เตือนเฝ้าระวังบุตรหลานช่วงบอลยูโร

ห่วง เทศกาลบอลยูโร เตือนครอบครัวเฝ้าระวัง สังเกต เด็ก เยาวชน คนในครอบครัว ดูให้เป็นเกิดประโยชน์

เตือนเฝ้าระวังบุตรหลานช่วงบอลยูโร

สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการครอบครัวศึกษา ครั้งที่ 4 “ปฏิบัติการครอบครัวไทยอบอุ่น”

พญ.พรรณพิมล วิปุลากรพญ.พรรณพิมล วิปุลากร เลขาธิการสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมครอบครัวศึกษาฯ มีความเป็นห่วงและวิตกกังวลกับเทศกาลบอลยูโรที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 มิ.ย.-1 ก.ค.นี้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความสนใจในกีฬาฟุตบอล ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีหากเป็นการดูเพื่อเป็นแบบอย่างในการเล่นกีฬาและเพื่อความสนุกสนาน แต่หากเป็นการดูเพื่อการพนันก็จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้

โดยจากการศึกษาครอบครัวไทยทั่วทุกภาคของประเทศ ตั้งแต่ ปี 2552 -2554 จำนวน 4,000 ครอบครัว เพื่อประเมินสุขภาวะครอบครัวที่จะเป็นผลสะท้อนให้เห็นระดับความอบอุ่นและความมีสุขภาวะที่ดีของคนไทย ผลจากการศึกษาพบสถานการณ์ที่ยังคงเป็นวัฏจักรที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่ การเล่นการพนัน การซื้อลอตเตอรี่ หวยใต้ดิน และการดื่มสุรา โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้ คือ การเล่นการพนัน เพราะผลจากการศึกษาปี 2554 มีครอบครัวที่มีสมาชิกเล่นการพนันถึงร้อยละ 26.7 และมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นกว่า ปี 2553 (19.2 %)และปี 2552 (23.8 %)

ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันครอบครัวไทย ร้อยละ 23 ยังมีความบกพร่องในการทำหน้าที่สำคัญ คือ การเตรียมบุตรหลานของตนให้มีความรู้ ความสามารถเพียงพอในการที่จะปกป้องดูแลตนเอง ทั้งที่ครอบครัวเป็นหน่วยแรกที่ทุกคนหวังจะให้เป็นที่พึ่งพิง การบกพร่องในการทำหน้าที่ของครอบครัวจึงเท่ากับสังคมได้ขาดกลไกสำคัญในการตั้งรับกับปัญหาที่มีความรุนแรงและสลับซับซ้อน

อาจารย์ศิวพร ปกป้อง ด้าน อาจารย์ศิวพร ปกป้อง ผู้อำนวยการงานวิจัยครอบครัวศึกษา สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า ทางสมาคมฯ ได้มุ่งเน้นการสร้างฐานข้อมูลครอบครัวในระดับชุมชนโดยสมาชิกในชุมชนเอง โดยมีตัวบ่งชี้ชัดเจนว่า การพัฒนาและแก้ปัญหาของครอบครัวในแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกันตามบริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างประชากร และวัฒนธรรม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเรียนรู้ข้อมูลเหล่านี้ที่แท้จริงของชุมชนนั้นๆ ซึ่งการประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอกระบวนการการจัดทำฐานข้อมูลในชุมชนต้นแบบด้วยเยาวชนและประชาชนในชุมชนเป็นผู้มีส่วนร่วมเป็นนักวิจัยอาสาในทุกกระบวนการการทำงานศึกษาวิจัย เก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง ที่จะนำไปสู่ความตระหนักรู้ถึงรากเหง้าของปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยครอบครัวในชุมชน และเพื่อเป็นฐานข้อมูลที่สามารถสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานของรัฐในระดับท้องถิ่น (อบต.)ได้อย่างดีและเที่ยงตรง ตลอดจนเป็นบทเรียนภาคปฏิบัติสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจในการทำงานเพื่อชุมชนและสังคมต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

Shares:
QR Code :
QR Code