เตือนพ่อแม่สูบบุหรี่ ลูกเสี่ยงโรคใหลตาย

หลังพบเด็กป่วยสารพัดโรคจากควันมือสอง ชี้ที่บ้านเสี่ยงสุด

 

เตือนพ่อแม่สูบบุหรี่ ลูกเสี่ยงโรคใหลตาย   

       สถาบันสุขภาพเด็ก – มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เดินหน้ารณรงค์บ้านปลอดบุหรี่ หลังสำรวจพบ เด็กเล็กป่วยจากควันบุหรี่มือสองสารพัดโรค โดยเฉพาะจากที่บ้าน ทั้งทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ แถมเสี่ยงต่อโรคใหลตายกว่าเด็กปกติ 2.5 เท่า หากพ่อและแม่สูบเพิ่มความเสี่ยงเป็น 4 เท่า

 

          เผยผลวิจัยเอแบคโพลล์ ปี 2551 พบเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่มาหาหมอ มีผู้ปกครองสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 63 ในจำนวนนี้ ร้อยละ 82 สูบบุหรี่ในบ้าน

 

          สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) จัดงานแถลงข่าว “เปิดโครงการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี : ต้นแบบในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่” โดย พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวว่า ปัญหาควันบุหรี่มือสองกำลังเป็นภัยต่อเด็กเล็ก

 

          จากการสำรวจในปี 2550 ยังยืนยันว่าร้อยละ 58.9 หรือ 6.3 ล้านคน จากจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด 10.8 ล้านคน นิยมสูบบุหรี่ขณะอยู่ในบ้าน แสดงให้เห็นว่าเด็กๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากภัยของควันบุหรี่ได้เลย

 

          รศ.นพ.สรศักดิ์ โล่จินดารัตน์ ผู้แทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เด็กเป็นผู้ได้รับอันตรายจากควันบุหรี่ในบ้านในระดับสูงสุด เพราะเด็กๆ มีระบบทางเดินหายใจที่เล็กอัตราการหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ และระบบป้องกันภายในร่างกายยังไม่แข็งแรงเหมือนผู้ใหญ่ จึงทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า

 

          โดยควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคใหลตายในเด็ก หรือโรค sids ทำให้เกิดการตายในเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา และตายเมื่อเป็นเด็กทารก โดยพบว่าครอบครัวที่มีพ่อสูบบุหรี่จะทำให้เด็กเสี่ยงเป็นโรคใหลตายเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า และหากทั้งพ่อและแม่สูบบุหรี่ความเสี่ยงก็จะเพิ่มเป็น 4 เท่า

 

          รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ อุปนายกสมาคมโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคภูมิแพ้ในเด็กมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัย คือ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม

 

          โดยปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมักเกิดจากการได้รับควันบุหรี่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์  ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคหอบหืด และโรคภูมิแพ้อากาศ

 

          โดยโรคหอบหืดในเด็กไทยพบร้อยละ 12-13 หรือประมาณ 3 ล้านคน แต่โรคนี้มีอันตรายมาก เพราะหากรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากเด็กจะมีอาการหายใจไม่ออก ส่วนโรคภูมิแพ้อากาศพบมากถึงร้อยละ 30

 

          รศ.คลินิก พญ.มุกดา หวังวีรวงศ์ หัวหน้าโครงการสถาบันสุขภาพเด็ก กล่าวว่า สถาบันได้ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ทำการสำรวจความคิดเห็นต่อการรณรงค์ “บ้านปลอดบุหรี่” ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2551

 

          โดยสำรวจพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุตั้งแต่แรกเกิด -12 ปี ที่นำมารับบริการที่สถาบัน จำนวน 658 คน พบว่า ร้อยละ 63.4 เป็นผู้สูบบุหรี่ โดยสูบเฉลี่ยวันละ 10.83 มวน หรือเฉลี่ยสูบ 24.5 วันต่อเดือน

 

          นอกจากนี้  ร้อยละ 82 ของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ ยอมรับว่ามีการสูบบุหรี่ในบ้านจริง ขณะที่ร้อยละ 29.2 ยอมรับว่ามีบุตรหลานอยู่ใกล้ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองสูบบุหรี่ และร้อยละ 35 เคยเห็นบุตรหลานเลียนแบบท่าทางการสูบบุหรี่

 

          ที่สำคัญ ร้อยละ 86 ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่า ผู้ที่รับควันบุหรี่มือสองมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคนที่สูบบุหรี่ แต่จากการสำรวจพบว่าผู้ปกครองไม่ถึงครึ่ง ที่รู้ว่าโรคต่างๆ ในเด็ก เกี่ยวข้องกับการได้รับควันบุหรี่มือสอง

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 

 

update 04-12-51

Shares:
QR Code :
QR Code