ยุทธศาสตร์เมืองเดินได้ เดินดี สร้างเศรษฐกิจชุมชน – สิ่งแวดล้อม – สุขภาวะ 4 มิติ

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : งาน GOODWALK FORUM THAILAND 2024 เมื่อเมืองรองออกเดิน: ยุทธศาสตร์เมืองเดินได้ – เมืองเดินดี กับการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจเมืองรอง

ภาพโดย พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                     “…คำว่าเมือง ไม่ได้แปลว่าจังหวัด แต่นิยามของคำว่าเมือง คือเป็นพื้นที่กระจุกตัวของคน สังคม เงินทุน และเศรษฐกิจ มีแหล่งนวัตกรรมที่สามารถดึงดูดทรัพยากรแรงงาน มีโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานและการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ…”

                     เป็นคำกล่าวของ รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Uddc-CUES)  ในโอกาสที่ ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังจัดกิจกรรม “GOODWALK FORUM THAILAND 2024  เมืองรองออกเดิน : ยุทธศาสตร์เมืองเดินได้ – เมืองเดินดี กับการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจเมืองรอง” เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2567 ณ โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร

                     ธนาคารโลก ยังระบุเพิ่มเติมว่า “เมืองรอง”  คือ กุญแจสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ให้มีศักยภาพในการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) นำไปสู่การสร้างบทบาทในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศบนเวทีโลกในระยะยาวได้อีกด้วย

                     “เมืองรอง ถือเป็นศูนย์กลางที่ช่วยกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น หากเมืองรองได้รับการยกระดับศักยภาพสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่ ปลอดภัย และเติบโตอย่างยั่งยืนได้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจเมือง ให้มีความกระจุกตัวในเมืองใหญ่น้อยลง

                     อีกทั้งสามารถกระจายความเจริญได้ทั่วถึงมากขึ้น ปัจจัยยกระดับเมืองที่สำคัญ มาจากการใช้อัตลักษณ์ และต้นทุนทางศักยภาพพื้นฐานของเมือง นำสู่การพัฒนาเป็นเมืองที่น่าอยู่ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และนำสู่การสร้างเสริมสุขภาวะในที่สุด” รศ.ดร.นิรมล กล่าว

                     ดังนั้น การยกระดับเมืองรองให้น่าอยู่ จึงมีความท้าทายที่สำคัญหลายปัจจัย เช่น สภาพแวดล้อม ความสะดวกในการสัญจร ความปลอดภัย สภาพอากาศ ขึ้นอยู่กับปัญหาเฉพาะของแต่ละพื้นที่ในแต่ละเมืองจะต้องมีแผนพัฒนาเมือง เพื่อสร้างเมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย รื่นรมย์ ภายใต้แนวคิด เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” ที่ให้คนสามารถเดินถึงสถานที่ต่าง ๆ ในเมือง เช่น แหล่งท่องเที่ยว ที่ทำงานสถานศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวกได้โดยง่ายดาย ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองให้คึกคัก ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมถึงการส่งเสริมสุขภาวะเมืองให้ดีขึ้นได้

                     “โดยมีผลตอบรับประชาชนยอมรับแนวคิดเมืองเดินได้เมืองเดินดี มีเทศบาล หน่วยงานหลายแห่งต้องการขับเคลื่อนเมืองด้วยแนวคิดนี้ ทั้งยังเป็นแนวคิดที่ช่วยสร้างระบบนิเวศการทำงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย” รศ.ดร.นิรมล กล่าวย้ำ”

                     ขานรับการสร้างสุขภาวะ 4 มิติ ภายใต้แนวคิดเมืองเดินได้ เมืองเดินดี โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สสส.สานพลัง UDDC ในการพัฒนา ออกแบบเมืองตามแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ มีการพัฒนาดัชนีเมืองเดินได้ เมืองเดินดี สู่การขยายผล และวิเคราะห์ศักยภาพในการเดินทั้งในกรุงเทพ และเมืองภูมิภาค พร้อมเชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้าง และแนวคิดการเดิน สู่การออกแบบเมืองให้เป็นย่านสุขภาวะที่สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างสุขภาวะดี 4 มิติได้”

                     สสส. มีเป้าหมายให้คนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยมีวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี โดยเล็งเห็นว่าการสร้างพื้นที่สุขภาวะ คือหนึ่งในปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่สำคัญต่อสุขภาพ การสร้างสุขภาวะที่ดี ต้องอาศัยทั้งการยกระดับองค์ความรู้การศึกษาเรียนรู้ ไปจนถึงการลงมือทำและถอดบทเรียนรวมถึงการปรับพฤติกรรมสุขภาพจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาพดีอีกด้วย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวย้ำ

                     ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวเสริมอีกว่า “ภายใต้แนวคิดเมืองเดินได้ เมืองเดินดี สสส. มีเป้าหมายสำคัญในการกระตุ้นให้คนออกมาเดิน โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้คนอยากเดิน และสามารถเดินได้โดยสะดวกในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่งผลดีทั้งในมิติของเศรษฐกิจที่ชี้ให้เห็นว่า มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลจากการใช้พลังงานน้อยลง และด้านสุขภาพที่เกิดจากการเดิน ซึ่งนับเป็นกิจกรรมทางกายอย่างหนึ่งที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย”

มองกลับเข้าไปภายในกิจกรรมของงาน มีการร่วมถอดบทเรียนสร้างเมืองเดินได้ เมืองเดินดี โดย นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ว่า “ต้องทำเมืองร้อยเอ็ดให้น่าเดิน หัวใจสำคัญคือความปลอดภัย จัดย่านการเดินทางให้สัญจรสะดวกมากขึ้นและไม่ต้องใช้รถ ช่วยลดมลพิษสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวคิดการเดินจะทำให้มีโอกาสผ่านร้านค้ามากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย”

ด้าน ดร.กณพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า “สำหรับเมืองนครศรีธรรมราช มีการสร้างเมืองสุขภาวะดีด้วยการกระตุ้นให้คนมีกิจกรรมทางกาย ทั้งกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อรับไข่ไก่ที่มีผู้เข้าร่วมมากถึงวันละ 2,000 คน และกิจกรรม City Run วิ่งยามเช้าที่มีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 15,000 คน รวมถึงการจัดการรถเก็บขยะให้มีความตรงเวลาและการร้องทุกข์พร้อมแก้ไขปัญหาผ่านแอปเทศบาลคอนอีกด้วย”

นายประภัสร์ ภู่เจริญ เทศบาลเมืองลำพูน กล่าวว่า “เมืองลำพูนเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก โดยขอความร่วมมือไม่ให้รถพ่วง หรือรถสิบล้อผ่านเข้าตัวเมือง ยกเว้นกลุ่มผู้ประกอบการภายในเมือง พร้อมสร้างความเป็นเมืองเดินได้ เมืองเดินดี ผ่านเส้นทางเดิน 5 สายภายในเมืองเก่า คือ เส้นทางวัฒนธรรม, เส้นทางเศรษฐกิจ, เส้นทางการเรียนรู้, เส้นทางสีเขียว และเส้นทางริมน้ำริมคู”

            สสส.มั่นใจว่า เมื่อเมืองรองออกเดิน: ยุทธศาสตร์เมืองเดินได้ – เมืองเดินดี กับการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจเมืองรอง” จะส่งเสริมให้ทุกคนเริ่มออกก้าวเดิน นอกจากสร้างพฤติกรรมสุขภาพแล้ว ยังส่งผลให้มีการกระจายรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจในชุมชน  สิ่งแวดล้อม และ สุขภาวะดี 4 มิติ

Shares:
QR Code :
QR Code