เปิดตู้เย็นข้างบ้าน ยุคชีวิตรัดเข็มขัด

 

จ่ายแพงกว่าทำไม…ถ้าเลือกได้ก็คงไม่ต้องจ่ายแพง

ยุคที่ค่าแรงขึ้น…ไล่ไม่ทันค่าน้ำมัน ค่าพลังงาน…ค่าไฟ ราคาข้าวของเครื่องใช้ที่ต่างก็พุ่งทะยาน โดยเฉพาะของกินของใช้ที่ต้องกิน ต้องจ่าย อยู่ทุกวี่วัน…เราๆ ท่านๆ จะมีทางออกอย่างไร

เปิดดูตู้เย็นข้างบ้านยุครัดเข็มขัด

สถานการณ์นี้ไม่ต่างกับปัญหาสุขภาพ ที่มาจากอาหารการกิน พฤติกรรมการบริโภคเป็นตัวสะสมโรคร้าย กรณีสำรวจชาวบ้านตำบลอุทัยเก่า อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี

ธาดา อำพิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยเก่า เล่าว่า จากการตรวจร่างกายของชาวบ้านพบว่าชาวบ้านมีเลือดสีดำถึง 14 ราย และเสี่ยงในการเป็นมะเร็งอีก 800 กว่าราย

ที่น่าตกใจคือการเสียชีวิตของคนในชุมชนอย่างกะทันหันอีก 1 ราย จากสาเหตุเหล่านี้ อบต.ได้ดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุ พบว่า…พฤติกรรมการทำการเกษตร ชาวบ้านยังใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช และเร่งผลผลิตให้โตเร็วกว่าปกติ

ผู้ป่วยจำนวน 2 ใน 14 ราย ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกร แต่พฤติกรรมการบริโภคยังต้องซื้อผักจากตลาดมาประกอบอาหาร จึงสันนิษฐานได้ว่า…ผักในตลาดอาจมีสารพิษเจือปน

เพื่อหาทางออกในระยะยาว อบต.อุทัยเก่า จึงคิดโครงการแนะนำและส่งเสริมให้ชาวบ้านทำการเกษตรปลอดสาร ลดการบริโภคผักที่มีสารพิษเจือปน และลดต้นทุนในการผลิต

ให้ชาวบ้านพึ่งตัวเองมากที่สุด หันมาทำการเกษตรปลูกผักไว้กินเอง นอกจากไม่เสี่ยงสะสมสารพิษจากเคมีการเกษตร ยังเป็นการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายในครอบครัวไปในตัว

เหล่านี้เป็นที่มาที่ไปของ “ศูนย์เกษตรปลอดสาร” หมู่ 5 ต.อุทัยเก่า อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ธาดา บอกว่า ช่วงแรกเริ่มในฐานะผู้นำ เมื่อต้องการแก้ไขปัญหาให้กับคนในชุมชน อย่างน้อยต้องทำให้เขาเห็นเสียก่อน เพียงแค่คำพูด พูดให้เขาฟัง เขาจะเชื่อเราหรือ

โดยเฉพาะ…การรณรงค์หรือเผยแพร่ความรู้ให้กับชาวบ้านได้ทราบถึงอันตรายของการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ยังคงไม่เป็นผลมากนัก เพราะคำพูดเป็นเพียงคำบอกกล่าวที่กล่าวตักเตือน ยังไม่สามารถโน้มน้าวใจเกษตรกรได้อย่างชัดเจน

“เพื่อทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จึงเริ่มทำศูนย์เกษตรปลอดสาร ให้ชาวบ้านเข้ามาศึกษา นำความรู้ไปปรับปรุงใช้กับการทำการเกษตรในแบบของชาวบ้านเอง”

แหล่งเรียนรู้ศูนย์เกษตรปลอดสารหมู่ 5 ชาวบ้านทั่วไปรู้จักกันในชื่อ “ตู้เย็นข้างบ้าน” ถูกแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรหลายแบบ ประกอบด้วย 1.บ่อปลา เน้นเลี้ยงปลาสลิด ปลาตะเพียน ปลานิล เพราะโตเร็ว ขายง่าย

“เลี้ยงประมาณสามปี ปลาจะมีน้ำหนักตัวละหนึ่งกิโลกรัม สามารถนำไปขายได้เงินหลายหมื่นบาท”

2.หมูหลุม ก็เลี้ยงหมูนั่นแหละ แต่ด้านล่างจะขุดหลุมลึกประมาณ 90 เซนติเมตร แล้วใส่แกลบ ดิน ราดตามด้วยจุลินทรีย์ โดยแบ่งสัดส่วนให้เท่าๆกัน เพื่อย่อยสลายและดับกลิ่นมูลหมู นอกจากนี้ประโยชน์ของมูลหมูและรกหมูยังสามารถนำไปทำฮอร์โมนเร่งดอก ผล ใบ ที่ผ่านมาใช้ได้ดีกับต้นฝรั่ง

3.วัวหลุม แบบเดียวกับหมูหลุม ผลผลิตที่ได้นอกจากส่งเนื้อวัวไปขายแล้ว มูลวัวยังมีโปแตสเซียมที่สามารถนำไปผสมกับดินทำให้ดินดี อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับปลูกพืชให้ได้ผลดี

นายกธาดา ย้ำว่า อย่าได้ดูถูกตู้เย็นข้างบ้านเด็ดขาด เพราะก่อนที่จะหันมาทำการเกษตร เคยไปทำงานที่ต่างประเทศ กลับมามีเงินเก็บเป็นจำนวนมาก มีเงินก็ตั้งวงดนตรีทำธุรกิจ

“แต่หลังๆ หักค่าแรง ค่าจ้างต่างๆ จากงานแสดงแล้ว จะเหลือเงินก็แค่ไม่กี่พัน อีกทั้งปัญหาลูกน้องในวงก็ติดยา ทำให้ต้องตัดสินใจขายวงดนตรี และคิดว่าควรหันมาทำในสิ่งที่ใจรัก…มีความยั่งยืนในชีวิตมากกว่า”

การทำศูนย์เกษตรปลอดสารเกิดขึ้นได้เพราะใจรัก นอกจากนี้ยังต้องการแก้ปัญหาในชุมชนทั้งเรื่องการลดใช้สารเคมี รณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกผักไว้รับประทานเอง เพื่อลดรายจ่าย…เพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน

ที่ว่าอย่าดูถูกตู้เย็นข้างบ้าน…สะท้อนได้จากรายรับรายจ่ายหลังจากที่ทำการเกษตรปลอดสาร ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรเริ่มลดลง จากลงทุนไร่ละ 4,000 บาท ก็เหลือเพียงไร่ละ 1,000 บาทเศษๆ

ขายข้าวได้เกวียนละ 8,000-9,000 บาท ทำให้มีเงินเก็บในกระเป๋าอีกเพียบ อีกทั้งค่าใช้จ่ายภายในบ้านก็ลดลงด้วยเพราะไม่ได้จ่ายตลาดซื้อผัก ซื้อปลา หรือเนื้อหมูมาประกอบอาหาร เพียงแต่นำผลผลิตจากศูนย์เกษตรปลอดสาร…หรือเปิดตู้เย็นข้างบ้านเอามากินใช้ในครอบครัว

รายได้เพิ่มขึ้นมา…เพราะรายจ่ายลดลง

ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึงวันนี้ ทำให้รู้ ทำให้เห็น…ชาวบ้านดูแล้วกลับไปก็ทำเป็น สำเร็จได้ง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องลองผิดลองถูก ความสำเร็จรอบด้านเป็นผลให้ศูนย์เกษตรปลอดสาร หมู่ 5 ตำบลอุทัยเก่า ถูกยกเป็นตำบลสุขภาวะภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. และให้ศูนย์เกษตรปลอดสาร เป็นหนึ่งในศูนย์เรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งประจำตำบลอุทัยเก่า

นอกจากการทำการเกษตรปลอดสารเพื่อเป็นแนวทางให้ชาวบ้านตำบลอุทัยเก่าแล้ว นายกธาดา อำพิน ยังตั้งใจว่าจะพัฒนาให้ศูนย์การเกษตรปลอดสาร เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ ที่เข้ามาศึกษาดูงานเพื่อนำประสบการณ์จาก “ตู้เย็นข้างบ้าน” ไปปรับปรุงใช้กับการเกษตรที่อื่น

“ใครมาดูงานมาได้เลย ผมไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆทั้งนั้น เพียงเพื่อต้องการขยายความรู้สู่เกษตรกรหรือผู้สนใจในวงกว้าง”

“ตู้เย็นข้างบ้าน”…ศูนย์การเรียนรู้เกษตรปลอดสาร จะเป็นแหล่งรวมความรู้ด้านการเกษตรที่ไม่สิ้นสุด ผู้สนใจนำไปปฏิบัติได้อย่างกว้างขวางเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญอยากให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรด้วยตัวเอง

ธาดา อำพิน นายก อบต.อุทัยเก่า ฝากทิ้งท้ายว่า อยากให้คิดเสมอว่า ทำอย่างไรให้ตัวเองไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ทำอย่างไรครอบครัวถึงจะมีกินมีใช้ ไม่เป็นหนี้เป็นสิน และมีความสุข

ไม่เฉพาะคนที่มีพื้นที่มากๆเท่านั้นที่จะทำ “ตู้เย็นข้างบ้าน” ด้วยตัวเอง คนเมือง…มีพื้นที่น้อยๆก็ทำได้เริ่มจากทำเล็กๆก่อน ปลูกใส่กระถาง กะเพรา โหระพา ยี่หร่า พริก ผักเล็กๆน้อยๆที่ใช้บ่อยๆ เวลาจะใช้ทำกับข้าวก็ไม่ต้องซื้อ เท่ากับลดรายจ่ายไปในตัว

บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องขำๆ ซื้อกิน 10-20 บาทก็ได้แล้ว…แต่สิ่งที่ได้จาก “ตู้เย็นข้างบ้าน” อย่าลืมว่าไม่ใช่แค่ประหยัดลดรายจ่าย หากแต่เป็นการรักษาสุขภาพ ไม่รับสารเคมีที่มองไม่เห็นที่สะสมอยู่ในผักตลาด ภัยมืดนี้จะเห็นก็ต่อเมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาเท่านั้น

“ตู้เย็นข้างบ้าน” จึงเป็นตู้เย็นแห่งวิถีชีวิตที่ยั่งยืน เหมาะสำหรับเมืองไทย คนไทยจริงๆ…ยิ่งในยุคค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง แล้ว เชื่อมั่นได้ว่า…“ตู้เย็นข้างบ้าน” จะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง

         

 

 

ที่มา:  หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Shares:
QR Code :
QR Code