เที่ยวไป..ดื่มไป สนุกร่วมกับมัจจุราช
ผนึกกำลังรณรงค์ปั๊มทั่วไทยปลอดเหล้ารับปีวัว
ผู้เขียนเคยจอดรถถามตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนท้องถนน เพื่อให้คนขับรถรักษาวินัยการจราจร และเพื่อตักเตือนไม่ให้คนขับรถประมาท เพื่อจะได้ถนอมชีวิตของตัวเองเอาไว้ให้ยาวนาน ได้รับคำตอบว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ผู้เสี่ยงกีบความตาย มีอารมณ์ร่วม และร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างเต็มอกเต็มใจ ได้ยินแล้วก็สะท้อนใจและเห็นใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจริงๆ
วันนี้ พรุ่งนี้และภายในอาทิตย์นี้ เทศกาลวันส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ก็เวียนมาบรรจบกันอีกหนึ่งครั้งในหนึ่งปี บรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรก็คงต้องปฏิบัติภารกิจเหมือนเดิม เพื่อคอยปกป้องชีวิตของผู้จับขี่รถบนท้องถนนให้เดินทางโดยปลอดภัย
ไม่เพียงแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติการบนท้องถนนเท่านั้น แม้แต่องค์กรต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ ญาติโกโหติกาของผู้ขับขี่รถ ก็ยังอดเป็นห่วงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ได้
สสส.-สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ-สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้ร่วมมือกันผนึกกำลังกับอีก 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ รณรงค์รับปีวัว “เดินทางปลอดภัย ปั๊มทั่วไทยปลอดเหล้า” กันอย่างจริงจัง ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
มีสถิติตัวเลขที่ถูกบันทึกเอาไว้ว่า ช่วงเวลาปีใหม่ ผู้คนบนท้องถนนถูกคร่าชีวิตปีละ 87 รายต่อวันมากกว่าช่วงปกติ 2.5 เท่า โดยองค์การอนามัยโลกยืนยันว่า สาเหตุมาจากปั๊มน้ำมันเปิดให้การบริหารขายเหล้าแก่ผู้สัญจร เลยทำให้คนที่ใช้รถใช้ถนนเพลิดเพลินเจริญใจในการขับไปดื่มไป จนต้องพบกับอุบัติเหตุเสียชีวิต
จึงฝากบอกมายังปั๊มน้ำมันทั้งหลายเหล่ให้งดการขายเหล้า เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุและยังได้บอกต่อไปอีกด้วยว่า คนขับรถที่หยุดดื่มในปั๊มหรือปั๊มขายเหล้าให้แก่คนขับรถนั้น มีความผิดโทษจำคุก 6 เดือนหรือปรับ 1 หมื่นหรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งสถิติจากการสำรวจพบว่ายอดฝ่าฝืนห้ามขายเหล้าในปั๊มมากสุด ดังนั้นกรมธุรกิจพลังงาน จึงหวังที่จะให้ ปั๊มน้ำมันที่มีมากกว่าหมื่นแห่ง ร่วมมืองดขายเหล้า เบียร์
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผอ.สำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงหลัก กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมากกว่าช่วงปกติถึง 2.5 เท่า คือ เฉลี่ย 87 รายต่อวัน และ 35 รายต่อวันในช่วงปกติ
โดยมีคดีอุบัติเหตุจราจรที่เกิดจากการดื่มสุรา มากกว่าเวลาอื่นถึง 76.9% ดังนั้นการลดการดื่มสุราในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว การไม่ดื่มแล้วขับรถ จะช่วยลดอุบัติเหตุให้น้อยลง หรืออยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติได้
“องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า มาตรการทางภาษี และการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ให้ประชาชนหาซื้อเหล้าได้ยากขึ้น จำกัดการบริโภคในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง เป็นสองมาตรการที่มีประสิทธิผลและคุ้มค่าสูงที่สุด ซึ่งการห้ามจำหน่าย ห้ามดื่มในปั๊มน้ำมันมีจะช่วยลดปัญหาได้ทางหนึ่ง แม้นักดื่มจะยังสามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมไว้ได้ แต่ผลการศึกษา เรื่องการหยุดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันเสาร์ของประเทศนอร์เวย์ ยืนยันได้ว่ามาตรการจำกัดการขายมีผลต่อนักดื่มเป็นกลุ่มที่ดื่มหนักและต่อเนื่อง” ผศ.ดร.สุปรีดา กล่าว
ดร.สุปรีดา กล่าวอีกว่า การห้ามขาย ห้ามดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปั๊มน้ำมัน เป็นมาตรการสำคัญที่จะจำกัดการเข้าถึง และมีความสำคัญยิ่งในช่วงเทศกาลหยุดยาว ที่ผู้คนต้องเดินทาง ซึ่งส่วนใหญ่มีปั๊มน้ำมันเป็นเพื่อนตลอดการเดินทาง
สสส. จึงร่วมกับ สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กรมควบคุมโรค สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และ 4 สถานีบริการน้ำมันรายใหญ่ ปตท. บางจาก ปิโตรนาส และเชฟรอน (คาลเท็กซ์) รณรงค์รับปีใหม่ “ห้ามขาย ห้ามดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปั๊มน้ำมัน” ตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีบริการน้ำมันถือว่าผิดกฎหมาย โดยเฉพาะพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 27(6) ที่ห้ามขายในสถานีบริการน้ำมัน และในมาตรา 31(5) ที่ห้ามดื่มในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งทั้งสองมาตรามีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ได้เน้นในมาตรการห้ามจำหน่ายในปั๊มน้ำมันเพิ่มมากขึ้น โดยทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้ตรวจตราการฝ่าฝืนการกระทำผิดจำหน่ายและดื่มสุราในปั๊มน้ำมัน โดยได้ส่งหนังสือเวียนแจ้งให้ทราบว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ที่สามารถดำเนินการเอาผิดกับผู้ฝ่าฝืนสามารถเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีก็สามารถดำเนินได้” นพ.สมาน กล่าว
นายศิริศักดิ์ วิทยอุดม รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานีจ่ายเชื้อเพลิงที่อยู่ในความดูแลของกรมฯ ราว 1 หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ คิดเป็นประมาณกว่า 90% ของสถานีจ่ายเชื้อเพลิงในประเทศไทย
ซึ่งทางกรมฯ ได้ดูแลและควบคุมมาตรฐานของอุปกรณ์ การให้บริการ ให้มีมาตรฐาน รวมทั้งปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการ รวมถึงร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าในบริเวณสถานีจ่ายเชื้อเพลิง ก็ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
โดยขณะนี้กรมฯ ได้ส่งหนังสือถึงสถานีจ่ายเชื้อเพลิงทุกแห่ง ให้ปฏิบัติตามพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นมาตรการที่ต้องคุมเข้ม แม้ว่ากรมฯ จะไม่มีอำนาจในการควบคุม แต่ก็ช่วยสนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข
ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนสถานีจ่ายเชื้อเพลิงที่ละเมิดกฎหมายลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะถูกดำเนินการตามกฎมายทันที
หลายภาคส่วนล้วนมีความห่วงใย และพยายามหาทางช่วยเหลือกันถึงขนาดนี้ บรรดาคนใช้รถใช้ถนนทั้งหลายก็ควรให้ความร่วมมือ อย่ารีบร้อนไปหาพญามัจจุราชกันนักเลย
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า
Update 22-01-52