เปลี่ยนออฟฟิศธรรมดา เป็นบ้านที่น่าอยู่ด้วยแฮปปี้ 8
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
พื้นที่การทำงานที่เต็มไปด้วยภาวะความกดดัน และบรรยากาศเดิมๆ ที่ชวนให้ไม่อยากมาทำงานในทุกๆ ต้นสัปดาห์ คงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่หลายองค์กรกำลังเผชิญอยู่ ปัญหาที่สำคัญคือการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ คงไม่ใช่สิ่งที่ยากนัก หากทุกองค์กรรู้จัก HAPPY WORK PLACE องค์กรแห่งความสุข 8 ประการ ที่จะเปลี่ยนออฟฟิศธรรมดา ให้เป็นบ้านที่น่าอยู่
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร ร่วมกับ 7 องค์กรต้นแบบด้านการเป็นองค์กรแห่งความสุข ได้แก่ บริษัทผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด, บริษัท เจ.เอช.อุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท ริกิ การ์เม้นส์ จำกัด, บริษัท แม่น้ำสแตนเลสไวร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด และ บริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดงาน Happy Workplace Forum แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ เพื่อต่อยอดการสร้างองค์กรและความสุข ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนักสร้างองค์กรแห่งความสุข จัดตั้งศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่ง ความสุข ถ่ายทอดความรู้ทั้งด้านวิชาการและด้านการปฏิบัติ รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาดูงานในภูมิภาคต่างๆ ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ประธานในการเปิดงานกล่าวถึง ลักษณะขององค์กรแห่งความสุขที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ว่า การขับเคลื่อนให้องค์กรต่างๆ เป็นองค์กรแห่งความสุขนั้น ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สสส.ผลักดันและสนับสนุนจนเกิดผลสำเร็จ มีหลายองค์กรนำไปประยุกต์ใช้และเกิดผล ในขณะเดียวกันมีอีกหลายๆ องค์กรที่ให้ความสนใจ HAPPY WORKPLACE ซึ่งการสร้างความสุขในที่ทำงาน นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารองค์กร
"หากเปรียบองค์กรเป็นบ้านหลังหนึ่ง การเตรียมคน การเตรียมพื้นที่ทำงาน คือการสร้างบ้าน ทำอย่างไร ที่จะทำให้บ้าน คือที่ทำงาน และในทุกๆ วันจันทร์ พนักงานอยากมาทำงาน ซึ่งปัจจุบันนี้ โลกนำเราไปสู่ การดูแล "คน" มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ลูกค้าก็อยากใช้บริการองค์กรที่มีความสุข ดังนั้น องค์กรสุขภาวะจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะสามารถ เตรียมคนให้มีความพร้อม ในการทำงานที่ดีและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความยั่งยืนขององค์กรเช่นกัน"
โดยกิจกรรมภายในงาน HAPPY WORK PLACE องค์กรแห่งความสุข ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ช่วงเช้าเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "การกำหนดเป้าหมายของการสร้างองค์กรแห่งความสุขและ การขับเคลื่อนแผนการจัดการกับปัญหาอุปสรรคของการสร้างองค์กรแห่งความสุข" โดยศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่งความสุข 7 แห่งข้างต้น และช่วงบ่าย CoP สร้างสุข (Community of Practice หรือชุมชนนักปฏิบัติสร้างสุข) โดยเป็นการเสวนาในมิติต่างๆ เกี่ยวกับองค์กรแห่งความสุข
สิ่งที่น่าจับตามอง ไม่เพียงแต่ลักษณะขององค์กรหรือรูปแบบการสร้างองค์กรแห่งความสุขเพียงเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึง การจัดองค์กรแห่งความสุขให้ประสบผลสำเร็จท่ามกลางความหลากหลายด้านเชื้อชาติ นับว่าเป็นการทำงานที่ท้าทาย และมีความเสี่ยงมากที่สุด โดยคุณธัญลักษณ์ บุญประคอง เจ้าหน้าที่แผนกพัฒนาบุคลากร บริษัทสงขลา แคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทที่นำองค์กรสู่ HAPPY WORK PLACE องค์กรแห่งความสุข อธิบายถึง วิธีการและอุปสรรคในการจัดการ องค์กรแห่งความสุขให้ครอบคลุมทั้ง HAPPY 8 ประการ ซึ่งได้แก่ Happy Body, Happy Heart, Happy Relax, Happy Brain, Happy Soul, Happy Money และ Happy Society ว่า ทรัพยากรด้านคน เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ปัจจุบันทางทางองค์กรเองยังไม่สามารถใช้เครื่องจักรมาทดแทนคนได้ทั้งหมด ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะพัฒนาให้คนมีความพร้อมและมีความสุขในการทำงาน ทั้งนี้ ภายในองค์กร ประกอบด้วย 3 สัญชาติ คือ ไทย พม่า และกัมพูชา จึงมีความจำเป็นต้องจัดกิจกรรมต่างๆ ให้เท่าเทียมกัน เพื่อความสมดุลทางอำนาจ และการบริหารที่ดีมากขึ้น
"เราพบปัญหาในพนักงานระดับปฏิบัติการ เช่น เจอโรคที่เกิดจากการทำงาน เนื่องจากพนักงาน ยืนท่าเดิมๆ และได้รับบาดเจ็บ เมื่อพนักงานลา ทำให้สินค้าที่ผลิตมีจำนวนลดลง นี่คือปัญหาที่เราสนใจและเริ่มนำหลักองค์กรแห่งความสุขเข้ามาบูรณาการ โดยมีการวิเคราะห์จากปัญหาที่เกิดขึ้น และจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อตัวพนักงานให้มากที่สุด เช่น ทางองค์กรได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีพนักงานไปเก็บพืชผักของชาวบ้านในชุมชนมาประกอบอาหาร เราจึงแก้ปัญหาโดยจัดกิจกรรมปลูกผักสวนครัวยังชีพและสร้างรายได้เพื่อลดปัญหาดังกล่าว กิจกรรมทางศาสนา องค์กรได้จัดพื้นที่สำหรับประกอบพิธีทางศาสนาต่างๆ ภายในบริเวณองค์กร โดยมีทั้ง พิธีกรรมทางพุทธ และอิสลาม โดยมีผู้บริหารเข้าร่วมทุกครั้ง กิจกรรมด้านสุขภาพ มีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคที่เกิดจากการทำงาน กิจกรรมต้นกล้าอาชีพสนับสนุนอาชีพและรองรับอาชีพหลังเกษียณอายุการทำงาน เช่น การสอนทำอาหารและงานฝีมือ กิจกรรมการออมเงิน โดยการสนับสนุนจากธนาคารออมสินมารับฝากเงินที่องค์กร รวมไปถึงส่งเสริมให้พนักงานเปลี่ยนเงินกู้นอกระบบเป็นเงินกู้ในระบบรวมทั้งให้ความรู้ในเรื่องของการบริหารเงิน เป็นต้น และยังมีอีกหลากหลายกิจกรรมที่ล้วนส่งผลดีต่อทั้งตัวพนักงานเองและองค์กร ทั้งนี้ ทางองค์กรพยายามที่จะจัดกิจกรรมให้ครอบคลุมและพร้อมกันทั้ง 3 สัญชาติ และทุกๆ ปี มีการประเมินความสุขตามแบบฟอร์มของ สสส. และพบว่า ผลเป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งคุณภาพชีวิตของพนักงานในองค์กรก็ดีขึ้นตามลำดับ"
นอกจากนี้ วัฒนธรรมองค์กร ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญที่หลายองค์กรควรร่วมกันสร้างขึ้นมาและปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน โดยคุณธีร์ธรรม วุฑฒิวัตรชัยแก้ว นักวิชาการศูนย์องค์กรแห่งความสุข กล่าวว่า ค่านิยมองค์กร เป็นพฤติกรรมใหม่ๆ ที่ทางองค์กรอยากให้ร่วมมือกันปฏิบัติ ทั้งนี้ องค์กรต้องปรับเปลี่ยน และคัดเลือกคนให้เหมาะสมกับองค์กร ซึ่งส่วนนี้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ
ความสุข และรอยยิ้มจากการทำงาน คงหา ได้ยาก หากองค์กร ขาดกิจกรรม ขาดการชื่นชม และให้กำลังใจในการเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน เชื่อแน่ว่า ทั้ง 7 องค์กรต้นแบบ HAPPY WORK PLACE องค์กรแห่งความสุข จะสร้างแรงบันดาลใจและแนวทางให้องค์กรอื่นๆ นำไปปรับใช้ เพื่อสร้างพื้นที่การทำงาน ที่เป็นบ้านอีกหลังของใครหลายๆ คน ให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น