เตือนพ่อแม่รู้วิธีใช้ยาลดไข้
เภสัชกรเตือนพ่อแม่ควรรู้วิธีใช้ยาลดไข้ป้องกันโรคชักพร้อมรักษาไอคิว
ภญ.รศ.ดร.บุษบา จินดาวิจักษณ์อุปนายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย จึงเป็นสาเหตุทำให้เด็กเล็กเกิดเจ็บป่วยได้ง่าย เป็นไข้มีอาการตัวร้อน เมื่อใช้ปรอทวัดอุณหภูมิร่างกายจะมีค่าสูงกว่าปกติ หากวัดทางรักแร้ได้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส จะถือว่ามีไข้ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อโรคเช่น หวัด ท้องเสียจากการติดเชื้อ เป็นต้น ไม่ควรจะปล่อยให้เด็กมีไข้สูงติดต่อกันนาน เพราะอาจส่งผลให้ชักได้ เนื่องจากสมองของเด็กไวต่อการกระตุ้นจากไข้ โดยมากอาการชักพบมากในเด็กอายุระหว่าง 6 เดือน 5 ปี และส่วนใหญ่จะเกิดการชักเมื่อมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ทั้งนี้พบว่า เมื่อเด็ก เกิดอาการชักครั้งหนึ่งแล้ว ส่วนใหญ่จะมีโอกาสชักครั้งต่อไปได้อีกถ้ามีไข้สูง โดยพบได้ประมาณ 20-40% ในเด็กเล็กที่เคยชัก ซึ่งหากเด็กมีอาการชักเกร็ง1-2 นาที จะไม่อันตรายร้ายแรงและไม่มีผลต่อสติปัญญา แต่หากเด็กชักนานเกิน 15 นาที ชักบ่อยๆหรือหลังจากที่ชักแล้วเด็กมีอาการซึม แขนขาอ่อนแรงหรือชักในขณะไม่มีไข้ ถือเป็นสัญญาณอันตราย อาจเกิดความเสียหายต่อสมอง ทำให้เด็กมีไอคิวต่ำ หรือทำให้สมองเสื่อม หรือปัญญาอ่อนได้
ทั้งนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือฉลากยาอย่างเคร่งครัด เช่น ยาลดไข้ในรูปแบบน้ำเชื่อม ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก เพราะป้องกันเด็กนำไปกินโดยคิดว่าเป็นน้ำหวาน ,ยาแอสไพรินมีข้อห้ามใช้ในเด็กหรือคนไข้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปีที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ตลอดจนเด็กที่เป็น ไข้หวัดใหญ่โรคอีสุกอีใส เพราะอาจเกิดความผิดปกติรุนแรงของสมองและตับ โดยเป็นโรคที่เรียกว่า ไรย์ซินโดรม(Reyes syndrome) และ ไม่ควรใช้ยาไอบูโพรเฟนตอนท้องว่าง เพราะยาระคายกระเพาะอาหาร และไม่ควรหยอดยาลงในนม เพราะยาอาจทำให้รสชาติของนมเปลี่ยนไป ไม่ให้ใช้ยานี้ในเด็กที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากยาจะทำให้มีภาวะเลือดออกรุนแรงขึ้น และไม่ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
“เมื่อเด็กมีไข้สูงพ่อแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิดรู้จักใช้ยาลดไข้ให้ประโยชน์ ใช้ให้ถูกขนาด ถูกวิธี เพื่อให้ปลอดภัยในการใช้ยาควรปรึกษาเภสัชกร พร้อมกันนี้ ควรเช็ดตัวเด็กควบคู่ไปด้วย หากไข้ไม่ลดควรรีบพาไปพบแพทย์” ภญ.รศ.ดร.บุษบา กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย