เด็กผวาน้ำดื่ม “ร.ร.” ตะกั่วสูงถึง 5 เท่า
ทำสติปัญญาเด็กด้อยลง ห้ามผู้ผลิตใช้สารตะกั่วบัดกรีเด็ดขาด
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตือนสารตะกั่วปนเปื้อนในน้ำดื่มโรงเรียนเกินมาตรฐาน 2-5 เท่าเผยเด็กดูดซึมสารพิษเข้าร่างกายได้ดีกว่าผู้ใหญ่ ส่งผลสติปัญญาด้อยลงชี้ผู้ผลิตเครื่องทำน้ำเย็นต้องทำตามมาตรฐานปลอดภัย ห้ามใช้สารตะกั่วบัดกรี
นพ.มานิต ธีรตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยโครงการน้ำดื่มในโรงเรียนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศพบว่า น้ำดื่มที่ออกจากเครื่องทำน้ำเย็นมีการปนเปื้อนของสารตะกั่วสูงถึง 2-5 เท่าของเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่ม(0.05 ppm)
สาเหตุสำคัญจากเครื่องทำน้ำเย็นที่ผลิตหรือซ่อม โดยใช้สารตะกั่วในการบัดกรีส่วนที่สัมผัสกับน้ำ ซึ่งพิษภัยของสารตะกั่วจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและเป็นสารพิษที่ร่างกายไม่สามารถย่อมสลายได้ ส่วนใหญ่จะไปสะสมที่กระดูก ตับ ไต กล้ามเนื้อ และระบบประสาทส่วนกลาง โดยตะกั่วจะถูกดูดซึมเข้าสู่รางกายของเด็กได้ดีกว่าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จะดูดซึมเข้าร่างกายได้ประมาณ 10% โดยจะเข้าไปทำลายประสาทส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการเหน็บชาที่ปลายมือ ปลายเท้า
นพ.มานิต กล่าวอีกว่า มาตรการเชิงป้องกันและการให้ความคุ้มครองแก่เด็กนักเรียนจากปัญหาดังกล่าว ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยความร่วมมือของแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ได้จัดการให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นพิเศษด้านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีคำสั่งห้ามผลิตซ่อมเครื่องทำน้ำเย็นโดยสารตะกั่วบัดกรี
สำนักมาตรฐานอุตสาหกรรมได้รับพิจารณากำหนดให้การผลิตเครื่องทำน้ำเย็นต้องมีมาตรฐานบังคับ เพื่อความปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารตะกั่วและโลหะหนัก ขณะที่ประชาชนสามารถตรวจสอบด้วยสาตาเปล่าได้ว่า มีการใช้สารตะกั่วบัดกรีหรือไม่โดยสังเกตดูขอบด้านในของส่วนที่เก็บกักน้ำ ท่อจ่ายน้ำดื่มที่บริเวณฐานของส่วนเก็บกักน้ำ และลูกลอยที่ปรับระดับน้ำว่ามีรอบบัดกรีหรือไม่ สำหรับผู้ประกอบการผลิตเครื่องทำน้ำเย็นควรหลีกเลี่ยงการบัดกรีด้วยตะกั่ว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update 13-06-51