เปิด 4 งานวิจัย สร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมให้เด็กและเยาวชน
ข้อมูลจาก: งานเสวนา “เปิดเส้นทางใหม่ นโยบายเด็กและครอบครัวไทยแห่งอนาคต
ภาพโดย: Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
จากอัตราการเกิดของประชากรไทยที่ลดลงต่อเนื่อง ภาวะสังคม ความต่างของช่องว่างระหว่างวัย หรือ Generation Gap ภาวะเศรษฐกิจ บีบคั้น บ่มเพาะให้เยาวชนไทย ในยุคนี้ ต้องเผชิญกับปัญหารอบด้าน ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้หยิบ 4 งานวิจัยมาต่อยอด เพื่อสานต่อเป็นนโยบาย สำหรับเด็กและเยาวชนในอนาคต
โดยจัดงานเสวนา “เปิดเส้นทางใหม่ นโยบายเด็กและครอบครัวไทยแห่งอนาคต” เผยแพร่ 4 งานวิจัย ได้แก่ 1.ระบบสวัสดิการเด็กเล็กเพื่ออนาคต 2.สังเคราะห์ชุดนโยบายสุขภาพจิตของประชากรไทย ภายใต้บริบทหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3.คิดใหม่การเมือง เรื่อง “รุ่น” ความขัดแย้งในครอบครัวไทย และ 4.จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม พร้อมหารือเส้นทางใหม่ของนโยบายเด็กและครอบครัวไทย
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า จากการแผนสุขภาวะเด็กของ สสส . มุ่งให้เยาวชนได้รับการดูแล ที่เหมาะสม ตามแต่ละช่วงวัยอย่างมีคุณภาพ ด้วยทรัพยากรที่พรั่งพร้อม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรความรู้ที่ถ่ายทอดให้กับ ครอบครัว ชุมชน หรือ ผลักดันให้เกิดนโยบายรัฐ และสวัสดิการ ที่มาดูแลเด็กเล็ก ดังนั้น สสส. จึงจะนำงานวิจัยทั้งหมดนี้ไปหารือกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อยอดงานวิจัย ให้นำไปใช้ได้จริง
“การดูแลเด็กทุกช่วงวัย ต้องอาศัยการส่งเสริมสนับสนุน จากทั้งครอบครัว ชุมชน ดังนั้นเตรียมนำงานวิจัย ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณาว่า สามารถผลักดันเป็นนโยบาย หรือ เป็นเครื่องมือใช้เป็นทางแนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคต” นางสาวณัฐยา กล่าว
ซึ่งในงานวิจัย “ระบบสวัสดิการเด็กเล็กเพื่ออนาคต” ผศ.ดร.ภาวิน ศิริประภา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยในไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป โดยปี 2567 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศแนวทางการดูแลพัฒนาการเด็กปฐมวัย ภายใต้แนวความคิด Nurturing Care Framework ให้ต้องครอบคลุมถึงเรื่องสุขภาพ โภชนาการ สวัสดิการ การได้รับความเอาใจใส่ และโอกาสเข้าถึงเรียนรู้ ซึ่งไม่เพียงให้ความสำคัญเฉพาะกับตัวเด็ก แต่รวมไปถึงความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ดูแลด้วย
ผู้วิจัยมีข้อเสนอระบบสวัสดิการเด็กเล็ก 1.ให้รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันกำกับดูแลสถานดูแลเด็กปฐมวัยให้มีมาตรฐาน เพิ่มกำลังคนให้สามารถดูแลเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีเงื่อนไขแตกต่างกันได้ครอบคลุม 2. ให้มีสถานรองรับเด็กของภาครัฐที่เพียงพอ เช่น บ้านพักเด็ก สถานสงเคราะห์เด็กในและนอกเวลาราชการ การดูแลในชุมชน รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์แก่ครอบครัวที่ดูแลเด็กด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้ เพื่อช่วยให้เด็กไทยเติบโตขึ้นได้อย่างเต็มศักยภาพเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต
“จากข้อมูลในปี 2564 พบว่า เด็ก 0-4 ปี อาศัยอยู่กับครอบครัวยากจน ที่มีรายได้ครัวเรือน 100,000 บาท ต่อปี และพบมีอัตราการฝากครรภ์น้อย ขาดสารอาหารโภชนาการต่ำ ส่งผลให้เด็กเกิดมาเตี้ยแคระ และส่วนใหญ่เด็กที่มักไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มักถูกส่งไปอยู่กับญาติ ปู่ย่าตายาย ส่งผลให้กลายเป็นครอบครัวแหว่งกลาง ส่วนด้านพัฒนาการเด็กกลุ่มนี้มักมีการอ่าน เขียนที่ล่าช้ากว่าเด็กกลุ่มอื่น เพราะขาดการดูแลเอาใจใส่ แต่หากมีการขยายศูนย์เล็ก ให้อายุต่ำลง 0-2 ปี โอกาสที่เด็กจะได้อยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่ หรือ มีคนคอยเอาใจใส่ดูแลทั้งโภชนาการ และความปลอดภัยก็มีมากขึ้น” ผศ.ดร.ภาวิน กล่าว
ส่วนใน งานวิจัย “สังเคราะห์ชุดนโยบายสุขภาพจิตของประชากรไทย ภายใต้บริบทหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การพัฒนาหลักประกันสุขภาพจิตถ้วนหน้าในบริบทประเทศไทยที่ทุกคนเข้าถึงได้ จำเป็นต้องใช้กระบวนการคิดเชิงระบบ เพื่อระบุจุดคานดีคานงัดในระบบที่มีศักยภาพ ส่งเสริมการออกแบบนโยบายที่มุ่งแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของคนในสังคมอย่างยั่งยืน
คณะผู้วิจัย มีข้อเสนอต่อการปรับปรุงเรื่องบริการสุขภาพจิต ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนห น้า 4 ด้าน 1.เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ในการจ่ายเงินชดเชยช่องทางใหม่ๆ เช่น โทรเวช (telemedicine) เพื่อให้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกลุ่มใหม่เข้าถึงได้เพิ่มขึ้น 2.ขยายการบริการสุขภาพจิต ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใช่ทีมสุขภาพจิตเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของผู้ป่วยโรคทางกาย รวมถึงผู้ป่วยระยะยาว 3.ออกแบบระบบ “ผู้สั่งการรักษาทางสังคม” ทำหน้าที่เชื่อมต่อคำวินิจฉัยและการดูแลรักษาของทีมสุขภาพจิตเพื่อส่งกลับไปที่ครอบครัว องค์กร ชุมชน หรือสังคมที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตอยู่ เพื่อแก้ปัญหาถึงรากฐาน 4.ทำงานเชิงนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปรับแก้ปัจจัยด้านสังคมให้เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตเชิงบวก ลดจำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตรายใหม่และแก้ไขปัญหาทั้งระบบได้อย่างยั่งยืน
“ความเปราะบางทางจิตใจ พบว่า วัยรุ่น 15-19 ปี มีอัตราฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นต้องเข้าไปดูแล โดยโรงเรียนอาจเข้าไปมีบทบาท สังเกต และเข้าไปพูดคุยกับเด็กก่อน” รศ.ดร.นพ.บวรศม กล่าว
ส่วนงานวิจัย “คิดใหม่การเมือง เรื่อง “รุ่น” ความขัดแย้งในครอบครัวไทย” รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาความสัมพันธ์ของความแตกต่างระหว่างรุ่นและความขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คนทั่วประเทศ พบว่าความขัดแย้งทางการเมือง เกิดจากแนวคิดและรูปแบบการทำกิจกรรมทางการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” ที่กระตุ้นจิตสำนึกของ “คนรุ่นใหญ่” กลายมาเป็นข้อขัดแย้งและเผชิญหน้ากันในพื้นที่ครอบครัว ความขัดแย้งระหว่างรุ่นมักถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยแวดล้อมอื่น เช่น โครงสร้างอำนาจที่กดทับ สร้างความไม่พอใจให้คนรุ่นใหม่ และวัฒนธรรมเลี่ยงการเผชิญหน้าที่ไม่เอื้อให้เกิดบทสนทนาเพื่อเรียนรู้ เข้าใจ และปรับตัวอยู่ร่วมกัน
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยเสนอเครื่องมือ “จินตนาการพลเมือง” (Civic Imagination) โปรแกรมเวิร์กชอปสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการจินตนาการผ่านวัฒนธรรมร่วมสมัย (Pop Culture) ช่วยให้เข้าใจคุณค่าที่คนต่างรุ่นยึดถือ ช่วยให้คนในครอบครัวที่มีความสนใจต่างกันสามารถสนทนากันอย่างสนิทสนมได้ยิ่งขึ้น
งานวิจัยเรื่อง “จินตนาการใหม่ของเยาวชนไทยสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม พร้อมหารือเส้นทางใหม่ของนโยบายเด็กและครอบครัวไทย” รศ.ดร.ฐิติกาญจน์ อัศตรกุล คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยใช้เครื่องมือ Civic Imagination มุ่งออกแบบและพัฒนากระบวนการนำจินตนาการของเยาวชนมาสู่การพัฒนานวัตกรรมทางสังคม ด้วยการเสริมเครื่องมือการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ การคิดเชิงออกแบบ และกระบวนการสร้างนวัตกรรมทางสังคม ให้กับเยาวชนอายุ 15-18 ปี รวม 6 ทีม โดยมีพี่เลี้ยงและผู้เชี่ยวชาญร่วมบ่มเพาะอย่างใกล้ชิด พบว่า เยาวชนมีความยึดมั่นในคุณค่าพลเมืองเพิ่มขึ้น เกิดความตระหนักต่อหน้าที่พลเมือง และการมีความรู้ด้านพลเมือง กระบวนการที่ถูกพัฒนาขึ้น จึงสามารถนำไปบูรณาการให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรของสถานศึกษา เช่น กลุ่มวิชาสังคมศึกษา (หน้าที่พลเมือง) เพื่อเป็นทางเลือกในการส่งเสริมความเป็นพลเมือง โดยอาศัยการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนแสดงความคิดแบบไม่ปิดกั้นจินตนาการ
ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงงานวิจัย ว่า การนำงานวิจัยต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นระบบนโยบายนั้น ต้องคำนึงทั้งการจัดงานหางบประมาณ หน่วยงานที่ดำเนินการ จากประสบการณ์การตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่แบบจำเพาะเจาะจงเพื่อมาทำภารกิจนั้นไม่ได้ช่วยให้งานเร็วขึ้น หรือ ราบรื่นขึ้น เพราะต้องใช้กำลังคน และหางบประมาณเพิ่ม ขณะเดียวกันเป้าหมายเรื่องสุขภาพ คนมักมองเรื่องงบประมาณสนับสนุนจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่คำตอบทุกอย่าง และ สปสช. ก็มีภารกิจปฏิบัติตามกรอบและนโยบายที่วางไว้ ดังนั้น อยากให้ มององค์รวมของการแก้ไขปัญหา แบบ เชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกัน
ทุกอย่างไม่ง่ายและต้องใช้เวลา การหวังและรอคอยแต่ สวัสดิการของรัฐเข้ามาแก้ไข คงไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้น การพึ่งพาตนเอง ทั้งสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับตนเอง คนในครอบครัว และคนรอบข้าง ก็นับว่าเป็นหนึ่งในการแบ่งเบาภาระด้านสุขภาพ