เปิดลายแทงตลาด ‘ผักปลอดภัย’
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
"ตลาด" นับเป็นศูนย์รวมวัตถุดิบที่เป็นต้นทางของจานอาหารจากบ้าน ร้านขายอาหารต่าง ๆ แต่เมื่อขีดวงรอบของตลาดที่ขายวัตถุดิบของอาหารที่ปลอดภัยกลับมีอยู่อย่างจำกัด
เวทีประชุมวิชาการกินผักผลไม้ปลอดภัย 400 กรัม เพื่อสุขภาพ จัดโดย สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้หยิบยกสถานการณ์การผลิตและความปลอดภัยในผักผลไม้ รวมถึงบทบาทการค้าสมัยใหม่ในการสนับสนุนผักผลไม้ปลอดภัยออกมาเผยแพร่
นางวัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนเงินมีมา จำกัด เล่าว่า สวนเงินมีมาเป็นหนึ่งในภาคีของ สสส. ทำการตลาดเพื่อสังคมที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันถึงคุณค่าอย่างใหม่ในการดำเนินชีวิต เช่น เครือข่ายตลาดสีเขียว ที่ริเริ่มในกรุงเทพ มหานครในปี 2549 ซึ่งเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค
"สังคมเกิดวิกฤติทางอาหาร ที่เกิดจากความไม่มั่นคงทางอาหาร อาหารนั้นมีการปนเปื้อนสารเคมีจากการกำจัดศัตรูพืช เกษตรกรเองก็ไม่ได้อยากใช้สารเคมีเหล่านั้น แต่เนื่องจากพืชเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมี ผู้บริโภคเองก็พบสารเคมีปนเปื้อนในร่างกาย และเมื่อหลีกเลี่ยงการกินผักและผลไม้เพราะกลัวความไม่ปลอดภัยจากสารเคมีก็เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมา สวนเงินมีมาจึงหาช่องทางเพื่อให้คนไทยเข้าถึงผักผลไม้ที่ปลอดภัย โดยมีระบบสมาชิก ตลาดนัดสีเขียว" กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวนเงินมีมา จำกัด บอกถึงที่มา
นางวัลลภา บอกต่อว่า นอกจากนี้หลายหน่วยงาน เห็นถึงความสำคัญเรื่องการบริโภคผักผลไม้ปลอดภัย จึงตั้งตลาดกลางเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น 1. ในซูเปอร์มาร์เกต กรีนซูเปอร์มาร์เกต เลม่อนฟาร์ม 2. ตลาดนัดสีเขียว และตลาดฟาร์ม เมอร์มาร์เกต 3. รูปแบบที่เชื่อมตรงถึงแหล่งผลิต เป็นการทำการตลาดทางสังคม CSA หรือ Community Supported Agriculture คือระบบที่เกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน มีรูปแบบคล้ายระบบสมาชิก ที่ผู้บริโภคยินดีร่วมเป็นหุ้นส่วนกับเกษตรผู้ผลิต เป็นหลักประกันซึ่งกันและกัน คนปลูกให้หลักประกันในการปลูกผักอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ ปราศจากสารเคมี ส่วนคนกินก็ให้หลักประกันราคาที่เป็นธรรม และยินดีจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 52 สัปดาห์
"แค่เรารู้จักเกษตรกรที่ไว้ใจได้เพียง 1 คน ก็ทำให้เราสามารถกินผักอินทรีย์ไปได้ตลอดชีวิต" ผู้บริหารสวนเงินมีมาให้วิธีคิด
ปัจจุบันมีระบบสมาชิก CSA ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่จัดส่งผักผลไม้ปลอดภัยให้ถึงบ้านสมาชิก คือ 1.โครงการผักประสานใจ โดยเกษตรกรบ้านป่าคู้ล่าง อ.หนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี 2. ตะกร้าปันผัก ซอยราษฎร์บูรณะ 30 โดยรวบรวมผักจากเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ เช่น มูลนิธิเอ็มโอเอ จังหวัดนครราชสีมา, กลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น 3.กรีน พลัส กรีนแคเทอริ่ง ที่รวบรวมผักจากกลุ่มเกษตรกร ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จ.ปทุมธานี 4.บ้านผักกูด รวบรวมผักจากกลุ่มเกษตรกรใน อ.บางกรวยและอำเภอไทรน้อย จ.นนทบุรี
ด้านฝั่งตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ อย่างตลาดศรีเมือง จ.ราชบุรี นายกฤช รังสิเสนา ณ อยุธยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการตลาดศรีเมือง เล่าให้ฟังว่า ในปี 2537 ตลาดศรีเมืองได้พัฒนาตลาดที่เกิดการซื้อขายอย่างชัดเจน จากที่เป็นการซื้อขายปกติ ทั้งในการค้าส่งผักผลไม้ ลานเกษตร อาหารค้าปลีก จัดการระบบภายในจนเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและผู้บริโภค ตลาดศรีเมืองจึงขยับขยายพื้นที่เป็น 75 ไร่ จากพื้นที่เดิม 25 ไร่ มีผักเข้าตลาดวันละ 1-2 พันตัน ผลไม้ 600-800 ตัน ทำให้เกิดการหมุนเวียนการค้าระหว่างเกษตรกร ผู้ค้าขาย จนเป็นตลาดกลางแห่งที่ 19 ของประเทศ ปัจจุบันผลการดำเนินงานตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในผลผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรภาพรวมทุกพื้นที่ในตลาดศรีเมือง พบไม่ถึง 0.1% จากเดิม 40% ของตัวอย่างที่เก็บตรวจวิเคราะห์ทุกวัน
พิกัดของพืชผักปลอดภัยมีอยู่หลายพื้นที่ ภาคของผู้บริโภคหากร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนสินค้าจะส่งแรงกระเพื่อมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชผักโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี.