เตือน ‘หญิงเมืองกรุง’ เสี่ยงมะเร็งเต้านม

เร่งสร้างความรู้ ตรวจโรคได้ด้วยตนเอง

 

 เตือน ‘หญิงเมืองกรุง’ เสี่ยงมะเร็งเต้านม

          กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลหญิงไทยโดยเฉพาะสาวๆ เมืองกรุง เสี่ยงมากที่สุดที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านม และมีแนวโน้มการตายจากโรคนี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ เตรียมเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้แก่หญิงสาวที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ให้รู้จักวิธีตรวจเต้าด้วยตัวเอง

 

          พร้อมรับมอบเต้านมเทียม 200 ชิ้นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำไปทดลองใช้ในกลุ่มหญิงไทย เพื่อให้เข้าใจและสามารถเรียนรู้การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างง่าย ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งจัดพิธีรับมอบหุ่นเต้านมเทียมสำหรับสอนตรวจเต้านมด้วยตนเอง ณ อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

          นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์  อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า โรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทยพบบ่อย และเคยเป็นอันดับที่ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก แต่ปัจจุบันกำลังมาเป็นอันดับหนึ่ง จากการสำรวจผู้หญิงซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครประมาณ 3 ล้านคน เมื่อปี 2542 พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นถึง 40 คนต่อประชากรแสนคน หรือประมาณ 1,200 คน

 

          ขณะที่จังหวัดขอนแก่น สงขลา และเชียงใหม่ พบเพียง 15 – 16 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบการตายด้วยโรคมะเร็งเต้านมทั่วประเทศเมื่อปี 2544 จำนวน 1,261 คน และล่าสุดปี 2548 มีจำนวนสูงถึง 1,910 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

          มะเร็งเต้านม สามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่ส่วนใหญ่จะพบในเพศหญิงมากกว่า โดยเฉพาะช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป เริ่มมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งสูงขึ้น ซึ่งผู้หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม อาทิ แม่ พี่สาว รวมทั้งผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็ง จะมีอัตราเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นใหม่สูงกว่าคนปกติ และผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาตั้งแต่อายุก่อน 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี รวมทั้งผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง และผู้ที่ได้รับยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน อาจเกิดมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้น ตลอดจนผู้ที่มีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง เช่น การบริโภคอาหารไขมันสัตว์มาก การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ภาวะเครียด และขาดการออกกำลังกาย ทำให้เพิ่มโอกาสในการเกิดเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นด้วย

 

          อธิบดีกรมอนามัย กล่าวด้วยว่า อาการของมะเร็งเต้านมในระยะต้นนั้นมักจะไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจจะตรวจพบความผิดปกติเกิดขึ้นที่เต้านม ซึ่งอาจจะเป็นอาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งเต้านม เช่น มีก้อนที่เต้านม มีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเต้านม ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น รอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ บางส่วนมีสะเก็ด หัวนมมีการหดตัว หรือแดงผิดปกติ เจ็บเต้านม มีอาการบวมของรักแร้ เพราะต่อมน้ำเหลืองโต และ มีเลือดหรือน้ำออกจากหัวนม โดยร้อยละ 20 ของการมีเลือดออกจะเป็นมะเร็ง

 

          วิธีการที่ดีที่สุด คือ การตรวจเพื่อค้นหามะเร็งเต้านมให้เร็วที่สุด ที่นิยมใช้มี 3 วิธีด้วยกัน คือ หนึ่ง การตรวจเต้านมด้วยการถ่ายภาพรังสีเต้านม หรือที่เรียกว่าแมมโมแกรม สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก บอกผลได้ถูกต้องร้อยละ 85 – 90 แต่ค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งสตรีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจปีละครั้งการ สอง การตรวจเต้านมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่ออายุ 30 – 40 ปี ควรไปรับการตรวจทุก 3 ปี

 

          และสาม การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด สามารถตรวจหาความผิดปกติได้เป็นประจำทุกเดือน และคนที่ตรวจเป็นประจำสามารถตรวจพบก้อนได้ขนาดเล็กกว่าคนที่ไม่เคยตรวจ  และควรเริ่มตรวจ ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปซึ่งผู้หญิงทุกคนสามารถตรวจมะเร็งเต้านมได้ด้วยตนเอง เพราะเป็นวิธีง่ายๆ สามารถได้ทั้งในท่ายืนขณะอาบน้ำ หรือท่านอน ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือ หรือวิธีการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้เพียงแค่มือของตนเองเท่านั้น แต่ที่สำคัญคือ ต้องรู้จักสังเกตและปฏิบัติอย่างถูกต้อง

 

          ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผลิตหุ่นเต้านมเทียมเพื่อใช้เป็นสื่อการสอนและฝึกทักษะการตรวจเต้านมแก่นักศึกษาแพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข และประชาชนทั่วไป โดยได้มอบหุ่นเต้านมเทียมจำนวน 200 ชิ้น ให้กับกรมอนามัย เพื่อนำไปทดลองใช้สอนประชาชนและประเมินประสิทธิภาพของหุ่น

 

          โดยชุดเต้านมเทียมนี้ จะประกอบไปด้วย เต้านมเทียมพร้อมแผ่นพลิก และแผ่นพับบอกวิธีสอนตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างง่าย  จะช่วยให้หญิงไทยมีความรู้และเข้าใจที่จะรู้จักสังเกตและเรียนรู้วิธีการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งเต้านมให้ลดลงได้

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

update 15-06-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก

 

Shares:
QR Code :
QR Code