เปิดใจ ให้โอกาส สู่สังคมเป็นธรรม

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เรื่องโดย อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


เปิดใจ ให้โอกาส สู่สังคมเป็นธรรม thaihealth


การยอมรับในความหลากหลายคือหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ทว่าที่ผ่านมาในทางปฏิบัติกลับยังพบปัญหามายาคติในสังคมส่วนใหญ่ที่มักมองว่า ความพิการคือ "ข้อจำกัด" ที่ทำให้บุคคลเหล่านั้น "แตกต่าง" จากบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ ผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยก็มองความพิการว่า เป็นปัญหาส่วนบุคคลมากกว่าจะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคม


"เรามีลูกพิการซ้ำซ้อน เรารู้สึกว่าลูกเรา ไม่มีที่ยืนในสังคม เราก็เลยเห็นอกเห็นใจเพื่อนๆ ที่มีลูกพิการเหมือนเรา เมื่อเราก้าวข้ามความพิการของลูกได้ เราสามารถหาที่ยืนให้ลูกเราได้แล้ว เราก็อยากจะหันกลับมาช่วยเพื่อนของเรา" แสงเพลิน จารุสาร เลขานุการชมรมผู้ปกครองเด็กพิการภายใต้มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ แรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพเด็กพิการไว้ในเวทีเสวนาช่วง "พลังคนพิการบันดาลใจ" ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการของงานประกาศความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม "สานพลังสู่มิติใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ 10,000 อัตรา" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ และภาคีเครือข่าย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้


แม้ปัจจุบัน แสงเพลิน กับกลุ่ม ผู้ปกครองที่มีลูกพิการซ้ำซ้อนมากกว่า  300 ครอบครัวทั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด จะทำงานร่วมกับแพทย์และ นักวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง จนสามารถพัฒนา ระบบให้บริการทดแทนช่วยคราว หรือ Respite Care และก่อตั้งเป็น ศูนย์เตรียมความพร้อมทักษะการดำรงชีวิต(หนองแขม) ซึ่งเป็นลักษณะของศูนย์ เรียนรู้ฟื้นฟูเด็กพิการโดยครอบครัวแห่งแรกในประเทศไทยได้สำเร็จ โดยมีเป้าหมายให้เด็กพิการซ้ำซ้อนมีโอกาสอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยก ภายใต้การสนับสนุนในลักษณะ "โครงการจ้างเปิดใจ ให้โอกาส สู่สังคมเป็นธรรม thaihealthเหมาบริการผู้ดูแลคนพิการทดแทนชั่วคราว" ของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BTS แต่ก็ต้องยอมรับว่าจำนวนผู้ปกครองที่มีลูกพิการซ้ำซ้อน 300 ครอบครัว ยังน้อยเกินไปสำหรับข้อมูลที่ว่ายังมีครอบครัวอีกนับแสนที่ต้องดูแลเด็กพิการรุนแรง


"เด็กพิการรุนแรงมีจำนวนนับแสนครอบครัว แต่คนที่เข้าถึงเรามีแค่ประมาณ 300 ครอบครัว เราก็คิดว่าอยากให้มีการขยายจุดในการให้บริการมากขึ้น อยากบอกหน่วยงานหรือองค์กรภาคประชาสังคม หรือทุกภาคส่วนช่วยให้โอกาส ช่วยเอื้อเฟื้อสนับสนุนให้ครอบครัวเด็กพิการในชุมชนได้เข้าถึงสิทธิที่เขาพึงมีพึงได้อย่างที่เราได้รับ" เลขานุการชมรมผู้ปกครองเด็กพิการ ฝากความหวังไว้ในเวทีเสวนา


ไม่ต่างกันกับ วรรณพร ถนอมธรรม เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ซึ่งเป็นผู้ปกครองของ "เด็กพิเศษ" เช่นกัน


"น้องเป็น LD (Learning Disabilities) ค่ะ พอเราก้าวผ่านความทุกข์ออกมาได้ เราก็อยากจะช่วยคนอื่น เราเห็นลูกเรา ก็ยังช่วยเหลือตัวเองได้ มีเด็กพิเศษอีกหลายๆ คนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ก็เลยเอาตัวเองเข้าไปเป็นจิตอาสา"


วรรณพร เล่าถึงสมัยที่เริ่มทำงานอาสาว่า ไม่ได้คิดว่าจะไปช่วยอะไรใครได้ขนาดไหน ที่ทำไปในแต่ละวัน เพียงอยากให้น้องๆ ดีขึ้น มีรอยยิ้ม และมีความสุข กระทั่งสถาบันฯ มองเห็นความสำคัญ  และเปิดเทรนนิ่งเซ็นเตอร์เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอาชีพในลักษณะเหมือนโรงแรม มีห้องพัก 16 ห้อง มีห้องอาหาร มีร้านกาแฟที่ให้เด็กๆ ได้มาฝึกงาน จนทางกลุ่มบริษัทพรีเมียร์กับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม  ให้โอกาสจ้างงานมาก่อนปีแรก 2 ตำแหน่ง


"เราก็ฝึกเขาไปเรื่อยๆ สิ่งที่มันได้กลับมามันมากกว่าเงินเดือน มันเป็นการให้โอกาสกับเด็ก ให้โอกาสกับทางครอบครัว เพราะว่าน้องๆ พอโตแล้วก็ต้องมีอาชีพ  วันหนึ่งพ่อแม่ก็ต้องจากไป เพราะฉะนั้นแล้วถ้ามีอาชีพที่ยั่งยืนน้องก็สามารถดูแลตัวเองได้ แล้วก็ช่วยเหลือไปถึงครอบครัว สังคมก็เห็นในสิ่งที่เด็กพิเศษสามารถทำได้ ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง ทุกคนมีความสามารถในตัวเอง ถ้าเราให้โอกาสเขาเท่านั้นเอง เขาทำได้" วรรณพร ย้ำถึงศักยภาพของเด็กพิเศษที่สามารถพัฒนา ได้ผ่านการเรียนรู้และฝึกฝน


พร้อมกับการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพแล้ว การสร้างโอกาสเพื่อให้ ผู้พิการมีอาชีพก็ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้าง "ที่ยืน" ให้ผู้พิการสามารถอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมเปิดใจ ให้โอกาส สู่สังคมเป็นธรรม thaihealth


"เพราะเราจะฟื้นฟู 'ชีวิต' เขา ไม่ใช่แค่ร่างกาย เราจึงเริ่มมาทำเรื่องของอาชีพ แล้วก็พบว่า มันเริ่มเปลี่ยนมุมมองของคน ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าเขา(ผู้พิการ) ไม่เป็นภาระ อย่างตัวอย่างของพี่สังข์ทอง (สาระสินธุ์) เป็นตัวอย่างที่ดี พี่สังข์ทองเป็นช่างอิเล็กทรอนิกส์ มาเป็นผู้ช่วยช่างอยู่ที่ โรงพยาบาล พอเป็นผู้ช่วยช่างปรากฏว่า อุปกรณ์หลายชิ้น อย่างรีโมทชิ้นเล็กๆ ไปให้ช่างที่โรงพยาบาล ช่างบอกว่าซ่อมไม่ได้หรอกคุณหมอซื้อใหม่เถอะ ปรากฏ พี่สังข์ทองซ่อมได้ ตั้งแต่นั้นมาของเสียอะไรให้พี่สังข์ทองดูก่อนว่า พี่สังข์ทองซ่อมได้ไหม ถ้าพี่สังข์ทองส่ายหน้าบอกซ่อมไม่ได้แสดงว่าถึงจะทิ้ง" นายแพทย์สิริชัย นามทรรศนีย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จ พระยุพราชกุฉินารายณ์ ร่วมแชร์มุมมอง พร้อมตัวอย่างกรณีของ สังข์ทอง สาระสินธุ์ผู้ช่วยช่างอิเล็กทรอนิกส์ประจำโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ ผู้พิสูจน์ให้เห็นว่า "รถเข็น" ไม่ใช่ข้อจำกัดในการแสดงศักยภาพที่ซ่อนอยู่


สำหรับผู้พิการทางด้านการได้ยิน  ใครหลายคนอาจคิดว่าน่าจะเป็นข้อจำกัด ในการเข้าถึงอาชีพน้อยที่สุด แต่จากข้อมูลของ อนุชา รัตนสินธุ์ นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กลับพบว่า ปัจจัยด้านการสื่อสารกลับมีผลอย่างสำคัญในการเข้าถึงโอกาสอาชีพของคนหูหนวก


"ในเรื่องอาชีพของคนหูหนวก ยอมรับว่ายังเป็นอุปสรรคค่อนข้างเยอะ ตอนนี้ทราบว่ามีมาตรา 33 และ 35 (พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ พ.ศ. 2550) ตรงนี้ขึ้นมาแล้วก็เปิดโอกาสให้คนพิการเข้าทำงานตามหน่วยงาน หรือไม่คือสามารถที่จะรวมกลุ่มกันแล้วทำงานได้ แต่คนหูหนวกส่วนใหญ่ในเรื่องการศึกษาเขายังน้อย ส่วนใหญ่เขาจะจบประมาณ ม.3 ม.6 ค่อนข้างเยอะ เขาจะไปทำงานในสถานที่ที่จะรับตำแหน่งตรงนี้ได้หรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่บริษัทจะมองเรื่องคุณวุฒิ ส่วนใหญ่ที่ทำงานในสถานประกอบการยอมรับว่ายังน้อยอยู่ เนื่องจากปัญหาเรื่องการสื่อสาร เลยทำให้ทุกคนไม่อยากรับคนหูหนวกเพราะไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไร" นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งเปิดใจ ให้โอกาส สู่สังคมเป็นธรรม thaihealthประเทศไทย ใช้ภาษามืออธิบายผ่านล่าม กนิษฐา  รัตนสินธุ์


 ขณะที่ กรรณิการ์ สรวยสุวรรณ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิพิทักษ์ดวงตาลำปาง  ผู้มุ่งมั่นในการทำงานเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนมาตลอด 30 ปี  ร่วมเสริมว่า "คนเราจะอยู่ได้แบบมีความสุขและมีศักดิ์ศรี ก็ต่อเมื่อเราพึ่งคนอื่นน้อยที่สุด การมีงานทำแล้วมีอาชีพ แล้วมีรายได้ใส่กระเป๋าตัวเอง อันนี้จะทำให้เรามีศักดิ์ศรีขึ้นมาในทันที"


เพราะความสำคัญของการจ้างงานและสร้างอาชีพสำหรับผู้พิการ ไม่ได้มี นัยยะเพียงเรื่อง "ปากท้อง" เพราะ "อาชีพ" ยังสะท้อนถึง "ศักดิ์ศรี"  ของคนพิการอีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code