เปิดโปง “ความรับผิดชอบต่อสังคมเทียม” ของบริษัทบุหรี่
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยงานวิจัยของแกรี ฟุด และคณะจากมหาวิทยาลัยบาทธ์ ประเทศอังฤกษ ตีพิมพ์ในนิตยสาร พลอส เมดิซีน ฉบับเดือนสิงหาคมนี้ ที่พบว่า บริษัทบุหรี่อาศัยการทำกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม เป็นเครื่องมือเข้าถึงผู้กำหนดนโยบาย
โดยงานวิจัยดังกล่าวศึกษาเอกสารลับภายใน 764 ชิ้น ระหว่าง ค.ศ.1996 ถึง ค.ศ.2000 ของบริษัทบุหรี่บีเอที ซึ่งเป็นบริษัทบุหรี่ข้ามชาติใหญ่ลำดับสองของโลก ที่กำหนดยุทธศาสตร์ในการใช้โครงการกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคมหรือ csr เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์และเข้าถึงผู้กำหนดนโยบายควบคุมยาสูบในระดับต่างๆ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข นายอลัน มิลเบิร์น กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า นายสตีเฟน ไบเออร์
จากโครงการรับผิดชอบต่อสังคมมีประเด็นที่หลากหลาย อาทิ การป้องกันเด็กไม่ให้ริเริ่มการสูบบุหรี่ การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม การผลิตบุหรี่ที่ปลอดภัยขึ้น รวมถึงการตลาดอย่างรับผิดชอบของบริษัทบุหรี่ เอกสารภายในระบุถึง เป้าหมายในการใช้โครงการรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อให้ผู้บริหารบริษัทมีโอกาสพูดจาปราศรัยและเสนอแง่มุมของบริษัทในการแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ โดยการโน้มน้าวให้ผู้กำหนดนโยบายของรัฐเปลี่ยนความคิดและแนวนโยบายในการควบคุมยาสูบที่ผ่อนปรนมากขึ้น
เมื่อโครงการรับผิดชอบต่อสังคมได้นำให้ผู้บริหารบริษัทบุหรี่เข้าพบผู้กำหนดนโยบายภาครัฐแล้ว ผู้บริหารบริษัทจะขยายผลการสนทนาไปถึงประเด็นอื่นๆ อาทิ เรื่องภาษีบุหรี่และการผ่อนปรนการห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขาย
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า ในประเทศไทยบริษัทบุหรี่ก็มีการทำโครงการกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นจำนวนมาก โดยการวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท พบว่า พ.ศ.2551 บริษัทบุหรี่ในประเทศไทย ได้ทำกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม โดย ฟิลิป มอร์ริส 340 โครงการ และโรงงานยาสูบไทย 90 โครงการ และบริษัทบีเอทีได้บริจาคเงินให้แก่ผู้ว่ากรุงเทพฯ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นเงินสามแสนบาท เมื่อ พ.ศ.2544 เพื่อทำโครงการคลองแสนแสบให้สะอาด
ด้วยหลักฐานที่พบว่า วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบริษัทบุหรี่ในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคม ก็เพื่อให้บริษัทสามารถเข้าถึงผู้กำหนดนโยบายของรัฐในระดับต่างๆ อนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ข้อ 5.3 จึงกำหนดให้ห้ามเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ร่วมกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทบุหรี่ และข้อ 13 ให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ออกกฎหมายห้ามการทำกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม เพราะเป็นโฆษณารูปแบบหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่รัฐและคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงผลเสียที่เกิดจากการเข้าร่วมกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทบุหรี่ จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องรีบเร่งทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย เพื่อปกป้องนโยบายภาครัฐจากการแทรกแซงจากกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทร. 0-2278-1828/ 08-1822-9799
ที่มา: มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่