“เด็กชาติพันธุ์” กลุ่มเด็กสร้างสรรค์ที่มีดีมากกว่าคำว่า “ชนกลุ่มน้อย”
รัฐบาลไทยไม่ยอมรับว่า ประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมือง จึงเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆว่า “ชนกลุ่มน้อย” หมายถึง ชนเผ่า หรือคนต่างเชื้อชาติที่อาศัยรวมกันกับชนเผ่าอื่นที่มีจำนวนมากกว่า เป็นชนกลุ่มที่มีความแตกต่างจากชนส่วนใหญ่ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี อุดมการณ์ทางการเมือง โดยทั่วไปแล้ว ชนกลุ่มน้อย มักจะเป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากประเทศอื่นและเข้ามาอยู่ชั่วคราวในประเทศไทย
“เด็กชาติพันธุ์ในประเทศไทย” จึงหมายรวมถึงเด็กชนกลุ่มน้อยต่างๆ ทั้งที่มีบัตรสีต่างๆ และที่ยังไม่ได้รับเอกสารหรือสิทธิใดๆ รวมถึงเด็กต่างชาติ จากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า ลาว กัมพูชา ที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ทั้งที่เป็นแรงงานเด็ก เป็นผู้ติดตามแรงงานต่างชาติ และกลุ่มเด็กที่เกิดในประเทศไทย
จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า พ.ศ. 2553และ 2554 ในประเทศไทยมีประชากรเด็กจำนวน 23 ล้านคน เป็นกลุ่มเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ 30,000 คน
ทั้งมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับองค์กรภาคีที่ดำเนินงานกับกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ และเครือข่ายสื่อที่จะมามีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ความเข้าใจทั้งต่อเด็กในสังคมทั่วไป โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานและกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ ซึ่งได้มีการจัด “เทศกาลสื่อสร้างสรรค์เพื่อเด็กชาติพันธุ์” ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา
คุณครูพนิดา กานพงษ์ จากโรงเรียน บ้านท่าอาจ อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวถึงงานนี้ว่า งานนี้ทำให้เด็กๆ กล้าพูดกล้าแสดงออก ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เห็นการแสดงใหม่ๆ อย่างละครคนหน้าขาว เด็กที่มาก็อยากเอาไปแสดงให้เพื่อนๆดูบ้าง รวมถึงการวางงานไว้ตามกลุ่ม มีป้ายให้รางวัล ทำให้เด็กกล้าพูดกล้าบรรยาย โดยเด็กๆ จะพูดกันได้ถึง 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และ พม่า และทำให้ได้รู้จักเพื่อนกลุ่มใหม่ เป็นการเปิดหูเปิดตา คนที่ไม่เคยไปกรุงเทพฯ ก็ได้ไป ทำให้เด็กทุกคนประทับใจ เพราะเด็กกลุ่มนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มาร่วมเทศกาลฯ
ดังนั้นการที่ สสส. ให้การสนับสนุนถือเป็นแนวทางที่ดี เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มชาติพันธุ์มีเวทีได้แสดงออก และทำให้เด็กได้ทำกิจกรรมแอนนิเมชั่น ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ทำให้เกิดความสามัคคีและภูมิใจในผลงาน เพราะเมื่อเด็กๆ กลับไปยังภูมิลำเนาก็อยากที่จะเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปเผยแพร่ให้เพื่อๆ ที่ไม่ได้มาร่วมกิจกรรม ได้เห็นว่าไปทำอะไรมาบ้าง จึงอยากให้มีการจัดกิจกรรมอย่างนี้อีก
ส่วน น้องวิกตอรี่ เยาวชนจากมูลนิธิไร้พรมแดน ในฐานะผู้ที่เข้าร่วมงาน เล่าว่า รู้สึกดีใจมากที่มีพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับประโยชน์มากมาย เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน มีทั้งภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ทำให้คนเมืองกรุงได้รับทราบ และเป็นการเปิดโลกทัศน์ของตัวเอง ซึ่งครั้งนี้ได้นำละครหุ้นเงา มาแสดงเพราะเชื่อว่า “สามัคคีคือพลัง” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศพม่า ว่าพม่ามีกลุ่มชาติพันธุ์กี่เผา มางานนี้ได้อะไรมากมาย เป็นงานนี้ทาง มพด.โดยการสนับสนุนของสสส. ให้เด็กๆ ได้จัดเตรียมสถานที่เอง วางบทบาทว่าใครอยากทำอะไร เพื่อให้ทุกคนได้ให้มีส่วนร่วม
น้องวิกตอรี่ เล่าต่อว่า การที่มี สสส.เข้ามาสนับสนุน ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่องค์กรภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม และเห็นความสำคัญของชาติพันธุ์มมากขึ้น เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่มีพื้นที่ให้แสดงออกอยู่แล้ว ทำให้เราได้นำความรู้ความสามารถไปถ่ายทอดให้กลุ่มอื่นๆ ได้เรียนรู้ และทำให้เราได้เรียนการทำสื่อสร้างสรรค์ เรายอมรับว่าเขาเห็นความสำคัญของกลุ่มเด็ก จึงอยากให้จัดงานลักษณะนี้อีก เพราะการรงค์การสื่อสารจะต้องใช้ระยะยาวที่จะให้สังคมได้รู้ว่ายังมีคนอีกกลุ่มที่ขาดโอกาส ดังนั้นการได้มีโอากส ได้แสดงออก ถือว่าเป็นทนทางที่เราได้สร้างผลงานให้สังคมยอมรับ ไม่เฉพาะในประทศไทย มันทั่วทั้งโลก
ขณะที่ น้องจูลี่ เยาวชนชาติพันธุ์ จากมูลนิธิไร้พรมแดน กล่าวว่า แม้จะมาร่วมงานเป็นครั้งแรก ก็ดีใจที่ได้มีโอกาสแบ่งปันสื่อของพวกเราที่เป็นวีดีโอแอนนิเมชั่นตุ๊กตาดินเหนียวและการแสดงหุ่นกระบอก ทำให้เราได้รู้จักกลุ่มชาติพันธุ์อื่น และเรียนรู้เรื่องราวที่แตกต่างและวัฒนธรรมของพวกเขา ศูนย์ที่เราทำได้แชร์สื่อกับหลายองค์กร ได้เห็นสื่อที่แต่ละกลุ่มทำด้วย ซึ่งก็อยากให้มีการจัดงานอย่างนี้อีก เพราะอยากให้กลุ่มผู้สูงอายุและมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กได้จัดกิจกรรมเหล่านี้ในทุกปีเป็นอย่างน้อย โดยพวกเราสามารถแบ่งปันเรื่องราวและปัญหาเกี่ยวกับการผลิตสื่อของเรา และ ดีใจที่ สสส. ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐ ได้เข้ามาสนับสนุน และให้ความสำคัญต่อเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งยังให้โอกาสต่อการเข้ามีส่วนร่วมด้วย
เพียงให้โอกาสได้ให้ กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แสดงออกให้สังคมยอมรับเขาก็พอใจแล้ว…
ที่มา: สำนักข่าว สสส.