เผย! เบาหวานเพชรฆาตร้ายคร่าชีวิตคนไทย

แพทย์เตือนเลี่ยงสมุนไพร-ลดน้ำตาล เสี่ยงตาบอดสูง

 เผย! เบาหวานเพชรฆาตร้ายคร่าชีวิตคนไทย

          น.พ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้โรคเบาหวานกำลังคุกคามสุขภาพประชาชนไทยมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการป้องกันโรค โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกาย และกินอาหารหวานให้น้อยลง

 

          เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานขณะนี้กว่าร้อยละ 80 มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกิน ที่เหลือเกิดจากกรรมพันธุ์

 

          จากการสำรวจสุขภาพคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศครั้งล่าสุดในปี 2547 พบเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 7 หรือประมาณ 3 ล้านคน ผู้ป่วยที่ตรวจพบครั้งนี้ เกินครึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค โดยมีผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 4 แสนคน หรือประมาณร้อยละ 12 เท่านั้นที่สามารถปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ได้ดี

 

          ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยเบาหวานคือ การควบคุมระดับน้ำตาล หากควบคุมได้ไม่ดีจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในหลายระบบของร่างกาย ที่สำคัญคือ จอประสาทตาเสื่อม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า เบาหวานขึ้นตา หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตาบอดอย่างถาวร

 

          เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานหลายปี จะมีผลทำให้เส้นเลือดฝอยทั่วร่างกายเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะที่ตา ผนังหลอดเลือดในจอประสาทตาจะเกิดความผิดปกติ มีเลือดออกในตา น้ำวุ้นตาขุ่นมัว จอประสาทตาลอก ทำให้ตาบอด ซึ่งโรคเบาหวานนี้เป็นสาเหตุทำให้ตาบอดมากเป็นอันดับ 2 รองจากตาต้อกระจก

 

          ขณะนี้ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยเบาหาน พบเบาหวานขึ้นตา หรือมีประมาณ 5 แสนคน มีความเสี่ยงตาบอดสูงกว่าผู้ป่วยทั่วไป 25 เท่าตัว

 

          น.พ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า ข้อมูลที่น่าเป็นห่วงคือ มีผู้ป่วยเบาหวานบางรายชอบทดสอบความแรงของยา โดยเฉพาะยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

 

          โดยกินอาหารต้องห้าม เช่น อาหารรสหวาน อาหารไขมันสูง เช่น หนังไก่ทอด ขาหมู แล้วกินยาตาม เพื่อดูว่าจะได้ผลทำให้อาการดีขึ้นในวันรุ่งขึ้นหรือไม่ หากไม่ดีก็จะไม่กินต่อ

 

          พฤติกรรมเหล่านี้เป็นผลเสียอย่างมากต่อการควบคุมเบาหวานของผู้ป่วย เพิ่มความเสี่ยงและเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น เพราะโรคนี้ไม่มียารักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงขึ้นได้น.พ.สุพรรณกล่าว

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์

 

update : 11-09-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code