เด็กเสี่ยง “ออทิสติก” พุ่ง
รักษาได้ก่อน 4 ขวบ
เด็กเสี่ยง “ออทิสติก” พุ่ง อเมริกา 1 ใน 100 ขณะที่ไทยพบ 2-6 ใน 1,000 แพทย์ยันรักษาหายได้ หากตรวจพบสาเหตุก่อนอายุ 4 ขวบ นักวิทย์ไทยเชี่ยวชาญแล็บวิจัยฝรั่งเศสชี้กว่า 80% ผิดปกติจากชีวเคมี อาหาร สิ่งแวดล้อม ปัจจัยร่วม
ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด มหาชน พร้อมด้วย นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิเพื่อพัฒนาการแพทย์ทางเลือก (ประเทศไทย) พญ.ปิยะนุช รักพาณิชย์ ผู้จัดการทั่วไป และ ผอ.ฝ่ายการแพทย์ตรัยยา รพ.ปิยะเวท ร่วมแลกเปลี่ยนความสำคัญของการแพทย์ผสมผสานต่อการเลี้ยงดูเด็กภาวะเอเอสดี (ออทิสติก)
ดร.กอบกุล สุดสวนศรี นักวิทยาศาสตร์ไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเอสดี จากประเทศฝรั่งเศสให้สัมภาษณ์ผ่านดาวเทียมว่า ต้องปรับทัศนคติที่มีต่อโรคออทิสติกว่า ไม่ใช่โรคที่รักษาไม่หาย แต่เป็นโรคที่ต้องการการรักษาต่อเนื่องจริงจัง ซึ่งเด็กที่เป็นออทิสติกมีสาเหตุแตกต่างกันไป แต่จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า โรคออทิสติกจะมีความผิดปกติทางชีวเคมีกว่าร้อยละ 80 ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบของสมอง อวัยวะภายในทางเดินอาหาร การถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ ซึ่งหากตรวจหาสาเหตุได้ก่อนอายุ 4 ขวบจะทำให้การรักษาเป็นผลสำเร็จสูงร้อยละ 60-70 และประมาณร้อยละ 15-20 มีสาเหตุมาจากครอบครัว
ดร.กอบกุลกล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบเด็กป่วยเป็นโรคออทิสติกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา มีอัตราส่วนอยู่ที่ 1 คนใน 100 คน พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 4 เท่า ขณะที่ในประเทศไทยพบ 2-6 คน ใน1,000 คน หรือมีภาวะออทิสติกประมาณ 2 แสนคน เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง 4 ต่อ 1 เท่า
อย่างไรก็ตามออทิสติกจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก แต่จะสังเกตว่าเด็กที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาในทักษะการสื่อสาร ภาษาการย้ำคิดย้ำทำ ใช้อารมณ์ ท้องผูก ท้องเสีย ซึ่งส่วนใหญ่เด็กจะมาพบแพทย์ในอายุ 2 ขวบขึ้นไป สำหรับการรักษาหากผลตรวจจากห้องปฏิบัติการพบว่า เด็กมีภาวะผิดปกติของชีวเคมีใดก็จะทำการรักษาโดยแก้ไขที่จุดกำเนิด เช่น การให้วิตามิน ยา การขับสารพิษ ปรับปรุงโภชนาการ งดการบริโภคข้าวสาลี น้ำตาล นม เพิ่มออกซิเจนบำบัดพฤติกรรม ทั้งนี้ ในเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นจะสามารถรักษาให้หายได้มากกว่าเด็กที่ภาวะออทิสติกสูง ทั้งนี้ในอนาคตมีแนวโน้มส่งเสริมให้พ่อแม่ตรวจหาภาวะเสี่ยงออทิสติกก่อนการตั้งครรภ์
นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิเพื่อพัฒนาการแพทย์ทางเลือก (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในวงการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคออทิสติกได้อย่างชัดเจนว่ามาจากสาเหตุใด ระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม แต่จากการติดตามตนพบว่า สิ่งแวดล้อมหลังเด็กคลอดมีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะอาหารที่รับประทานสำเร็จรูป อาหารแช่แข็งที่ต้องอุ่นด้วยไมโครเวฟ ประกอบกับการใช้ชีวิต (ไลฟ์สไตล์) แบบคนเมืองมากขึ้น มีผลทำให้การอุบัติการณ์ของโรคออทิสติกมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อถึงสาเหตุของโรคนี้ อาทิ ตัวทำละลายในวัคซีนที่ปนเปื้อนสารปรอทในอดีต การปนเปื้อนของโลหะหนัก รวมไปถึงระดับการย่อยโปรตีนจากผลิตภัณฑ์นม แต่ในประเทศไทยยังไม่มีห้องปฏิบัติการที่จะตรวจความผิดปกติทางชีวเคมีเหมือนต่างประเทศ ซึ่งในงานนี้ได้ประสานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มาร่วมการสัมมนาเพื่อหาทางให้มีห้องแล็บเช่นนี้ในประเทศไทยเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update : 26-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก