เปิดรับพันธมิตรสื่อรายการโทรทัศน์ นำเสนอข่าวและกิจกรรมในท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่รณรงค์ประเด็น สร้างเสริมสุขภาวะ และลดปัจจัยเสี่ยง ในเชิงบวก ประจำปี 2556

ประกาศสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรื่อง การเปิดรับพันธมิตรสื่อรายการโทรทัศน์ นำเสนอข่าวและกิจกรรมในท้องถิ่น
เพื่อเผยแพร่รณรงค์ประเด็น สร้างเสริมสุขภาวะ และลดปัจจัยเสี่ยง ในเชิงบวก ประจำปี 2556
ความเป็นมา
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ด้วยเจตนารมย์ในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ยั่งยืนให้แก่ประชาชนคนไทยตามนโยบายสุขภาพแห่งชาติ
การขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาวะของคนไทยให้เป็นไปอย่างยั่งยืนนั้น ต้องประกอบไปด้วยการทำงานในลักษณะองค์รวมของทั้งสังคม เป็นการทำงานทั้งในระดับพื้นที่และเชิงประเด็น เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย การทำงานสร้างเสริมสุขภาพจึงมีความหลากหลายแต่เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับคนไทย
ในการไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ขององค์กร การสร้างความเข้าใจกับประชาชนจึงถือเป็นหนึ่งในภารกิจงานที่สำคัญของ สสส. เพราะหากประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายขาดความเข้าใจในเรื่องสร้างเสริมสุขภาพ การจะปรับเปลี่ยนแนวคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพคงจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพได้ถูกเผยแพร่ทั้งความรู้ ต้นแบบ รวมไปถึงแนวคิด ค่านิยมที่ถูกต้องให้กับประชาชน สสส. ได้จัดตั้งกลุ่มสนับสนุนงานการตลาดเพื่อสังคมขึ้น โดยมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบพัฒนาเครื่องมือสื่อสารเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานหลักที่ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส.
ในแต่ละปี สสส. จะกำหนดยุทธศาสตร์ของการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคมร่วมกับหน่วยงานหลักภายใน สสส. และองค์กรภาคีเครือข่าย โดยแผนงานดังกล่าว จะเน้นการสร้างความเข้าใจและการสร้างความร่วมมือกับสื่อในรูปแบบพันธมิตรเครือข่ายด้านการสื่อสาร เพื่อพัฒนาประเด็นสร้างเสริมสุขภาพให้แก่สังคมและเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการรณรงค์สื่อสาร รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการนำข้อมูล ความรู้ ข้อคิดเห็น ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน สสส. จึงได้ดำเนินการเปิดรับพันธมิตรสื่อรายการโทรทัศน์นำเสนอข่าวและกิจกรรมในท้องถิ่นเพื่อเผยแพร่รณรงค์ประเด็น สร้างเสริมสุขภาวะ และลดปัจจัยเสี่ยง ในเชิงบวก ประจำปี 2556 รายละเอียดมีดังต่อไปนี้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะความรู้ด้านเทคนิคการนำเสนอข่าวอย่างมืออาชีพของผู้สื่อข่าวในท้องถิ่น โดยดำเนินการภายใต้ปรัชญาของการทำข่าวที่ดี ซึ่งหมายถึงการนำเสนอข่าวให้ครบวงจรตามคำกล่าวที่ว่า “something is wrong. (ประเด็นปัญหา) something could be done to make it better. (การหาทางออกหรือทางแก้ปัญหา)” ซึ่งประเด็นข่าวส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักเน้นไปที่ประเด็นปัญหา มากกว่าการหาทางแก้และทางออกให้กับปัญหานั้นๆ
2. ผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นได้สร้างผลงานอันจะเป็นประโยชน์ในการสื่อสาร สร้างทัศนคติและ พฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชนในท้องถิ่นโดยมีทีมมืออาชีพทางสายข่าวเป็นพี่เลี้ยง
3. เพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเกิดเป็นกลุ่มนักผลิตสื่อท้องถิ่นที่มีศักยภาพและมีความเข้าใจในการผลิตสื่อที่มีคุณภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
4. ส่งเสริมแนวทาง การปฏิบัติการใหม่ๆ ที่เป็นความคิด สร้างสรรค์สามารถนำไปสู่การขยายค่านิยมการผลิตข่าวแบบรอบด้านและการสร้างพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนได้ อย่างมีประสิทธิภาพและกว้างขวาง
5. เพื่อเพิ่มช่องทางสื่อสารไปยังชุมชนให้งานรณรงค์ของสสส.เข้าถึงพื้นที่และชุมชนได้มากขึ้น เราต้องการนำเสนอเรื่องราวดีๆเพื่อมอบความหวัง ทางแก้ไขและความเป็นไปได้ให้กับผู้คนในสังคม
กรอบและขอบเขตการปฏิบัติงาน
สสส.ต้องการเปิดรับคัดเลือกพันธมิตรสื่อรายการโทรทัศน์ต้นแบบสร้างเสริมสุขภาวะ เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงวิธีการสร้างเสริมสุขภาพอย่างถูกวิธี รายการที่เปิดรับคัดเลือก จะต้องเป็นรายการที่มีแนวคิด สร้างสรรค์ มีรูปแบบแปลกใหม่น่าสนใจ ชวนติดตาม สามารถสร้างแรงบันดาลใจ หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมให้กับสังคมได้ และมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับเนื้องานของภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. อีกทั้งต้องเป็นรายการใหม่ที่ยังไม่เคยผลิตหรือเผยแพร่มาก่อน
1. ร่วมกับภาคีเครือข่าย สสส. ระดมความคิดต่อประเด็นการนำเสนอด้าน สุขภาวะ เพื่อให้การออกอากาศ มีประเด็นที่เหมาะสมกับช่วงเวลาของการรณรงค์ขับเคลื่อนเชิงนโยบายในระดับประเทศ
2. ประสานความร่วมมือกับ กลุ่มสมาคมเคเบิ้ลทีวี นักข่าวท้องถิ่น มหาวิทยาลัยต่างๆ
3. ตั้งประเด็นกระตุกความคิดเพื่อให้เกิดการนำเสนอข้อเท็จจริง ของการสร้างเสริมสุขภาวะในชุมชน อย่างสร้างสรรค์และมีคุณภาพ
4. ร่วมพัฒนาชิ้นงานข่าวของนักข่าวท้องถิ่น ให้มีคุณภาพ แล้วนำมาเรียงร้อย กับการผลิตรายการส่วนกลางตัดต่อเป็นเทปรายการ
5. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพสื่อท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อปี
ที่มาและแนวคิด
• ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทุกคนสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อได้และมีช่องทางการสื่อสารเป็นของตัวเอง ดังนั้นการรายงานสถานการณ์และถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆในปัจจุบัน ไม่ได้ดำเนินการผ่านผู้สื่อข่าวทางสื่อกระแสหลักเท่านั้น แต่ประชาชนโดยทั่วไปยังสามารถร่วมถ่ายทอดผ่านสื่อออนไลน์ และช่องทาง social media อื่นๆที่หลากหลายอีกด้วย
• ปรากฏการณ์ต่างๆที่กลายเป็นประเด็นสำคัญของสังคม หลายปรากฏการณ์ มีจุดเริ่มต้นมาจากการถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในสังคมสื่อออนไลน์ จนกลายเป็นประเด็นสาธารณะได้ในที่สุด เราจึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าผู้สื่อข่าวสมัครเล่นเหล่านี้ก็มีส่วนสำคัญ ในการวางรูปแบบของสื่อในปัจจุบันให้มีความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้นจึงควรมีการเสริมประเด็นของจริยธรรมในด้านการสื่อสารให้มากขึ้น
• การรายงานข่าวในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีการนำเสนอในรูปแบบการเล่าข่าว ซึ่งสามารถนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของความมีอคติส่วนตัวของผู้สื่อข่าวเอง อีกทั้งผู้รับสื่อที่ยังไม่มีความรู้เท่าทันสื่อยังไม่สามารถสังเคราะห์ข้อมูลที่เป็นเนื้อหาข่าวออกจากอคติของผู้เล่าข่าวได้ จึงทำให้เกิดพฤติกรรมการรับสื่อแบบด้านเดียวซึ่งสามารถนำไปสู่ความแตกแยกของสังคมได้ สำหรับประเภทของข่าวที่นำเสนอนั้นมักเป็นการนำเสนอข่าวร้ายหรือข่าวความรุนแรง เนื่องมาจากผู้ผลิตข่าวส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าข่าวร้ายและข่าวความรุนแรงเป็นข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจ
ด้วยประการเหล่านี้ สสส.จึงเห็นความสำคัญของการผลักดันและสร้างแรงบันดาลใจให้นักข่าวท้องถิ่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผู้สื่อข่าวสมัครเล่น สามารถสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ในการสื่อสาร สร้างทัศนคติและ พฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชนในท้องถิ่นโดยมีทีมมืออาชีพทางสายข่าวเป็นพี่เลี้ยง
กลุ่มเป้าหมาย
นักข่าวท้องถิ่นและประชาชนที่สนใจ
เนื้อหาสาระที่ต้องการสื่อสาร
ประเด็นสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อลดปัญหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ ประเด็นเรื่องแอลกอฮอล์ บุหรี่ อุบัติเหตุ และประเด็นอื่นที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาวะเฉพาะของท้องถิ่น
ลักษณะรูปแบบรายการที่ต้องการ
รายการที่นำเสนอประเด็นข่าว กิจกรรม ความเคลื่อนไหว ของกลุ่มชุมชนและภาคีเครือข่าย ที่ช่วยพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยนำเสนอประเด็นในมุมบวกและเชิงประจักษ์ ที่เป็นตัวอย่างหรือแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่นๆสามารถปรับใช้ได้กับชุมชนของตนเอง ซึ่งต้องการให้ผลิตเป็น 2 รูปแบบ โดยผู้ผลิตรายเดียวกัน และมีแนวคิดเดียวกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
  1. รูปแบบที่ 1 สารคดีข่าว ความยาว 25 นาที
    รูปแบบรายการ มีองค์ประกอบ ดังนี้
  • เป็นสารคดีข่าวนำเสนอแนวคิด และกลวิธีในการผลิต จนออกมาเป็นชิ้นงานของ “ข่าวท้องถิ่น” จากแหล่งต่างๆ ที่สร้างเสริมสุขภาวะ สร้างสรรค์สังคม อย่างมีคุณภาพ
  • ความยาวรายการ 25 นาที จำนวนไม่เกิน 72 ตอน
  • งบประมาณไม่เกินตอนละ 250,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) การพิจารณางบประมาณ จะมีการนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับทุกแผนงานที่ได้นำเสนอ และจะดำเนินการพิจารณาคัดเลือกงบประมาณควบคู่กับความสมเหตุสมผลภายใต้คอนเซ็ปต์ของรายการ
  • เป็นรายการที่จะได้รับการเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆ และออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(nbt) ในเดือนพฤศจิกายน 2556 โดยวันและเวลาออกอากาศเป็นไปการตามการวางผังรายการของทางสถานี ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
  • ในการทำสัญญา การผลิตรายการจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะละ 6 เดือน โดยจะมีการพิจารณา วัดผลในแต่ละระยะ ในกรณีที่ผลงานของผู้ผลิต อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย ทาง สสส. มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญา จัดจ้างผู้ผลิตรายใหม่มาดำเนินการแทน
  1. รูปแบบที่ 2 รายการสกู๊ปข่าวสั้น ความยาว 5 นาที
    รูปแบบรายการ มีองค์ประกอบ ดังนี้
  • เป็นรายการสกู๊ปสั้น นำเสนอชิ้นงานที่บอกเล่าถึงกิจกรรมที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม โดยนักข่าวท้องถิ่นในพื้นที่ แล้วนำมาเรียงร้อย และพัฒนาให้มีคุณภาพ
  • ความยาวรายการ 5 นาที จำนวนไม่เกิน 288 ตอน
  • งบประมาณไม่เกินตอนละ 50,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) การพิจารณางบประมาณ จะมีการนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับทุกแผนงานที่ได้นำเสนอ และจะดำเนินการพิจารณาคัดเลือกงบประมาณควบคู่กับความสมเหตุสมผลภายใต้แนวคิดของรายการ
  • เป็นรายการที่จะได้รับการเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆ และออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย(nbt) ในเดือนพฤศจิกายน 2556 สัปดาห์ละ 4 ตอน โดยวันและเวลาออกอากาศเป็นไปการตามการวางผังรายการของทางสถานี ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
  • ในการทำสัญญา การผลิตรายการจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะละ 6 เดือน โดยจะมีการพิจารณา วัดผลในแต่ละระยะ ในกรณีที่ผลงานของผู้ผลิต อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย ทาง สสส. มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญา จัดจ้างผู้ผลิตรายใหม่มาดำเนินการแทน
การจัดทำแผนการพัฒนาศักยภาพสื่อท้องถิ่น
ผู้ผลิตรายการจะต้องจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะด้านการผลิตข่าวในเชิงสร้างสรรค์ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อปี โดยแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 40 คน ใช้งบประมาณต่อครั้งไม่เกิน 400,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ขอบเขตของแผนงานที่ต้องนำเสนอ และเอกสารที่ต้องนำส่ง
  • วิดีโอนำเสนอรายการ ( vdo presentation , demo หรือ teaser) สื่อสารแนวคิด รูปแบบ และ mood & toneของรายการ ตลอดจนจุดเด่นของรายการ ให้เห็นภาพที่ชัดเจน เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ จัดทำในรูปแบบ dvd จำนวน 3 ชุด ความยาว 3-5 นาที
  • แผนงาน (proposal) รูปแบบเอกสารจำนวน 3 ชุด (สามารถพิมพ์ด้วยหมึกขาวดำหน้าหลังได้) และ ไฟล์ดิจิตอล 1 ชุด ที่ประกอบด้วย
    • แนวคิดรายการ (concept)
    • รูปแบบและวิธีนำเสนอรายการ (program format & presentation)
    • อารมณ์ของรายการ (mood & tone)
    • ตัวอย่างโครงรายการและประเด็นที่จะนำเสนออย่างน้อย 3 ตอน โดยนำเสนอให้คณะกรรมการเข้าใจแนวคิดให้ชัดเจน
    • แนวทางการผลิต (production) การออกแบบงานผลิต (production design) ที่เหมาะสมกับเนื้อหา และรูปแบบรายการ เช่น การออกแบบการถ่ายทำ, การกำหนดจำนวนกล้อง, มุมกล้อง, ฉาก และองค์ประกอบอื่นๆในงานผลิตโดยละเอียด
    • ให้เสนอประวัติ และผลงานที่สร้างชื่อเสียงของทีมงาน
    • สรุปประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคม หรือกิจกรรมที่เคยร่วมทำงานกับ สสส. มาก่อน (ถ้ามี)
    • แผนการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ นำเสนอหัวข้อ เนื้อหา และแนวทางการจัดการอบรม เช่น รายชื่อวิทยากร หลักสูตร จำนวนผู้เข้าร่วมอบรมที่ตั้งไว้ ผลที่จะได้รับจากการเข้าร่วมอบรม เป็นต้น
  • ใบเสนอราคา
  • นำเสนองบประมาณภายใต้แผนงานโดยละเอียด งบประมาณที่นำเสนอต้องรวมค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้
    • ค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำและการผลิตรายการ
    • ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการส่งสถานีเพื่อออกอากาศ
    • ค่าวัสดุอุปกรณ์ในการส่งมอบงาน สสส. ได้แก่ ดีวีดีรวม 2 ชุด ต่อ 1 ตอน และ external hard disk ที่บรรจุรายการทั้งหมด รวมถึงค่าจัดทำบทบรรยายไทยเพื่อผู้พิการทางการได้ยิน
  • แบบฟอร์มที่กำหนด สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.thaihealth.or.th โดยต้องกรอกให้สมบูรณ์ และส่งพร้อมแผนงานทั้งรูปแบบเอกสาร และไฟล์ดิจิตอล
คุณสมบัติของผู้เสนอแผนงาน
พันธมิตรสื่อที่สนใจจะร่วมเสนอแผนงานเพื่อเข้ารับการคัดเลือก ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
  • สามารถดำเนินการตามแผนงานที่ได้นำเสนอ ตามกรอบของระยะเวลาและงบประมาณที่ตกลงในสัญญา
  • สามารถร่วมพัฒนารายการไปพร้อมกับคณะกรรมการ ที่ สสส. จัดไว้ ในทุกๆขั้นตอน
  • ผู้ที่จะนำเสนอผลงานเข้ารับการคัดเลือก ต้องเป็นนิติบุคคลหรือคณะบุคคล
  • ต้องไม่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
การส่งเอกสารเสนอแผนงาน
1. ผู้ประสงค์ที่จะเข้าร่วมเสนอแผนงาน ให้กรอกแบบฟอร์มยื่นความจำนง เพื่อลงทะเบียนผ่านทาง e-mail : [email protected] ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน – 24 กรกฎาคม 2556 ก่อนเวลาปิดรับสมัคร
2. ส่งเอกสารแบบฟอร์มใบสมัคร และแผนงานทั้งหมด ในวันพุธ ที่ 24 กรกฎาคม 2556 ก่อนเวลา 12.00 น. (วันเดียวเท่านั้น) ทางไปรษณีย์ หรือส่งด้วยตัวเองที่
คุณฉัตรพล เตชะมังคลานนท์ (เต)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เลขที่ 99/8 ซอยงามดูพลี ทุ่งมหาเมฆ สาทร กทม.10120
  • ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับแผนงานที่ส่งไม่ทันวันเวลาที่ระบุข้างต้น
3. เขียนหน้าซองเอกสาร ว่า “แผนงานรายการโทรทัศน์ นำเสนอข่าวและกิจกรรมในท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่รณรงค์ประเด็น สร้างเสริมสุขภาวะประจำปี 2556” และแบ่งเอกสารเป็น 2 ซอง ได้แก่
ซองที่ 1 เอกสารต้นฉบับ ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 แบบฟอร์มการเสนอแผนงาน จำนวน 1 ชุด
ส่วนที่ 2 รายละเอียดตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตของแผนงานที่ต้องนำเสนอ จำนวน 1 ชุด
ส่วนที่ 3 หลักฐานบริษัท สำเนาเอกสารการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือคณะบุคคล บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (ลงวันที่ออกให้ไม่เกิน 3 เดือน) สำเนาบัตรประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการประทับตราลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง และสำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี จำนวน 1 ชุด
ในกรณีมอบอำนาจให้ยื่นเสนอแผนงาน ต้องจัดทำหนังสือมอบอำนาจ โปรดระบุให้มีอำนาจต่อรองราคาและลงนามในเอกสารใดๆ แทน พร้อมแนบสำเนาหนังสือรับรอง และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
ส่วนที่ 4 ประวัติและตัวอย่างผลงานเพื่อสังคม จำนวน 1 ชุด (ถ้ามี)
ซองที่ 2 เอกสารสำเนา ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 แบบฟอร์มการเสนองาน จำนวน 2 ชุด
ส่วนที่ 2 รายละเอียดตามที่กำหนดไว้ในขอบเขตของแผนงานที่ต้องนำเสนอ จำนวน 2 ชุด
ส่วนที่ 3 หลักฐานบริษัท สำเนาเอกสารการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือคณะบุคคล บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (ลงวันที่ออกให้ไม่เกิน 3 เดือน) สำเนาบัตรประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการประทับตราลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง และสำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี จำนวน 1 ชุด
ในกรณีมอบอำนาจให้ยื่นเสนอแผนงาน ต้องจัดทำหนังสือมอบอำนาจ โปรดระบุให้มีอำนาจต่อรองราคาและลงนามในเอกสารใดๆ แทน พร้อมแนบสำเนาหนังสือรับรอง และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
ส่วนที่ 4 ประวัติและตัวอย่างผลงานเพื่อสังคม จำนวน 1 ชุด (ถ้ามี)
หลักเกณฑ์และสิทธิในการพิจารณาคัดเลือก
– หากผู้เสนอแผนงานรายใดมีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามที่กำหนด หรือยื่นหลักฐานไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน สสส. จะไม่รับพิจารณาข้อเสนอแผนงานรายนั้น เว้นแต่เป็นข้อผิดพลาดหรือผิดพลาดเล็กน้อยหรือกรณีมิใช่สาระสำคัญ ทั้งนี้เฉพาะที่พิจารณาเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อ สสส. เท่านั้น
– ในการตัดสินการจัดซื้อจัดจ้างวิธีคัดเลือก หรือในการทำสัญญาหรือข้อตกลงการซื้อหรือจ้าง สสส. มีสิทธิต่อรอง หรือให้ผู้เสนอราคาชี้แจงข้อเท็จจริง สภาพ ฐานะ หรือข้อเท็จจริงอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับผู้เสนอแผนงานได้
– สสส. ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะไม่รับราคาต่ำสุด หรือราคาหนึ่งราคาใด หรือราคาที่เสนอทั้งหมดก็ได้ และอาจพิจารณาเลือกซื้อในจำนวน หรือประเภท หรือเฉพาะรายการหนึ่งรายการใด หรืออาจจะยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างโดยไม่พิจารณาคัดเลือกก็ได้ ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของ สสส. และเป้าหมายของงานเป็นสำคัญ และให้ถือว่าการตัดสินของ สสส. เป็นเด็ดขาด ผู้เสนอแผนงานจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ มิได้
– ในกรณีที่ผู้เสนอแผนงานรายใดได้รับการคัดเลือกจาก สสส. แล้ว จะต้องทำสัญญาและปฏิบัติตามที่ สสส. กำหนดตลอดอายุของสัญญา เว้นแต่ในกรณีที่ผลงานของผู้ผลิต อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย ทาง สสส. มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญา จัดจ้างผู้ผลิตรายใหม่มาดำเนินการแทน
ระยะเวลาการพิจารณา
ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือก ภายในวันที่ 30 กันยายน 2556 จะแจ้งผลงานที่ได้รับการคัดเลือกทางโทรศัพท์และประกาศทาง www.thaihealth.or.th
สอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่
คุณสุปรียา ทองธนากุล โทร 089-039-0260
ประกาศ ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2556
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
Shares:
QR Code :
QR Code