เตือน “สปาหู” เสี่ยง “แก้วหูพัง-หูหนวก”

ชี้ โฆษณาเกินจริง เสี่ยงสูญเสียการได้ยิน

 

เตือน “สปาหู” เสี่ยง “แก้วหูพัง-หูหนวก”            เมื่อวันที่ 26 พ.ค.51 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) รศ.นพ.ภาคภูมิ สุปิยพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเลขาธิการราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้การทำสปาหูถือว่ายังไม่ได้รับการยอมรับว่าสามารถรักษาโรคตามที่มีการอวดอ้างสรรพคุณ ได้แก่ โรคไซนัส หวัด ไมเกรน และภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน เนื่องจากยังไม่มีรายงานทางวิชาการสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว

 

            ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกฯ องค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐ อังกฤษ และแคนาดาไม่ยอมรับการทำสปาหู โดยวารสารชั้นนำด้านโสต ศอ นาสิกในต่างประเทศมีการตีพิมพ์ ระบุว่า การทำสปาหูไม่มีข้อดีมีแต่ข้อเสีย จะทำให้ช่องหู แก้วหูถูกเผาไหม้ ซึ่งจากการสอบถามผู้ที่เคยใช้บริการสปาหูในประเทศแคนาดา จำนวน 122 ราย พบว่า ได้รับบาดเจ็บจากการทำสปาหู 13 ราย มีการอุดตันของรูหูจากขี้ผึ้งของเทียนสปา 7 ราย สูญเสียการได้ยิน 6 ราย เกิดภาวะแก้วหูทะลุ 1 ราย และทุกคนไม่เห็นด้วยที่จะทำสปาหู ดังนั้น การทำสปาหูไม่มีประโยชน์อะไรเลยรศ.นพ.ภาคภูมิ กล่าว

 

            รศ.นพ.ภาคภูมิ กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะการรักษาไซนัสให้ดีขึ้นนั้น เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากโพรงไซนัสอยู่บริเวณหน้าผากและติดต่อทางหูชั้นกลาง ขณะที่ก้านเทียนที่ใช้ในการทำสปาจะเข้าถึงเพียงบริเวณช่องหูในหูชั้นนอกเท่านั้น โดยมีแก้วหูเป็นตัวกั้นระหว่างหูชั้นนอกและชั้นกลาง หากจะเข้าถึงหูชั้นกลางต้องเจาะทะลุแก้วหูเข้าไปเท่านั้น ซึ่งจะเป็นอันตราย ส่วนภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากน้ำในหูชั้นในมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ การทำสปาหูจึงไม่สามารถช่วยดึงน้ำในหูชั้นในออกได้เช่นกัน

 

            มีการพิสูจน์แล้วว่าแรงดันที่เกิดจากการทำสปาหู ไม่มากเพียงพอที่จะดูดขี้หูออกได้ ที่สำคัญ ขี้หูไม่ใช่ขี้ ไม่ต้องทำความสะอาด แต่ขี้หูเป็นขี้ผึ้ง ช่วยป้องกันเชื้อโรค เชื้อรา แบคทีเรีย และสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้าไปภายในหู จึงมีประโยชน์ ไม่ต้องไปขจัดออกรศ.นพ.ภาคภูมิ กล่าว

 

            รศ.นพ.ภาคภูมิ กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญคนที่หูอักเสบเป็นแผลติดเชื้อ หูน้ำหนวก มีของเหลวไหลออกมาจากหู แก้วหูทะลุฉีกขาดเป็นแผล หรือผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดภายในหูไม่ถึง 3 เดือน เยื่อแก้วหูผิดปกติ และเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ไม่ควรทำการสปาหูอย่างเด็ดขาด

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

 

 

 

update 27-05-51

Shares:
QR Code :
QR Code