`เท่งเสื้อส้ม` พลังชุมชน พึ่งตน พ้นภัย

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


'เท่งเสื้อส้ม' พลังชุมชน พึ่งตน พ้นภัย thaihealth


เสียงจากคนอำเภอชะอวด เมืองคอน  ท่วมบ้านผมครั้งนี้ "น้ำท่วมหนักที่สุดเท่าที่เคยเจอมาในชีวิต" โกเมศร์ ทองบุญชู ในชุดอาสาสมัครเสื้อส้ม เล่าถึงภัยพิบัติในบ้านเกิดที่กลายเป็นข่าว ทั่วประเทศ บางพื้นที่มีน้ำท่วมสูงถึง 3 เมตรแม้แต่ผู้เฒ่าผู้แก่วัย 94 ยังบอกว่า ไม่เคยมีน้ำท่วมครั้งไหนหนักเท่าครั้งนี้


แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะสาหัสสากรรจ์แค่ไหน ภาพที่เกิดขึ้นกลับเป็นความเข้มแข็ง ของอาสาสมัครภาคประชาชนในพื้นที่ลุกขึ้นมา ช่วยเหลือพึ่งพาตนเองในยามวิกฤติ โดยเหล่ากองกำลังอาสาฯ เครือข่ายจัดการ ภัยพิบัติภาคใต้ ที่เรียกตัวเองว่า "เท่งเสื้อส้ม" "วิกฤติครั้งนี้ เราเริ่มจากการช่วยเหลือตัวเองก่อน รอหน่วยงานไหนไม่ได้หรอกครับ เพราะสะพานขาด คืนนั้นมีทั้งคนที่เกาะ เสาไฟฟ้า ติดอยู่บนหลังคาบ้าน อาสาสมัครในพื้นที่จึงต้องใช้ความสามารถ วิชาความรู้ที่ฝึกฝนมาช่วยเหลือคนออกมาให้ได้"


หลายคืนติดต่อกันที่แกนนำ ชุดปฏิบัติการ "เท่งเสื้อส้ม" อย่างโกเมศร์ พร้อมเหล่าอาสาฯ ไม่ได้หลับได้นอน ทำงานเป็น "ศูนย์หน้า" เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับส่วนราชการจังหวัด และทุกภาคส่วน น้ำท่วมอำเภอชะอวดครั้งนี้หนักกว่าทุกครั้ง เพราะฝนที่กระหน่ำลงมาทั้งในพื้นที่ตัวอำเภอ และพื้นที่โซนต้นน้ำที่ไหลกลายเป็นน้ำป่า มาผสมโรงกับน้ำในลำห้วยเดิมที่ล้นตลิ่งอยู่แล้ว น้ำที่ไหลท่วมบ่ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนตั้งหลักกันแทบไม่ทัน เส้นทางหลายแห่งถูกตัดขาด ต้องใช้เรือล่องผ่านกระแสน้ำท่วมหลาก บางภารกิจต้องใช้เวลายาวนานถึง 12 ชั่วโมง กว่าเสบียงอาหารและความช่วยเหลือจะฝ่าเข้าไปถึง


สำหรับโกเมศร์แล้ว นี่ไม่ใช่ภารกิจครั้งแรกของอดีตทหารฝูงบินกองทัพเรือ  ในสนามภัยพิบัติเขาเคยผ่านมาแล้วตั้งแต่ งานหนักๆ อย่างสึนามิถล่มภาคใต้ เหตุการณ์ ครั้งนั้นคร่าชีวิตเพื่อนของเขาที่เคยทำงานร่วมกันในเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง ภาคใต้ เสียชีวิตยกครอบครัวทั้ง 7 ศพจากภัยพิบัติสึนามิ ปลายปี 2547 ตามมา ติดๆ ด้วยมหาอุทกภัยภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ในปี 2548 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลัง คนใต้อย่างโกเมศร์ และจิตอาสาจากหลายจังหวัด รวมตัวกันเป็น "เครือข่ายจัดการ ภัยพิบัติภาคใต้"


จากงานที่เริ่มกันด้วยใจ เริ่มยกระดับสู่การเป็น "ระบบการจัดการอาสาสมัคร" เมื่อได้รับการหนุนเสริมจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในช่วงปี 2554-2556 ผ่านโครงการพัฒนาระบบการจัดการภัยพิบัติโดยพลังสังคม พื้นที่ภาคใต้


'เท่งเสื้อส้ม' พลังชุมชน พึ่งตน พ้นภัย thaihealth


โกเมศร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายจัดการภัยพิบัติภาคใต้ เล่าว่า ก่อนหน้านั้น ทีมงานยังทำงานกันอย่างไม่มีระบบ จนเมื่อได้รับการหนุนเสริมจาก สสส.จึงเป็นก้าวที่ นำไปสู่การทำฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและชุดความรู้ ภูมิปัญญาเพื่อการอยู่รอดในภาวะภัยพิบัติ จัดอบรมสร้างกำลังอาสาสมัครภาคประชาชนจำนวนกว่า 2,000 คน จัดตั้งศูนย์จัดการภัยพิบัติระดับตำบลกว่า 40 ศูนย์ กระจายในพื้นที่เสี่ยงภัยหลายจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส หลังปี 2556 เครือข่ายจัดการ ภัยพิบัติภาคใต้ ก้าวสู่การยืนหยัดด้วย ตัวเองอย่างเต็มตัว ภาษาคนทำงาน ภัยพิบัติอย่างโกเมศร์เรียกว่า "ขอถอดสายน้ำเกลือออก"


3 ปีมาแล้วที่เครือข่ายฯ เดินได้ด้วยพลังของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งทุนสนับสนุนจากที่อื่น มีการตั้งกองทุนของ ตัวเอง โดยบริหารจัดการผืนดินที่รกร้างใน พื้นที่ชุ่มน้ำปากพนังให้กลายเป็นนาข้าวกว่า 400 ไร่ สามารถสร้างรายได้จากการขายข้าวได้ถึงปีละ 2-3 ล้านบาท มีโรงสีชุมชนของตัวเอง กำไรที่ได้ทำให้สามารถพึ่งพาตัวเอง และมีเงินทุนซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ใช้ร่วมกันในเครือข่าย


นอกจากนี้ ยังมีทีมอาสาสมัครชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วอีก 100 คนที่ผ่านการ ฝึกฝน สามารถรับมือภัยพิบัติทุกรูปแบบ  ไม่ว่าจะเป็นดินถล่ม แผ่นดินไหว น้ำป่า ไหลหลาก และพายุ


"น้ำท่วมกรุงเทพฯ แผ่นดินไหวที่เชียงใหม่ ก็ทีมนี้แหละครับไปช่วยกัน" นี่คือน้ำใจของเหล่าอาสาที่พร้อมลุยให้ความช่วยเหลือในทุกสถานการณ์ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หลังจากไปช่วยคนอื่นมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ วันนี้ ถึงคราวเกิดเหตุที่พวกเขาต้องกลับมาช่วยบ้านเกิดตัวเองบ้าง


"เรามีทั้งชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว รวมถึงการฝึกอาสาสมัครประจำพื้นที่ในแต่ละตำบลช่วยเหลือกันเองในชุมชน เกือบ 2 พันคน อาสาฯทุกคนมีทักษะในการ ช่วยชีวิตเบื้องต้น อพยพคนได้ ใช้วิทยุสื่อสาร และขับขี่เรือได้ เป็นจราจรอากาศยานได้ นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติที่ผ่านการฝึกฝนไว้กว่า 400 คน  ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ พวกเขาก็มาช่วยเรา"


'เท่งเสื้อส้ม' พลังชุมชน พึ่งตน พ้นภัย thaihealth


โกเมศร์ เล่าความประทับใจว่าเหตุการณ์ ภัยพิบัติครั้งนี้ ทำให้เขาได้เห็นถึงพลังของความเป็นเครือข่าย ท่ามกลางน้ำท่วมใหญ่ ยังมีน้ำใจจากหมู่มวลมิตรต่างพื้นที่


"ลำพังแค่กำลังคนชะอวดอย่างเดียว เราอาจรับมือได้ไม่เท่านี้ ต้องขอบคุณ ความเป็นเครือข่ายที่มาช่วยกันจากทุกที่  วันนั้น ถ้าไม่ได้พี่น้องจากหาดใหญ่ส่งเจ็ตสกี มาช่วยขนคนออกมาได้ทัน ชะอวดคงได้เป็นข่าวเพราะมีคนเสียชีวิต"


"เครือข่ายเราบางคนขับรถมาเองเลย เอาเครื่องไม้เครื่องมือมาช่วยเท่าที่มี อบต.ปริก สงขลา ส่งข้าวเหนียวไก่ทอดมาให้เรา 700 ห่อ มีข้าวจากสุรินทร์ 3 ตันที่กำลัง เดินทางมา บางเครือข่ายให้หมูเรามาเป็นตัวเลยนะครับ คุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ส่งชูชีพ ส่งวิทยุสื่อสารมาช่วยเราทันที นอกจากนี้ ยังมีภาคีเครือข่ายสสส.ที่ช่วยกันกระจายข่าว ส่งต่อความช่วยเหลือ" แกนนำ "เท่งเสื้อส้ม" เล่าต่อ


และบอกว่า สถานการณ์ครั้งนี้ น้ำท่วมพร้อมกันในหลายพื้นที่ ทำให้เรือที่มีรวมกัน 50-60 ลำ และเครื่องไม้เครื่องมือที่ตั้งกองทุนซื้อไว้ มีไม่เพียงพอ


"เมื่อก่อนถ้าน้ำท่วมบ้านผม ยังได้จังหวัดอื่นมาช่วย เพราะบ้านเขาคงไม่ท่วม แต่ครั้งนี้โดนกันพร้อมหน้า ทั้งชุมพร  ตรัง ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ส่วน  3 จังหวัดชายแดนใต้ยิ่งโดนหนัก ต่างคนต่างให้กำลังใจกัน เรือ เสื้อชูชีพ และวิทยุสื่อสาร 3 อย่างนี้ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ยังมีไม่เพียงพอนอกจากนี้ยังมีผ้าอ้อมเด็ก ผ้าอนามัย ที่ยังขาดแคลน"


'เท่งเสื้อส้ม' พลังชุมชน พึ่งตน พ้นภัย thaihealth


เสียงสะท้อนหนึ่งที่น่าคิดจาก คนทำงานอย่างโกเมศร์ เขาพบว่าทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติ ทันทีที่ถนนวิ่งได้ จะเห็น รถบรรทุกขนข้าวของมาช่วยมากมาย  ซึ่งต้องชื่นชมน้ำใจ แต่การให้อย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความต้องการอาจกลายเป็นภาระ การหยิบยื่นน้ำใจที่ดีที่สุดจึงควรสอบถามและรับฟังข้อมูลของคนในพื้นที่


"ตอนนี้ ภารกิจที่ชะอวดเริ่มคลี่คลายแล้ว เราเตรียมโยกทีมส่วนหนึ่งไปทำงานในพื้นที่อื่นๆ ตั้งแต่เซียรใหญ่ หัวไทร ปากพนัง  ไปจนถึงสงขลา เพราะน้ำไปแน่ๆ ภารกิจ น้ำท่วมใต้คราวนี้ยังไม่รู้ว่า 2 เดือนจะจบหรือไม่ หมดจากน้ำท่วม วิกฤติที่จะตาม ต่อมาแน่นอน คือ น้ำแล้ง"


ในมุมมองของผู้ประสานงานเครือข่ายจัดการภัยพิบัติภาคใต้ หลังจบวิกฤติน้ำท่วมภาคใต้ครั้งนี้ คงต้องถอดบทเรียนกันอีก ครั้งใหญ่ถึงสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันที่ ไม่เคยเกิดขึ้นเช่นนี้มาก่อน ในภาพใหญ่ คงต้องมีการถกกันถึงหน่วยงานวิชาการ ซึ่งยังมีการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างแยกส่วน


ขณะที่ในส่วนท้องถิ่นคงต้องปลุก ให้ผู้นำและชาวบ้านให้ความสำคัญกับ การเตรียมพร้อมรับมือมากขึ้น เพราะแน่นอนว่า จากนี้ไป ภัยพิบัติจะเป็นความเสี่ยงที่อยู่คู่กับเราโดยยากจะหลีกเลี่ยง


"ยุคนี้ ยากที่จะคาดการณ์ และคงห้ามภัยพิบัติไม่ให้เกิดไม่ได้ ภัยพิบัติมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และรุนแรงขึ้น หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรจึงจะสามารถเตรียมพร้อม ปรับตัวรับมือ อยู่กับภัยพิบัติให้ได้ เพื่อสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบา เสียหายให้น้อยที่สุด นี่เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกัน"  โกเมศร์ ฝากเอาไว้ทิ้งท้าย


เพราะการพึ่งพาตนเองในยามภัยพิบัติ คือ สิ่งที่จำเป็นที่สุด คนในชุมชนที่ประสบภัยเท่านั้นที่จะช่วยเหลือตนเองได้ก่อนที่ความช่วยเหลือจากภายนอกจะมาถึง


คำถาม คือ วันนี้ ชุมชน ท้องถิ่น ภาครัฐ รวมทั้งเราทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญกับเรื่องนี้มากพอหรือยัง ?


'เท่งเสื้อส้ม' พลังชุมชน พึ่งตน พ้นภัย thaihealth


หมายเหตุ :ผู้ใดประสงค์ร่วมช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้ที่ประสบภัยในอำเภอชะอวดและพื้นที่ใกล้เคียง ผ่านทาง ผู้ใหญ่โกเมศร์-กำนันเพ็ญศรี ทองบุญชู สามารถโอนเงินได้ผ่านช่องทาง ดังนี้


1) บัญชีกองทุนอาสาทำดีเพื่อชุมชนธนาคารกรุงไทย สาขางามดูพลีประเภท ออมทรัพย์เลขที่บัญชี 983-9-75285-5  2) บัญชีนางสาวเกศิณี ทองบุญชู ธนาคารกรุงไทย สาขาชะอวดประเภท ออมทรัพย์เลขที่บัญชี 822-0-45104-1

Shares:
QR Code :
QR Code