เผยพ่อมีเวลาให้ลูกน้อย หวั่นเด็กเกิดเพศที่ 3
แนะบัญญัติ 10 ประการ กับบทบาทพ่อในการช่วยเลี้ยงลูก
เด็กอาจเป็นเพศที่ 3 เพราะขาดแบบอย่าง “สสส.” จับมือ “เอแบคโพล” เผยผลสำรวจพบบทบาทคุณพ่อ “ปี 51” เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำงานเกิน 8 ชั่วโมง แต่มีเวลาพูดคุยกับลูกเพียงวันละ 50 นาที หมอชี้ พ่อพูดคุยกับลูกน้อยเกินไป หวั่นเกิดเพศที่ 3 สูงขึ้น
ขณะที่เด็กมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงแก้ปัญหามากขึ้น มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย แนะบัญญัติ 10 ประการ เสริมสร้างบทบาทคุณพ่อในการเลี้ยงบุตร
ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 2 ธ.ค. ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบค โพล กล่าวถึงผลสำรวจบทบาทของพ่อในครอบครัวไทยในปัจจุบันว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างพ่อที่มีอายุ 25-60 ปี จำนวน 1,563 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ย.ที่ผ่านมา
พบว่า 79% พักอาศัยอยู่กับลูก ขณะที่ 21% ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับลูก เนื่องจากต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อยู่คนละบ้าน แยกทางกับภรรยา ลูกไปเรียนที่อื่น
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจยังพบว่า พ่อส่วนใหญ่ใช้เวลาทำงานมากกว่า 8 ชม. ถึง 70% ใช้เวลาทำงานไม่เกิน 8 ชม. มีเพียง 30% ขณะที่การใช้เวลาโดยเฉลี่ยในการพูดคุยหรืออยู่กับลูกและครอบครัว ในช่วงวันทำงานใช้เวลาเพียง 50 นาทีเท่านั้น ต่างจากช่วงวันหยุดที่ใช้เวลาถึง 3 ชม.
จากการสอบถามเวลาเฉลี่ยในการทำกิจกรรมประจำวันต่าง ๆ เปรียบเทียบความเป็นจริงกับหากเลือกได้ใน 1 วัน พบว่า พ่อส่วนใหญ่ต้องการลดเวลาการทำงานลง และมีเวลากับครอบครัวให้มากขึ้น
สำหรับ 5 บทบาทที่พ่อได้ปฏิบัติต่อลูกหรือคนในครอบครัวเป็นประจำ ได้แก่
1 การเป็นที่ปรึกษาที่ดีของลูกและคนในครอบครัว
2. พูดคุยและให้กำลังใจลูกและคนในครอบครัวเมื่อเกิดปัญหาขึ้น
3. การเคารพต่อการตัดสินใจของคนในครอบครัว
4. การเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกและคนในครอบครัว
5. ความพร้อมและเป็นผู้ฟังที่ดีของลูกและคนในครอบครัว
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส. กล่าวว่า บทบาทของพ่อที่หายไปจากครอบครัวส่งผลต่อพัฒนาการเด็กไทยเป็นอย่างมาก
จากการรวบรวมงานการศึกษาวิจัยต่าง ๆ พบว่า พ่อที่ช่วยแม่เลี้ยงลูกในช่วงวัยทารก จะทำให้เกิดต้นทุนชีวิตกับเด็กหลายด้าน นั่นคือ การเรียนรู้จากความวิเศษของพ่อที่มีการสัมผัสลูกที่หยาบกระด้างกว่าแม่
แต่ท่าทีที่มั่นคง แข็งแรง น้ำเสียงที่ใหญ่ จังหวะที่ไม่สม่ำเสมอทำให้ลูกเกิดความตื่นเต้น เร้าใจ และเข้าใจในการเรียนรู้ สร้างให้เกิดความรักความผูกพัน ความไว้วางใจ และมองโลกในแง่ดี รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และปรับตัวเข้ากับสังคมได้ง่าย
นพ.สุริยเดว กล่าวว่า การเลี้ยงดูของพ่อในช่วงปฐมวัย ที่ชอบให้เล่นของแปลกใหม่ ท้า ทาย เล่นหกคะเมน สร้างสิ่งกีดขวางแบบง่ายๆ ให้ลูกหัดแก้ปัญหา จะทำให้เด็กเกิดความพยายามในการค้นพบและท้าทายสิ่งแปลกใหม่
เด็กเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ความเป็นนักวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สูง เพราะเกิดทักษะในการวางแผน การแก้ปัญหา และเกิดทักษะในการควบคุมอารมณ์
สำหรับช่วงวัยเรียน พ่อมักจะสร้างแนวคิดคร่าวๆ และปล่อยให้ลูกเป็นคนแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง รวมทั้งการเห็นบุคลิกที่ดีของพ่อ เช่น พ่อมักเป็นผู้รับฟังที่ดีของลูก ทำให้เด็กรู้จักการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และจะรู้จักใช้ความเพียรพยายามสู่ความสำเร็จมากกว่าการพึ่งโชคลาง
ในช่วงวัยรุ่น บุคลิกของพ่อบวกกับสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ทำให้เกิดแรงศรัทธาในตัวพ่อว่าเป็นฮีโร่ และจะเกิดแรงบันดาลใจสู่เด็กที่จะพยายามทำตัวให้ดีกว่า
ส่วนวัยรุ่นหญิง มักจะเก็บบุคลิกของพ่อไว้ในความทรงจำ ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกคู่ครองหรือการคบเพื่อนต่างเพศ ลดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และยังทำให้วัยรุ่นจะเกิดพัฒนาการที่เหมาะสมกับเพศและวัย โอกาสเสี่ยงของการเกิดเพศที่สามก็จะลดลง
“หากพ่อลดบทบาทในการเลี้ยงดูลูกลง ทำให้พบปรากฏการณ์ในสังคมที่เกิดขึ้น คือ 1. เกิดเพศที่สามสูงขึ้น เพราะขาดความเข้าใจและขาดแบบอย่าง 2. เด็กมีแนวโน้มใช้ความรุนแรง ในการแก้ไขปัญหา เพราะขาดทักษะการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี และ 3. ขาดทักษะในการดำเนิน ชีวิตในสังคมประกอบกับขาดความรักที่สมบูรณ์แบบทำให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น คือฟันแล้วทิ้ง และมีเซ็กส์ที่ไม่ปลอดภัย” นพ.สุริยเดว กล่าว
ด้าน พญ.ชนิกา ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส. กล่าวว่า ทักษะการเลี้ยงลูกของพ่อที่กำลังหายไปส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง จึงอยากเสนอบัญญัติ 10 ประการกับบทบาทพ่อในการช่วยเลี้ยงลูก คือ
1. การให้ความรักและความอบอุ่น ความปลอดภัยในบ้าน
2. เป็นแบบอย่างที่ดี
3. ให้เวลากับครอบครัว
4. ให้คำแนะนำ ทักษะด้านต่าง ๆ แก่สมาชิก
5. สร้างกิจกรรมยามว่างที่สนุกกับสมาชิกในบ้าน
6. เปิดโอกาสและเป็นผู้รับฟังที่ดี
7. การสร้างโอกาสการเรียนรู้นอกหลักสูตร
8. การช่วยงานบ้านด้วยกัน
9. เคารพกติกาและการตัดสินใจของสมาชิก
10. สร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดวินัยในบ้าน
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update 03-12-51