้างความสุข และปัญญาให้กันผู้คน