เนคเทคทำแอพฯ วัดความเร็วรถ บอกพิกัดความปลอดภัย
จากสภาพทางเศรษฐกิจที่บีบรัด บวกราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น การโดยสารด้วย “รถโดยสารสาธารณะ” แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว จึงเป็นทางเลือกลำดับต้นๆ สำหรับคนที่มีรายได้น้อย แต่เมื่อผู้ใช้มากขึ้น การหวังผลในกำไรของผู้ประกอบการก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว จนบางครั้งมักละเลยในความปลอดภัยของผู้โดยสาร
ดังภาพที่ฉายซ้ำตามสื่อต่างๆ ถึงการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่คนขับหลับใน กรณีการแซงปาดขับแข่งกันเพื่อแย่งผู้โดยสาร กรณีคนขับเมาสุรา รวมไปถึงความประมาท จนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินตามมา
จากผลสถิติการเกิดอุบติเหตุจราจรทางบก ในเขตพื้นที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตั้งแต่ตุลาคมปี 2552 – กันยายนปี 2553 พบว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 8 พันคน บาดเจ็บสาหัสกว่า 6 พันคน และมูลค่าเสียหายต่อทรัพย์สินรวมกว่า 2 พันล้านบาท ทั้งนี้สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะซึ่งประกอบด้วย รถแท็กซี่ รถตู้โดยสาร รถโดยสารขนาดใหญ่ พบว่า มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นอันดับที่ 3 รองจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ และรถยนต์นั่งตามลำดับ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี
ด้วยการเล็งเห็นถึง “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ต่อมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ใช้รถสาธารณะ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สำนักงานกองทุนสนันสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมจัดเวทีเสวนาย่อยในหัวข้อ “ความร่วมมือเพื่อความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ” ณ ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา กับงานสัมมนาระดับชาติความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 10 โดยมีตัวแทนจาก หน่วยงานราชการ นักวิชาการ เครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมวงเสวนา เพื่อให้เกิดความตื่นตัวของผู้บริโภคในการเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังด้านความปลอดภัย รวมถึงการแนะนำการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการลงโทษผู้กระทำผิด ภายใต้สโลแกน “ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง”
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า การเฝ้าระวังอุบัติเหตุจากเครือข่ายที่เป็นผู้บริโภคถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะลำพังหากจะพึ่งเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเรื่องกำลังคน อาจยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ และการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่ว่านี้ ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมของคนขับเป็นสำคัญ ทั้งเรื่องเมาสุรา ความคึกคะนอง การใช้ความเร็วเกินพิกัด รีบเร่งแซงเพื่อแย่งผู้โดยสาร
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการปรับเปลี่ยนที่นั่งรถโดยสารเกินพิกัด อย่างเช่น รถตู้ จากเดิมพิกัดอยู่ที่ 14 ที่นั่ง ดัดแปลงเป็น 16-17 ที่นั่ง เกิดความแออัด การมีเข็มขัดนิรภัยไว้บริการทุกที่นั่ง รวมถึง การใช้วาจา ท่าทีที่ไม่สุภาพต่อผู้ใช้บริการ สิ่งเหล่านี้จึงจัดอยู่ในกลุ่ม “รถโดยสารอันตราย” เกิดความเสี่ยงต่อผู้ใช้บริการ
หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค กล่าวต่อว่า จากความเสี่ยงของผู้ใช้บริการ จึงก่อเกิดแนวคิดในการรวมตัวเป็น “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” ที่มาจากเครือข่ายภาคประชาชนทั่วทั้งประเทศ มีภารกิจในการเฝ้าระวังการเกิดอุบัติเหตุในรูปแบบต่างๆ จากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะอาทิ การสำรวจภายในรถโดยสารสาธารณะว่า มีอุปกรณ์ความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น มีถังดับเพลิงอยู่ภายในหรือไม่ มีที่รัดเข็มขัดนิรภัยที่พร้อมใช้แค่ไหน รวมถึงการตรวจจับความเร็วของรถ ผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ว่าเกินพิกัดความเร็วต่อความปลอดภัยหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีการทดลองนั่งรถโดยสารจากสถานีขนส่งต่างๆ เช่น หมอชิต หรือขนส่งสายใต้ว่า การบริการอยู่ในระดับมาตรฐานหรือไม่ หากพบความผิดปกติ เครือข่าย “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” ที่ว่านี้จะแจ้งมายังเครือข่ายกลาง เพื่อส่งข้อมูลต่อไปยังหน่วยงานรัฐ เพื่อนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป
นายเฉลิมพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากการดำเนินการของเครือข่าย “หน่วยพิทักษ์รถโดยสารปลอดภัย” ยังได้เชิญชวนประชาชนทั่วไปมาร่วมเป็นเครือข่าย โดยหากพบว่า รถของสถานประกอบการใด ให้บริการไม่ได้มาตรฐาน สามารถแจ้งข้อร้องเรียนมาที่ 1584 และให้โทรมาที่หมายเลข 02-2483-737 มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นการสะสมแต้ม เพราะการแจ้งทุกๆ 1 ครั้ง จะมีแต้มสะสมให้ 5 คะแนน หากได้แต้มครบ 25 คะแนน จะได้ถุงผ้าลดโลกร้อนเป็นของสมนาคุณ หรือหากสะสมครบ 50 แต้ม จะได้เสื้อยืดอย่างดีไปสวมใส่ คือนอกจากจะได้ประโยชน์ในความปลอดภัยแล้ว ยังได้ของสมนาคุณด้วย
ด้าน นายเฉลิมพล สายประเสริฐ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (nectec) เสริมว่า ขณะนี้ทาง nectec ได้ลงโปรแกรมการตรวจจับความเร็วโดยมือถือ ซึ่งผู้ที่ใช้มือถือ “สมาร์ทโฟน” สามารถดาวน์โหลดฟรีได้ที่ www.traffy.in.th ซึ่งเครื่องนี้จะบอกพิกัดความปลอดภัยว่า มาตรฐานควรอยู่ที่กี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง เช่น หากเกิน 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะเกิดแถบสีสีแดง หากอยู่ในระดับการระวังก็จะเป็นแถบขึ้นเป็นสีเหลือง หรือถ้าขึ้นเป็นแถบสีเป็นสีเขียวก็จะอยู่ในระดับความปลอดภัย
ขณะที่ นายประกาศ สังข์บุญลือ ผู้ตรวจการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก ยังเผยด้วยว่า กรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับคนขับรถ และผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะทำผิดกฎหมายความปลอดภัยนั้น การที่จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษค่อนข้างมีปัญหา มีทั้งเรื่องผู้ร้องเรียนจดเลขทะเบียนไม่ครบ หรือจดผิด หรือว่าจำไม่ได้ เราก็ไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ หรือถ้าจับได้ เขาก็จะยืนยันว่าไม่ได้ทำ อย่างเช่น การไม่พกถังดับเพลิงไว้ในรถ เพราะเราไม่มีหลักฐาน จึงขอความร่วมมือไปยังผู้ใช้บริการให้จดหมายเลขให้แม่นยำ หรือถ้าสะดวกก็ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินคดี
ผู้ตรวจการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การจับกุมผู้กระทำผิดที่ว่านี้ ถือเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เราต้องมุ้งเน้นที่ต้นเหตุของปัญหา โดยเฉพาะการยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเราจะดูว่า ในองค์กรนั้นมีการบริหารการจัดการอย่างไร ซึ่งขณะนี้มีการให้คะแนนเพื่อเป็นดัชนีชี้วัด หากแต้มไม่ถึงเราก็จะไม่พิจารณาให้ใบอนุญาต
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน