เปิดสถิติตรวจจับยาลดอ้วนไร้มาตรฐานปี 52
ชี้แฟชั่นเกาหลี ส่งผลค่านิยมลดอ้วนในเด็กไทย
อย. เผยสถิติตรวจจับ “ยาลดอ้วนไร้มาตรฐานปี 52 ยอดพุ่งเท่าตัว” เผยอาหารเสริมลดน้ำหนัก และกาแฟลดอ้วนติดชาร์ตท็อปฮิต เผยแฟชั่นเกาหลี ส่งผลค่านิยมลดอ้วนในเด็กไทย จับมือ สสส.เตรียมยกระดับมาตรฐานคลินิกลดความอ้วนของประเทศไทย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดแถลงข่าว “อย.เผยสถิติตรวจจับ “ยาลดอ้วนไร้มาตรฐานปี 52 ยอดพุ่งเท่าตัว” โดยอาหารเสริมลดน้ำหนัก และกาแฟลดอ้วน” ติดชาร์ตท็อปฮิต เพื่อร่วมกันประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการการลดความอ้วนสำหรับประชาชนและแนวทางการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานคลินิกลดน้ำหนัก พร้อมกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรคอ้วน และการเข้าใจผิดถึงวิธีการลดความอ้วนด้วยยาที่สามารถก่อให้เกิดผลที่อันตรายตามมา
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในปัจจุบันประชาชนให้ความสำคัญกับการควบคุมน้ำหนักเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคเรื้อรังต่าง ๆ ทำให้มีการโฆษณาเพื่อขายผลิตภัณฑ์หรืออาหารเสริมเพื่อลดน้ำหนักอย่างมาก แม้ทาง อย.จะควบคุมตัวยาหลักที่ใช้ทางการแพทย์ ได้แก่ กลุ่มยาประเภทวัตถุออกฤทธิ์ทางประสาทประเภท 2 ให้มีการบริโภคอยู่ในระบบภายใต้การสั่งจ่ายโดยแพทย์และมีการใช้อย่างสมเหตุสมผล ส่งผลให้ปริมาณการใช้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนกว่า 40 ล้านเม็ด (มูลค่ากว่า 120 ล้านบาท) ในปี 2545 เหลือเพียง 9.9 ล้านเม็ดในปี 2552 (มูลค่า 26.3 ล้านบาท) ก็ตาม แต่กลายเป็นว่า อุตสาหกรรมอาหารเสริมที่อาศัยกระแสของการลดความอ้วน อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และไม่ได้ขอรับอนุญาตการโฆษณาจากทาง อย.กลับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการจำหน่ายอาหารเสริมผ่านทางระบบขายตรง ทางไปรษณีย์และทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลคดีที่เกี่ยวข้องการโฆษณาอาหารเสริมเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว จากเดิม 160 คดีในปี 2551 เป็น 237 คดีในปี 2552 โดยอาหารเสริมลดอ้วนยอดฮิตที่โฆษณาเกินจริงนั้น มักจะอยู่ในรูปแบบของอาหารเสริม กาแฟลดน้ำหนัก นอกจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้แล้วยังมีเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์อีกหลายชนิดที่ที่อวดอ้างว่าสามารถลดน้ำหนักได้ แต่ไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่าสามารถลดน้ำหนักได้ กระจายอยู่ตามคลินิกและศูนย์ลดน้ำหนักต่าง ๆ เช่น การใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง (radiofrequency) เครื่องเลเซอร์ (laser) เครื่องอัลตราซาวน์ (ultrasound) เพื่อลดน้ำหนัก เป็นต้น
“ที่ผ่านมาทาง อย.ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดแต่ผลิตภัณฑ์บางชนิดก็ยินยอมให้จับและเสียค่าปรับ เนื่องจากผลที่ได้จากการโฆษณาคุ้มค่ามากกว่าเงินที่ถูกปรับทำให้ดูเสมือนว่าปัญหาดังกล่าวขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่มีผู้จำหน่ายสินค้ารายย่อยในเชิงสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก ล่าสุดเราได้มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรร.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือมีการโฆษณาเกินจริงจากทุกสื่อ และหากมีเบาะแสหรือพบเห็นการโฆษณาสินค้าที่เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค สามารถแจ้งได้ที่ โทร 1556 หรือ ตู้ ปณ 1556 อ.เมือง จ.นนทบุรี” นพ.พิพัฒน์ กล่าว
พญ.ชนิกา ตู้จินดา ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวถึงเรื่องโรคอ้วนว่า ปัจจุบันโรคอ้วนได้ลามถึงในเด็กและวัยรุ่น พบว่าประชากรวัยเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษากว่า 5 ล้านคน มีปัญหาโรคอ้วน นักเรียนระดับประถมศึกษามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มากกว่าร้อยละ 10 และนักเรียนระดับมัธยมศึกษามีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ประมาณร้อยละ 6 แต่นักเรียนระดับประถมศึกษาในเขตเมืองกลับมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ถึงร้อยละ 15.4 และ ร้อยละ 13.6 สอดคล้องกับผลการวิจัยของกรมอนามัย พบว่านักเรียนในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยเป็นโรคอ้วนสูงถึงร้อยละ 25.9 – 31.5 รองลงมา เช่น โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน พบเด็กอ้วนร้อยละ 25.7 – 28.1 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ ร้อยละ 23.3 – 27.4 และโรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ พบอัตราโรคอ้วนในเด็กร้อยละ 11.2 -14.6 และยังพบปัญหาโรคอ้วนในเด็กอนุบาล ประมาณร้อยละ 19 ซึ่งในอนาคตเด็กเหล่านี้จะเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเรื้อรังต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
“เนื่องจากกระแสวัยรุ่นที่นิยมเทรนด์เกาหลี คือ “ตาคม กลมโต เด่นเด้ง ผอมบาง” ทำให้มีเด็กและวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพร และยาลดน้ำหนักมาใช้เองอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะได้รับคำบอกกล่าวจากเพื่อน หรือหลงเชื่อคำโฆษณาที่อวดอ้างเกินจริง ทำให้เกิดปัญหาและผลแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา ดั้งนั้นผู้ปกครองและอาจารย์ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องเพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจที่ผิด ๆ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ได้ในอนาคต” ศ.เกียรติคุณ พญ.ชนิกา กล่าว
ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายคนไทยไร้พุง ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ แห่งประเทศไทย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์, สมาคมสุขศึกษา พลศึกษาและสันทนาการแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันรณรงค์ให้คนไทยควบคุมให้น้ำหนักและรอบพุงอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยใช้วิธี 3อ.คือ คือ อาหาร ออกกำลังกายและ อารมณ์ การรณรงค์ได้กระจายไปทั่วทุกจังหวัดของประเทศและในองค์กรต่าง ๆ ซึ่งในอนาคตมีโครงการที่จะส่งเสริมการลดน้ำหนักในเด็กวัยเรียน โดยใช้โรงเรียนเป็นหลักในการให้ความรู้ที่ถูกต้องในการลดน้ำหนักในแด็กและวัยรุ่น
ด้าน ศ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ในปัจจุบันวิธีการ และเทคนิคการลดน้ำหนักพัฒนาไปอย่างมาก ทำให้บางครั้งแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยยังตามเทคโนโลยีหรือวิธีการลดน้ำหนักไม่ทันทางสถาบันฝึกอบรมแพทย์ต่าง ๆ และสสส.จึงจัดการประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ “obesity summit thailand 2010” ขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงแรมเซ็นทาร่า แกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในด้านวิชาการ การดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะอ้วนและอ้วนลงพุงที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยยกระดับและเพิ่มทักษะของแพทย์และบุคคลกรทางการแพทย์ให้มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคอ้วนและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้มาตรฐานคลินิกลดน้ำหนักในประเทศไทยดีขึ้น
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
update 23-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์