เปลี่ยนองค์กรเป็น “บ้าน” สร้างสุขคนทำงาน

          คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เวลาชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ โดยมากจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ทำงานนานนับ 10 ชั่วโมง…  


/data/content/24612/cms/e_adfgimrs1389.jpg


          ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวทีสัมมนาวิชาการเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ Happy Workplace Forum 2014 ครั้งที่ 1 เพื่อเชิญชวนให้ทุกองค์กรมาร่วมคิดร่วมสร้างวางรากฐานองค์กรแห่งความสุข เตรียมรับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า


          ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวในหัวข้อเรื่อง “สถานที่ทำงานในอีก 20 ปีข้างหน้าควรเป็นอย่างไร” ว่า พนักงานทุกคนอยากทำงานอยู่ในองค์กรที่ทำให้เกิดความสุขกายสบายใจ และเมื่อใดที่พนักงานมีความสุข ผลผลิตของความสุขย่อมเกิดขึ้นตามลำดับ ซึ่งสถานที่ทำงานในอนาคต ขนาดจะเล็กลง และเกิดสำนักงานเสมือนจริงบนเครือข่ายสารสนเทศมากขึ้น


          แต่แม้ว่าสถานที่ทำงานจะเล็กลง สถานที่นั้นก็ยังจะต้องถูกออกแบบให้ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ เพราะสังคมไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุในอีกไม่ช้า


          “มีแนวโน้มว่าขอบเขตในการจ้างงานจะลดลง เพราะภาคการผลิตที่ใช้แรงงานจำนวนมาก งานที่เป็นอันตรายหรือส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์จะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมืออนาคตด้วยการสร้างฐานทรัพยากรมนุษย์ให้เข้มแข็ง ทั้งในส่วนของแรงงานที่ต้องใช้ทักษะ และแรงงานความคิด /data/content/24612/cms/e_bejmnoqruvx5.jpg


โดยผู้บริหารจะต้องเป็นผู้นำที่ดีในองค์กร เพื่อให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้นเรื่อยๆในขณะเดียวกัน ทรัพยากรบุคคลในประเทศนอกจากจะต้องเข้มแข็งทั้งความรู้ ศักยภาพ และสติปัญญา จะต้องมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมอีกด้วย โดยโครงสร้างทางกายภาพของสถานที่ทำงานจะสอดคล้องกับโครงสร้างทางกายภาพของคนทำงาน ที่ทำงานจะต้องเป็นที่ที่มีความสุข หากที่ทำงานไม่มีความสุขจะมีผลทั้งคุณภาพของงาน สภาพจิตใจของผู้ทำงาน จนกระทั่งกระทบถึงสังคม” ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว


         


          นอกจากนี้  ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คุณสมบัติและลักษณะของคนทำงาน อีก 20 ปีข้างหน้า “การคัดเลือกคนเข้าทำงานจะอยู่บนฐานของความสามารถในการทำงาน” ผลการเรียนไม่สำคัญเท่าความรู้ ทักษะ และพฤตินิสัยที่จำเป็นต่อการทำงานของแต่ละบุคคล โดยผลตอบแทนจะไม่ได้วัดจากผลของงานที่ปรากฏออกมา แต่เป็นวิธีวัดจากคุณภาพงาน


          “สำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคลากรในที่ทำงาน จะสามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดกิจกรรมสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงานมาใช้ประโยชน์ เช่น งานจิตอาสา งานช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำธรรมะมาหลอมรวมจิตใจของพนักงานในองค์กร เป็นต้น”


          ทั้งนี้ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ย้ำว่า สภาพแวดล้อมทางกายภาพของสถานที่ทำงาน จะต้องเพิ่มระบบการดูแลและป้องกันที่ได้มาตรฐาน และต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อชุมชน และพื้นที่โดยรอบสถานที่ทำงานด้วย และหากเป็นไปได้ ควรทำให้องค์กรเป็นเสมือน “บ้าน” ที่ทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เพราะเมื่อพนักงานมีความสุข คุณภาพของงานก็จะมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน


 


         


          เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th


             ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code