เตือนอันตราย “ยาลดความอ้วน” จากโฆษณา

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ที่มีปัญหา น้ำหนักตัวมาก หรืออ้วน นิยมใช้ยาลดน้ำหนักมากกว่าวิธีการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย เพราะเชื่อว่าได้ผลเร็ว ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด โดยไม่ได้คำนึงถึงอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาทำให้บางรายได้รับผลข้างเคียงจากยาจนเสียชีวิต

ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุ ยาลดน้ำหนักแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ แยกตามตำแหน่งการออกฤทธิ์ของยา คือ 1. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบร่างกาย คือยาไซบูทรามิน (sibutramin) ซึ่งถูกระงับเพิกถอนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยที่เพิกถอนทะเบียนตำรับยาไปเมื่อต้นปีนี้ และไม่อนุญาตให้จำหน่ายในประเทศไทย เพราะพบว่าเป็นอันตรายต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ มีโอกาสจะหัวใจวายได้ 2. ยากลุ่มออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งอยู่ในความดูแลของ อย. จำหน่ายได้เฉพาะในสถานพยาบาลที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ไม่มีจำหน่ายในร้านขายยา

โดยยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระบบร่างกายที่ไม่มีการอนุญาตให้จำหน่ายแล้ว แต่มียาไซบูทรามินปลอม และผลิตในประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยจำนวนมาก มีข้อมูลว่ามีการลักลอบนำไปผสมในอาหารพวกเครื่องดื่ม อาหารเสริม ที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์ว่ารับประทานแล้วน้ำหนักลด หุ่นสวย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะไม่อนุญาตให้ผสมเข้าไปในเครื่องดื่มและอาหารเสริม บางรายแอบขายโดยไม่ขออนุญาต หรือขออนุญาตผสมสูตรหนึ่งแต่เวลาผลิตแอบเติมยาไซบูทรามินเข้าไป

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา อย. ได้ประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายของยาลดน้ำหนักให้ประชาชนรับทราบมาโดยตลอด ว่าอย่าหลงเชื่อการโฆษณา หากไม่แน่ใจ สงสัยว่าจะมียาไซบูทรามินผสมอยู่ สามารถส่งมาให้ อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศตรวจสอบได้ ข้อสังเกตง่ายๆ คือถ้ามีการนำไปผสมในอาหารเสริม เครื่องดื่ม จะมีการโฆษณาว่าลดความอ้วนได้ผล ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่ามีการผสมยาไซบูทรามิน โดยยาตัวนี้หากรับประทานเข้าไปจะมีผลข้างเคียงคือ มีอาการใจสั่น ไม่อยากอาหาร หดหู่ ถ้าหากหลงรับประทานเข้าไปต้องหยุดทันที หากรับประทานต่อจะเป็นอันตรายต่อหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่อ้วนมากๆ ผู้ที่มีโรคประจำตัว สุขภาพไม่แข็งแรง โอกาสที่จะหัวใจวายเฉียบพลันมีมาก

สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ต้องตรวจสอบตนเองก่อนว่าน้ำหนักเกิน อ้วนจริงหรือไม่ โดยดูที่ค่าดัชนีมวลกาย ใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง หากเกิน 25 ก็เข้าข่ายอ้วน แนะนำให้ใช้วิธีควบคุมอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกาย ไม่รับประทานอาหารจุกจิก ถ้าหิวควรรับประทานผลไม้ จะช่วยลดน้ำหนักได้ถาวร แต่หากอ้วนมาก ต้องการลดน้ำหนักด้วยยา ควรรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด อย่าซื้อยามารับประทานเอง

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code