เตือนปิดเทอมร้อนอันตราย ‘เด็กจมน้ำ’ เฉลี่ยวันละ 6 คน

ห่วงช่วงปิดเทอมอากาศร้อน เสี่ยงเด็กจมน้ำเสียชีวิต ระบุเด็กไม่รู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำ และการช่วยเหลือที่ถูกต้องมักโดดไปช่วยเพื่อนทั้งที่ว่ายน้ำไม่ดีพอ ทำให้พากันจมน้ำไปทั้งคู่หรือทั้งกลุ่ม

เตือนปิดเทอมร้อนอันตราย 'เด็กจมน้ำ' เฉลี่ยวันละ 6 คน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) เปิดเผยว่า  ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงปิดภาคเรียนของเด็กๆ ซึ่งพบว่า ช่วงเวลาดังกล่าวมีอัตราการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำสูงที่สุดในรอบปี โดยในช่วงเวลาดังกล่าว พบเด็กจมน้ำประมาณ 471 คน เฉลี่ยวันละ 6 คน ช่วงที่มีการเกิดเหตุสูงสุดคือ วันหยุดสุดสัปดาห์ วันเสาร์และวันอาทิตย์ และช่วงเวลา 12.00-18.00 น. เด็กชายมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเด็กหญิงประมาณ 2 เท่าตัวและกลุ่มเด็กมักจะจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันครั้งละหลายๆ คน เนื่องจากเด็กไม่รู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำและวิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องจึงมักกระโดดลงไปช่วยเพื่อนที่ตกน้ำ ทั้งๆ ที่ว่ายน้ำไม่ดีพอ ทำให้พากันจมน้ำไปทั้งคู่หรือทั้งกลุ่ม

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า การตกน้ำจมน้ำเป็นสาเหตุ 1 ใน 10 อันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของเด็กทั่วโลก โดยพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ ถึงปีละ 135,585 คน เฉลี่ยวันละ 372 คน ในประเทศไทยพบรายงานว่า เด็กเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำมากถึงปีละ 1,415คน หรือวันละประมาณ 4 คน คาดอีก 8ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ.2563 หากไม่ดำเนินมาตรการใดๆจะมีเด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำมากถึง 16,696 คน ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงการตกน้ำ จมน้ำในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คือ การทรงตัวไม่ดี ทำให้ล้มในท่าที่ศีรษะทิ่มลงได้ง่าย จึงมักพบเด็กจมน้ำสูงในแหล่งน้ำภายในบ้านหรือบริเวณรอบๆ บ้าน เช่น ถังน้ำ กะละมัง บ่อน้ำ แอ่งน้ำ ส่วนในเด็กอายุมากกว่า 5 ปี จมน้ำในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ คลอง บึง และแหล่งน้ำขุดเพื่อการเกษตร จากสถิติพบเด็กเสียชีวิตจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ร้อยละ 50 รองลงมาคือสระว่ายน้ำ ร้อยละ 5.4 และอ่างอาบน้ำ ร้อยละ 2.5

 

 

 

 ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code