เปิดพื้นที่จัดกิจกรรมสวดมนต์ทั้งปี
ลำปาง นำร่อง ๕ พื้นที่ พร้อมสานข่ายภาคีพัฒนาพื้นที่รูปธรรมการสวดมนต์เป็นตัวอย่าง
เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ณ สถาบันธรรมาภิวัฒน์ บ้านสบเติ๋น ตำบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง คณะทำงานในโครงการสวดมนต์สร้างปัญญาพัฒนาสุขภาวะจังหวัดลำปาง ภายใต้เครือข่ายประชาคมสร้างเสริมสุขภาวะ (คปสส.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับภาคีหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ประชาคมและคณะสงฆ์กว่า ๘๐ รูป/คน ได้จัดพิธีเปิดโครงการสวดมนต์สร้างปัญญาพัฒนาสุขภาวะจังหวัดลำปาง พื้นที่อำเภอแม่เมาะขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่รูปธรรมการสวดมนต์ทั้งปีของ ๕ พื้นที่หลักในจังหวัดลำปาง
ในงานดังกล่าวมีการออกบู๊ทขายผลิตภัณฑ์บ้านและผักพื้นถิ่น กลุ่มแม่บ้านนำน้ำดื่มทางเลือกผลิตจากสมุนไพรในชุมชนมาแจกคนร่วมงาน เยาวชนมาตั้งกองบุญฮอมบุญเป็นสวัสดิการในการศึกษา กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการสวดมนต์ภาวนา ตามด้วยการเสวนาจากหลากหลายภาคี ในตอนท้ายมีการสวดมนต์แปลและสวดมนต์บทกลอนภาษาไทย พร้อมกับระดมทุนเพื่อทำกิจกรรมในทุกๆเดือนตลอดปี
นายประญัติ เกรัมย์ ผู้จัดการเครือข่ายประชาคมสร้างเสริมสุขภาวะ(คปสส.) ในฐานะทีมประสานงานโครงการฯ ได้กล่าวถึงแนวทางและเป้าหมายของการทำโครงการไว้ว่า "สวดมนต์-ภาวนา ใครๆก็ทำและทำกันมานาน แต่สิ่งที่แตกต่างของการสวดมนต์สร้างปัญญา คือ เราได้ให้อะไรแก่ผู้มาสวดมนต์มากกว่า "การสวดมนต์ภาวนา" หรือเปล่า เราทำสักแต่ว่าทำ หรือ เราทำเพราะเรา "เห็น"(ปัญญา) อะไรบางอย่าง เราจะเชื่อมองค์ความรู้ กิจกรรมต่างๆ การมีส่วนร่วมอะไรบ้างให้การสวดมนต์ภาวนา ไม่ใช่เพียงการกล่าวสรรเสริญหรือทำเพื่อให้ตนเองสงบ ความสำคัญของการสวดมนต์ จึงมีหลายมิติที่เชื่อมกับชีวิตเรา เป็นต้นว่า เราไม่ได้สวดมนต์เพื่อสรรเสริญพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่เรากำลังเรียนรู้วิถีชีวิตคนต้นแบบระดับโลกว่า ท่านอยู่ในโลกและจากโลกไปแล้ว ทำไมถึงถูกสรรเสริญมาเป็นพันปี บทสวดมนต์แต่ละบทให้ความรู้ความเข้าใจอย่างไรบ้างในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญที่สุด สิ่งที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญไม่ได้จบที่การสวดมนต์ยาวหรือสั้น มากหรือน้อย แต่อยู่ที่เรานำคำสอนไปใช้อย่างไร โดยเฉพาะการพยายามละบาป ทำบุญ ซึ่งสำคัญกว่าการทำทานที่กันอยู่มากในเวลานี้"
จากนั้น เจ้าป้ากาญจนา ประชาพิพัฒ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดลำปาง สตรีผู้มีไฟในวัย ๘๑ ปี กล่าวให้กำลังใจว่า "ป้าเกษียณแล้ว อยากทำอะไรต่อ ก็เลยไปเข้าชมรมผู้สูงอายุ แต่ไปได้ไม่กี่ครั้ง รู้ได้เลยว่าไม่ใช่ จึงไปเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรมนุษย์ ตอนนี้เหมือนเปิดดวงตาใหม่เลยนะ เห็นความเชื่อมโยงคนกับธรรมชาติมากขึ้น ก็เลยไปตั้งชมรมเยาวชน เอาคนรุ่นใหม่มาทำงาน มาเจอพระอาจารย์จัดสวดมนต์และกิจกรรมนี้ ก็เลยมาเข้าร่วม มาช่วยกันสร้างเยาวชนคนลำปางให้เป็นคนดีมีศีลธรรมและรักธรรมชาติ สาธุๆชื่นชมท่านมากๆเจ้าได้มีโอกาศเข้าร่วมกิจแรรมในคั้งนี้กับท่านได้รู้ได้เห็นกลวิธีของท่านสร้างคนโดยเฉพาะเยาวชนและการมีส่วนร่มของเครือข่ายมงความคิดเห็นในกิจกรรมที่ท่านทำโดยนำการสวดมนต์มาเป็นหัวข้อขอชท่นชมแนวคิดและวิธีการมากๆเจ้า"
ด้าน ผู้แทนสมาคมพัฒนาแม่เมาะ กล่าวว่า "กองทุนที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะให้กับชุมชนทุกปีผ่านกิจกรรมและสนับสนุนอปท.ในพื้นที่ก็มีความหวังว่า ท่านเหล่านั้นจะไม่เน้นสร้างสาธารณูปโภคมากเกินไปจนลืมมิติทางจิตที่เป็นการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน กิจกรรมนี้ทางเรายินดีให้การสนับสนุนเพื่อสร้างคนให้เข้าใจวิถีชีวิตตนเองที่จะอยู่ในแม่เมาะอย่างมีคุณค่า"
"ที่วิทยาลัยได้นิมนต์พระอาจารย์ไปให้ความรู้นักศึกษาบ่อยและยังนิมนต์ท่านจัดรายการวิทยุ "ธรรมาภิวัฒน์" ผมจึงพาเด็กมาร่วมกิจกรรมสวดมนต์ที่นี่ เพราะเราไม่ได้สวดมนต์ไปเรื่อยๆแบบไม่รู้เรื่องอย่างเดียว แต่ท่านจะชวนพวกเราวิเคราะห์บทสวดมนต์ให้พวกเราได้คิดตามทำตามดู มีวงเล็กๆคุยกัน นี่เป็นผลดีกับนักศึกษามาก" ผู้แทนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ ได้กล่าวย้ำบทบาทภารกิจของการจัดการศึกษาให้ชาวแม่เมาะ
วงเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตเปลี่ยนไปเพราะได้สวดมนต์ ไล่เรียงเล่าเรื่องไปทีละคนสองคน จนถึง นางจุฬาลักษณ์ เครืออ้าย ที่ปรึกษาเครือข่ายเยาวชนคนใฝ่ดีบ้านแม่จางข่วงม่วง ผู้เปลี่ยนชีวิตตนเองเพราะการสวดมนต์ ได้เล่าความในใจว่า "แต่ก่อนนี้เคยไปหาพระที่วัดข้างบ้านยืมเงินบอกว่าจะไปหาหมอ แต่จริงๆแล้วเอาไปเล่นการพนัน ตอนหลังได้มาปฏิบัติธรรมสวดมนต์ กับพระสาธิตที่ป่ามะขาม ได้รู้ความหมายในหลายบทที่เคยสวดแล้วเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน วันหลังก็ไปหาหลวงพ่ออีก ไปบอกท่านว่าขอขมาที่โกหกว่าเอาเงินไปหาหมอ ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่บอกว่าดีแล้วที่ละอายใจ จะได้กลับตัวกลับใจ จึงได้ตั้งใจพาเด็กๆเข้าวัดไถ่ถอนความไม่ดี สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กๆไม่หลงทางคิดผิดทำผิดเหมือนที่ตนเองเคยทำมา"
สายตาคนมาร่วมงานยังคงจดจ้องกลุ่มคนมาเล่าด้วยความสนใจ จนไปถึงน้องเยาวชนที่นั่งท้ายสุดของเวที นางสาวรุ้งตะวัน บุญมา โฆษกเครือข่ายเยาวชนคนใฝ่ดีบ้านสบเติ๋น เด็กหญิงผู้เติบโตจากเด็กวัดถึงผลงานระดับประเทศ กล่าวด้วยเสียงที่หนักแน่คมชัดพร้อมรอยที่น่ารักในวัยเยาว์ว่า "หนูเป็นเด็กที่นี่ มาร่วมทำกิจกรรมอาสาในกลุ่มเยาวชนคนใฝ่ดีตั้งแต่ชั้นประถม ได้เข้าร่วมกิจกรรมมากมายที่พระอาจารย์พาไป ที่ภูมิใจที่ได้สุดคือเป็นตัวแทนระดับภาคไปแข่งในระดับประเทศของโครงการทูบีนับเบอร์วัน แม้หนู๋จะไม่ได้รางวัลอะไรมาเลย แต่หนู๋ก็ถือว่าได้รางวัลที่ภูมิใจมากที่สุดคือ การได้บอกให้หน่วยงานระดับประเทศ ได้รับรู้ถึง ศักยภาพและความสามารถของคนตัวเล็ก ในชุมชนเชิงเขาที่แทบจะไม่มีใครรู้จักให้เป็นที่รู้จักขึ้นมาก"
แม้เวลาจะบ้ายคล้อยมากแล้ว แต่คนมาร่วมกิจกรรมยังคงนั่งฟังอย่างตั้งใจ ท่ามกลางเงาต้นมะขามกว่า ๒๐ ต้น พร้อมกับสายลมเย็นที่พัดเอือยๆมาให้ความสดชื่นเป็นระยะๆ จนได้เวลาสมควร พระอาจารย์สาธิต ธีรปญฺโญ ประธานในพิธีฝ่ายสงฆ์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมาภิวัฒน์ ผู้จัดโครงการฯ กล่าวเตือนสติให้ความรู้และโอวาทว่า "การสวดมนต์ที่สมบูรณ์ ควรทำให้ได้องค์ประกอบ ๓ ประการคือ ได้กล่าวบูชาบุญคุณของพระรัตนตรัย ได้รู้ความหมายของบทสวดมนต์อย่างแจ่มแจ้งและได้สติมีสมาธิในการสวดมนต์ว่าตอนนี้สวดถึงบทไหนอย่างแล้ว พร้อมกันนี้ยังมีคนฟังการเสวนาของพวกเราในหัวข้อ "การเติมเต็มการสวดมนต์เพื่อนำไปสู่การสร้างปัญญาและพัฒนาสุขภาวะ" ในพิธีเปิดโครงการสวดมนต์สร้างปัญญาพัฒนาสุขภาวะของสถาบันธรรมาภิวัฒน์ ที่สถานีวิทยุเพื่อการศึกษาและพัฒนาอาชีพ R-Radio Network FM ๙๙.๕๐ MHz วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ เวลา ๐๘.๐๐ น.-๑๐.๐๐น.อยู่ด้วย ก็ขอนุโมทนาความดีนี้ร่วมกันตลอดไป"
ที่มา : สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
ภาพประกอบจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า