เด็กไทยเหยื่ออุบัติเหตุจากรถพุ่ง ชี้เข็มขัด-ถุงลมไร้คุณภาพ
เผยเด็กไทยอายุต่ำกว่า15 ปี เป็นเหยื่ออุบัติเหตุจากรถพุ่งสูง 5,500 รายสาหัส 1,400 ราย ตาย 70 ต่อปีขณะที่ “หมออดิศักดิ์” ชี้เข็มขัดนิรภัย-ถุงลมนิรภัยไร้คุณภาพ แนะควรมีที่นั่งนิรภัยเฉพาะเด็ก
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. พญ.พิมพ์ภา เตชะกมลสุข ผู้แทนสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในงานแถลงข่าว เรื่อง “กรณีเด็กบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน”ที่จัดขึ้น ณ อาคารแพทยสภา โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมทางหลวง ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า แต่ละปีจะมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ประสบอุบัติเหตุจากการโดยสารรถยนต์ กว่า 5,500 ราย หรือ 15 คนต่อวัน เป็นการบาดเจ็บรุนแรงที่ต้องการการนอนพักรักษาตัวหรือสังเกตอาการในโรงพยาบาลประมาณ 1,400 คน และเสียชีวิต 70 คน และกรณีอุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นเฉพาะช่วง 10 วันเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 ตั้งแต่วันที่ 9-19 เม.ย. พบว่ามีเด็กบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 1,100 ราย เสียชีวิตประมาณ 6 ราย ใน 132 ราย
ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า สถานการณ์ในต่างประเทศมีกฎหมายชัดเจนในการบังคับให้ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อยึด เหนี่ยวเด็กไม่ให้เด็กบาดเจ็บเมื่อเกิดรถชน รถเบรกรุนแรง แต่ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมในส่วนนี้ มีเพียง พ.ร.บ.จราจรที่กำหนดให้ที่นั่งข้างคนขับต้องมีเข็มขัดนิรภัย ซึ่งในความเป็นจริงเข็มขัดนิรภัยไม่เหมาะสมกับเด็กและไม่สามารถใช้ป้องกัน อันตรายต่อตัวเด็กได้ โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 9ขวบหรือสูงไม่เกิน 140ซม. ในทางกลับกันอาจทำให้เกิดอันตรายกับเด็กได้ เนื่องจากหากจะให้ปลอดภัยเข็มขัดนิรภัยจะต้องยึดเหนี่ยว 3จุดสำคัญ คือ หัวไหล่ หน้าตักและบริเวณเชิงกราน แต่ในเด็กเข็มขัดนิรภัยจะรัดที่บริเวณท้องน้อยและลำคอแทน หากรถเบรกหรือชน เข็มขัดจะรัดช่องท้องทำให้ตับ ม้ามแตก รัดลำคอและกระดูสันหลังกระเทือนอาจเป็นอัมพาตได้
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนถุงลมนิรภัยก็ไม่เหมาะสมกับเด็กเช่นกัน เนื่องจาก การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวจะปลอดภัยเมื่อนั่งห่างจากถุงลมอย่างน้อย 25 ซม.แต่เด็กที่นั่งตักแม่จึงอยู่ห่างจากระยะระเบิดของถุงลมน้อยเกินไป ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกามีรายงานว่าเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี เสียชีวิตจากถุงลมในอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงกว่า 200 ราย เกิดจากการบาดเจ็บของสมองเป็นหลัก ดังนั้นเด็กจึงควรมีการเสริมที่นั่งนิรภัยเป็นการเฉพาะ โดยทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ต้องใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับทารก จัดวางที่เบาะหลังและหันหน้าไปทางด้านหลังรถเพื่อลดโอกาสความเสี่ยงต่อการ เกิดกระดูกต้นคอหักจากการสะบัดของศีรษะเมื่อเกิดการชนหรือเบรกรุนแรง เด็กอายุ 1-3 ปี ให้ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเล็ก หันหน้าไปทางด้านหน้ารถตามปกติ และใช้ที่เบาะหลังเท่านั้น เด็กอายุ 4-7 ปี ใช้ที่นั่งเสริม ไม่มีเข็มขัดนิรภัยในตัว ใช้เข็มขัดนิรภัยรถยนต์เป็นอุปกรณ์ยึดเหนี่ยว และอยู่บริเวณเบาะหลังเท่านั้น เด็กอายุ 8-12 ปี ควรใช้ที่นั่งเสริมจนกว่าจะสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้พอดี
พ.ต.อ.จักษ์ เพ็งสาธร ผก ก. 3 กองบังคับการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ บริโภค (ปคบ.) กล่าวว่า สำหรับรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิตและบาดเจ็บรุนแรงมากกว่ารถยนต์ ประมาณ 6.5 เท่าตัว จากการตรวจสอบพบว่า หมวกนิรภัยเด็กบางยี่ห้อยังมีคุณภาพต่ำ แม้ว่าได้รับเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันการกระแทกของสมองได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์astvผู้จัดการ