เด็กไทยน่าห่วง “ไอคิว-อีคิว” ตกฮวบ!!!

แนะเคล็ดลับ 6+8 เพิ่มสติปัญญา-สภาวะอารมณ์

 เด็กไทยน่าห่วง “ไอคิว-อีคิว” ตกฮวบ!!!

          เด็กไทยปัจจุบันมีแนวโน้มระดับไอคิวและอีคิวลดลง โดยระดับไอคิวอยู่ที่ 103.09 ส่วนอีคิวอยู่ที่ 139-202 อันเป็นผลมาจากสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง แนะเคล็ดลับ 6+8 เพิ่ม iqeq” ยกระดับสติปัญญาเด็ก

 

          พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงผลการสำรวจโครงการติดตามสภาวการณ์ไอคิวและอีคิวของเด็กไทยว่า โดยรวมอยู่ในเกณฑ์ปรกติ แต่พบว่าในความปรกตินี้จะมีความแตกต่างกันอยู่ เช่น เด็กจะมีทั้งไอคิวสูง อีคิวต่ำ ไอคิวต่ำ อีคิวสูง หรือสูงทั้งไอคิวและอีคิว ซึ่งความแตกต่างตรงนี้ทำให้ต้องทำการสำรวจและศึกษาถึงเหตุปัจจัย เพื่อหาความชัดเจนในการส่งเสริมไม่ให้เกิดความแตกต่างเกิดขึ้น

 

          โดยพัฒนาการของเด็กไทยมีแนวโน้มลดลง แต่เป็นการลดลงในภาวะปรกติ หากวัดจากผลการสำรวจในครั้งที่ผ่านมาจะพบว่าการสำรวจเมื่อปี 2545 เด็กอายุ 0-5 ขวบ จะมีพัฒนาการปรกติที่ร้อยละ 71.69 แต่ผลการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2550 พบว่าลดลงอยู่ที่ร้อยละ 67.7 ในส่วนของสุขภาพจิตและระดับสติปัญญาของเด็กในช่วงอายุ 3-11 ขวบ โดยใช้นักจิตวิทยาเก็บข้อมูลจากเด็กทั่วประเทศ 7,391 คน พบว่าระดับสติปัญญาเฉลี่ยอยู่ที่ 103.09 หากแบ่งเป็นระดับจะพบว่าเด็กอนุบาลมีระดับสติปัญญาเฉลี่ยอยู่ที่ 110.67 เด็กประถมฯมีระดับสติปัญญาเฉลี่ยอยู่ที่ 97.31 ส่วนเด็กผู้ชายมีระดับสติปัญญาเฉลี่ยอยู่ที่ 102.3 เด็กผู้หญิงมีระดับสติปัญญาเฉลี่ยอยู่ที่ 103.99

 

          ด้านความฉลาดทางอารมณ์ สำรวจเด็กวัย 3-5 ขวบ ในปี 2545 พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปรกติที่ 139-202 คะแนน แต่ผลการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2550 พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปรกติ แต่อยู่ในภาวะลดลงที่ 125-198 คะแนน ด้านความคิด การปรับตัวต่อปัญหา และความกระตือรือร้น สำรวจเด็กวัย 6-11 ขวบ ผลสำรวจในปี 2545 พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปรกติที่ 148-222 คะแนน แต่ผลการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2550 กลับอยู่ในเกณฑ์ปรกติที่อยู่ในภาวะลดลงที่ 129-218 คะแนน

 

          จะพบว่าจากการสำรวจครั้งล่าสุดเด็กไทยยังมีสภาวะทางสติปัญญาและสภาวะทางอารมณ์อยู่ในเกณฑ์ปรกติ แต่จะเห็นว่าในความปรกติจะมีตัวเลขลดลงจากการสำรวจในครั้งที่ผ่านมา หากไม่ลงมือทำอะไรเชื่อว่าในอนาคตเกณฑ์เหล่านี้จะยิ่งลดลง และอาจส่งผลให้การพัฒนาการทั้ง 2 ด้านของเด็กเสื่อมลง ยิ่งในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงและสับสนจะเป็นตัวที่ทำให้วุฒิภาวะของเด็กลดลงตามมา

 

          ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า ในสภาวการณ์ปัจจุบันปัจจัยที่จะเป็นตัวสนับสนุนที่ส่งผลต่อพัฒนาการทั้งด้านไอคิวและอีคิวนั้นมีหลายด้าน ได้แก่ เคล็ดลับ 6+8 เพิ่ม iqeq หมายถึง 6 เคล็ดลับในการเลี้ยงดูลูก ได้แก่ การกอด การกล่าวคำชมลูก การเล่นกับลูก การสร้างนิสัยรักการอ่าน การมีส่วนร่วมในการรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน และพ่อแม่เองต้องไม่ติดโทรทัศน์ ส่วนอีก 8 ได้แก่ การส่งเสริมการเรียนรู้ หมายถึงการฝึกให้เด็กซักถาม ให้คิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง การเล่นเกมที่พัฒนาความคิดและฝึกสังเกต การเล่นเกมพัฒนาการวางแผน การจัดให้มีหนังสือที่มีคุณภาพในบ้าน การส่งเสริมให้เด็กฝึกเขียนบันทึก ฝึกให้เด็กประดิษฐ์ของเล่นเอง และการทดลองวิทยาศาสตร์อย่างง่ายที่บ้าน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ครอบครัวสามารถช่วยได้

 

          นอกจากนี้ในส่วนของโรงเรียนจะพบว่าเด็กที่สนใจเรียนวิชาคณิตศาสตร์จะมีพัฒนาการของไอคิวและอีคิวสูง แตกต่างจากเด็กที่ไม่สนใจ และเด็กที่มีเพื่อน มีสังคม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกัน ตรงนี้เป็นการส่งเสริมในส่วนของวุฒิภาวะทางอารมณ์ อีกทั้งระบบวิธีการสอนต้องเน้นให้เด็กใช้ความคิดมากกว่าการท่องจำ ซึ่งส่วนนี้จะส่งผลอย่างชัดเจน

 

          ดร.อมรวิชช์กล่าวอีกว่า การสำรวจจากเด็กทั่วประเทศนั้นพบอีกว่าในแต่ละภาคระดับไอคิวและอีคิวไม่ได้มีความแตกต่างกัน แต่หากมองในเชิงตัวเลขของสถิติจะพบว่าเด็กเล็กทางภาคเหนือจะมีระดับไอคิวและอีคิวค่อนข้างสูงกว่าภาคอื่น อย่างไรก็ตาม ทุกภาคมีระดับทัดเทียมกันและเป็นมาตรฐาน

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

 

update : 04-09-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code