เปิดพื้นที่คนมีไฟ สร้างคนรุ่นใหม่พลิกโฉมประเทศ
คนรุ่นใหม่ในยุคแห่งนวัตกรรม นับเป็นกลุ่มคนอีกยุคหนึ่งที่คนรุ่นหลังอาจต้องยอมรับว่า “ตามไม่ทัน” ทั้งการใช้เครื่องมือสื่อสารในโลกแห่งเทคโนโลยี หรือกรอบความคิดใหม่ๆ ที่สลัดจากกรอบความคิดเดิมๆ
และด้วยพลังแห่งความคิดของเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่พร้อมสร้างรากและเติบโตอย่างแข็งแรงนี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ด้วยการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่ รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสังคม สสส.ได้กล่าวคำนิยมไว้ตอนหนึ่งในหนังสือChang Agents ผู้นำรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่นับเป็นสื่อเล่มหนึ่งที่พยายามถ่ายทอดแนวคิดแห่งพลังการขับเคลื่อนในชีวิตของคนรุ่นใหม่ผ่านตัวหนังสือไว้ว่า
“สสส.พยายามค้นหาบุคคลและกลุ่มที่จะเป็นผู้จุดประกายและนำกระแสการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเชื่อว่าการปฏิรูปประเทศต้องการวิธีคิดและการลงมือทำจากคนรุ่นใหม่”
เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการพัฒนาเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ด้วยการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้จัดเสวนา หัวข้อ “การพลิกโฉมประเทศไทย ในวิสัยทัศน์คนรุ่นใหม่ (Chang Agents)”โดย รศ.ดร.วิลาสินีบอกเล่าถึงโครงการฯ ว่า โครงการนี้เป็นการส่งเสริมพื้นที่การแลกเปลี่ยนทางความคิดของกลุ่มเยาวชนที่ถือได้ว่าเป็นนักคิดรุ่นใหม่ของประเทศ เดิมทีเยาวชนกลุ่มนี้รวมตัวกันเพื่อพูดคุยประเด็นต่างๆ ของสังคมผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย สสส.จึงชักชวนให้ขยายพื้นที่แลกเปลี่ยนเหล่านี้ให้กว้างขวางมากขึ้น มีทั้งพื้นที่ในโซเชียลมีเดียและพื้นที่สาธารณะที่มีกิจกรรมการมีส่วนร่วมจริง และ สสส.จะเป็นส่วนเชื่อมร้อยคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้กับเครือข่ายอื่นๆ เพื่อให้เกิดประเด็นใหม่ๆ จนนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น
“เมื่อเดือนก่อนที่ได้มีโอกาสร่วมวงเสวนาและมีผู้ใหญ่หลายท่านระบุว่ากิจกรรมนักศึกษาได้ตายไปแล้ว พลังนักศึกษาหายไป แต่ในความจริงแล้ว พวกเค้าไม่ตายหรือหายไปไหน เพียงแต่พลังทางความคิดของพวกเค้าไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป แต่มันมีพื้นที่ใหม่ๆ ซึ่งจากยุทธศาสตร์กลไกพัฒนาพลังเยาวชนเราจะพบว่าในกรอบสามเหลี่ยมจะมีคนอยู่ 3 แบบ คือ จากฐานรากคือผู้รู้ทำ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะมีอยู่มาก ส่วนกลางคือรู้คิด ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่คิดประเด็นใหม่ๆ และกลุ่มที่อยู่บนสุดคือกลุ่มของผู้รู้นำ ซึ่งมีอยู่เพียง 10%เป็นกลุ่มที่สามารถนำความคิดมาต่อยอดและเป็นผู้นำความคิดได้ โจทย์ของเราคือการเพิ่มเติมกลุ่ม 10% นี้ เช่น เวทีร่วมหาทางออกให้ประเทศผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเชื่อว่าเราจะได้เห็นแนวทางและข้อเสนอใหม่ๆ ที่ร่วมสร้างประเทศได้จริง”รศ.ดร.วิลาสินีกล่าว
ด้าน นายกานต์ ยืนยง ผู้อำนวยการบริษัท สยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต จำกัด กล่าวว่า กลุ่ม Siam Intelligence Unit : SIUเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนทางอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร โดยเรามีความกังวลว่าสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นจะเป็นอย่างไร และจับตานั่งคุยกันผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย จนกระทั่งก่อตั้งเป็นเว็บไซต์ www.transform.in.th เพื่อเป็นเวทีให้ทุกคนมีส่วนร่วม ส่งเสียงไปถึงผู้ใหญ่ในประเด็นต่างๆ ของสังคม
ขณะที่มีการเปิดเวทีเพื่อแสดงออกถึงความคิดของพลังคนรุ่นใหม่ อย่าง นายแบ๊งค์ งามอรุณโชติ เด็กหนุ่มที่เคยโด่งดังในเวทีสัมมนาหลายเวทีเกี่ยวกับประเด็นของการศึกษา วันนี้เขาเติบโตและจบการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ บอกเล่าผ่านความคิดของเด็กหนุ่มผู้ไม่หยุดนิ่งไว้ว่า คำว่าคนรุ่นใหม่สำหรับความคิดโดยส่วนตัวแล้วจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงเด็กหรือเยาวชนวัยรุ่นเท่านั้น แต่คือคนทุกคนที่มีพลังทางความคิด การปฏิรูปประเทศไทยโดยคนรุ่นใหม่ จะต้องมีบรรยากาศทางสังคมที่ทำให้พลังเหล่านี้มาเจอกัน ซึ่งการพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ จะต้องมองให้เห็นคน เช่น หากเราทุ่มงบประมาณวิจัยสักก้อน แต่นักวิจัยเท่าเดิม โดยไม่สร้างนักวิจัย ตนเชื่อว่างานวิจัยก็ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าเดิม ดังนั้น Chang Agentsคือสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็จะต้องจัดโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมให้ดี ยกตัวอย่างเรื่องการพัฒนาที่ทำให้เห็นคน เช่น เรามีเด็กที่ชนะการประกวดหุ่นยนต์ทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับโลกมากมาย หากเรานำเด็กกลุ่มนี้เข้ามาทำงานร่วมกันสร้างเป็นสถาบันวิจัยหุ่นยนต์ เชื่อได้ว่าจะสามารถช่วยเรื่องกู้ชีพกู้ภัยของบ้านเราได้มาก เป็นต้น
ด้าน นายพัชร เกิดศิริ ผู้เป็นซีอีโอบริษัทรับทำเว็บไซต์ที่ใช้การบริหารจัดการแบบวงดนตรี บอกว่า สิ่งที่ตนได้จากการทำธุรกิจคือการรู้ปรัชญาของการเอาตัวรอด ดนตรีก็เช่นกันมีปรัชญาหลายอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ เพราะเวลาที่เราเป็นนักดนตรีในวง เราต้องคิดว่าเราเล่นเพื่ออะไร หากเราเล่นเดี่ยวก็เพื่อความสนุกและความสุข แต่ถ้าเราเล่นเป็นทีมเมื่อไหร่ สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ทีมอยู่รอด ซึ่งก็ถือเป็นหลักของการทำธุรกิจ ดังนั้นหากจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้เราก็ต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเองและทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด
“ทุกวันนี้เราอาจสนใจหรือคอมเมนต์คนอื่นมากไป โดยใช้กรอบความคิดของตัวเอง ซึ่งก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นเราต้องรู้จักหน้าที่ของเรา เหมือนอย่างประสบการณ์ของผมที่ได้มีโอกาสไปเล่นดนตรีให้กับผู้บริหารหลายคนจะเห็นว่า หลายคนจะรู้หน้าที่ของตัวเอง และรู้ว่าตัวเองจะโดดเด่นตอนไหน อย่างไร”นายพัชรกล่าว
ทั้งนี้ยังมีพลังเยาวชนอีกมากที่ร่วมจุดประกายการขับเคลื่อนไว้ โดยเป็นการสัมภาษณ์จากเยาวชน จำนวน 50 คน ที่มีพลังความคิดและความฝัน โดยสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ Chang Agents ผู้นำรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือการสรุปความคิดเห็นเยาวชนทั้ง 50 คนนี้ในเว็บไซต์ www.transform.in.thเพราะพวกเขาเชื่อว่าจะเป็นการกระตุกความคิดจากเยาวชนที่มีต่อปัญหาของประเทศในประเด็นต่างๆ เชื่อมโยงไปยังผู้ใหญ่เพื่อร่วมแก้ปัญหาและร่วมสร้างสังคมที่น่าอยู่ในอนาคต
เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th