เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานภาครัฐ

จากรายงานผลวิจัยตามยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตข้าราชการพลเรือนสามัญประจำปี พ.ศ.2554-2556 โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ปัญหาหลักเกี่ยวกับการทำงานและคุณภาพชีวิตในภาพรวมของข้าราชการไทย ยังเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการผลักดันตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ว่าด้วยการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตการทำงานสำหรับทรัพยากรบุคคลภาครัฐที่ดีพอ

ปัญหาซึ่งเห็นเด่นชัดคือ เรื่องหนี้สิน ความเคร่งเครียดในงานและชีวิตส่วนตัว และปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวพันกับประสิทธิภาพการทำงานในระดับบุคคล ทั้งต่อเนื่องไปถึงระดับโครงสร้างการพัฒนาประเทศ

ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน หัวหน้าโครงการ แผนงานสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานองค์กรภาครัฐสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยว่า “เราพบว่า 1 ใน 3 ของข้าราชการ มีหนี้สินเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและยานพาหนะแต่ยังผ่อนชำระไม่หมด กว่า 20% มีความเครียดสูง ซึ่ง 5% ในกลุ่มนี้จัดว่ามีความเครียดสูงมาก และยังมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ โดยมีอัตราของผู้มีโรคประจำตัวมากถึง 1 ใน 3 ของข้าราชการทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความไม่พึงพอใจในระบบงานและสภาพแวดล้อมการทำงาน รวมถึงโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่าความคาดหมายที่ควรได้รับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตอบแทน ความยุติธรรมและความสัมพันธ์ในองค์กร สภาพแวดล้อมในการทำงาน การพัฒนาส่วนบุคคล แนวโน้มความก้าวหน้าและความมั่นคงในการทำงาน ยังไม่รวมถึงเรื่องสิทธิ สวัสดิการ ซึ่งทั้งหมดทำให้การจัดเวลาการทำงานกับชีวิตส่วนตัวของข้าราชการไม่มีความสมดุล ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้คุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการส่วนใหญ่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลเสียเป็นวงกว้างในระดับชาติ เราจึงมองว่าการจะทำให้ระบบราชการและการให้บริการประชาชนขององค์กรภาครัฐดำเนินไปได้ดีขึ้น ก็ต้องใช้หลักการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ดูแลให้พวกเขามีความสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งต้องใช้ปัจจัยหลายอย่างขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อผลในระยะยาว”

“สำหรับโครงการนี้เป็นผลมาจากงานวิจัย ซึ่งทำให้เราได้พบข้อเท็จจริงหลายประการของปัญหา จากนั้นจึงเกิดความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ช่วยเหลือเรื่องกรอบการทำงานในภาพรวม ซึ่งมีแนวคิดต้นแบบจาก น.พ.ชาญวิทย์ วสันธนารัตน์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ในเรื่องการชี้ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบ ที่เริ่มจากการปรับปรุงคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการให้ดีขึ้น ซึ่งต้องมีจุดฝังเมล็ดพันธุ์เพื่อขยายฐานรากให้แข็งแกร่ง และทำให้สังคมเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น”

ในส่วนของกลยุทธ์ ดร.ศิริเชษฐ์ อธิบายว่า เราจะมียุทธศาสตร์หลักซึ่งใช้เป็นแกนในการขับเคลื่อนโครงการอยู่ชุดหนึ่ง อย่างแรกคือ การให้ความรู้ ที่จะเริ่มจากการฝึกอบรมในส่วนราชการระดับกรม ด้วยกลุ่มบุคคลซึ่งถูกคัดเลือกแล้วราว 500 คน ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้ แล้วคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะนำองค์ความรู้กลับไปถ่ายทอดสู่คนอื่นๆ ทั้งในเรื่องการจัดการความรู้ หรือการจัดการกับคุณภาพชีวิตการทำงาน ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงต้องมีพลัง (energy) และเป็นพลังขับเคลื่อน (energizer) มีความสามารถในการจูงใจคน สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง และมีความคิดสร้างสรรค์หลุดพ้นจากกรอบเดิมๆ จึงจะส่งมอบผลงานต่อไปได้ แล้วเมื่อมีการฝึกอบรมความรู้ ตรงนี้ก็จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนที่แต่ละส่วนราชการได้นำประสบการณ์และจุดเด่นจุดด้อยของระบบงานมาถ่ายทอดแบ่งปันกัน

ขั้นตอนต่อมาคือ การสนับสนุนให้เกิดการสร้างสื่อเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน ทั้งสื่อสารองค์กร และสื่อสังคมต่างๆ เพื่อส่งผ่านการรับรู้และกระตุ้นให้ตระหนักเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงาน ตลอดจนเป็นกำลังใจให้บุคลากรเห็นว่า ณ วันนี้ระบบราชการได้มีการหันมาเอาใจใส่เรื่องคุณภาพชีวิตของคนในระบบราชการอย่างจริงจังแล้ว

“และสุดท้ายคือ การผลักดันเชิงนโยบาย อันเป็นแผนงานที่เมื่อทุกขั้นตอนเริ่มเป็นผลแล้ว เราจะผลักดันนโยบายใน 2 ด้าน คือจัดให้ส่วนราชการที่เข้าร่วมนำกิจกรรมที่เรียนรู้กลับไปปฏิบัติจริงแล้วจะมีการจัดประกวดในระดับชาติ เพื่อวัดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอีกระดับหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือมีเวทีแสดงความคิดเห็นเชิงสนุทรียสนทนาในระดับผู้บริหารของหน่วยราชการที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้ผู้บริหารส่วนราชการอื่นๆ ได้เห็นว่าระบบราชการได้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างแล้ว โดยเฉพาะการให้คุณค่าเรื่องคุณภาพชีวิตการทำงานในหน่วยย่อยและระดับบุคคล ซึ่งจะช่วยในแง่ของกระแสที่จะแผ่ออกไปเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ”

 

ความคิดสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทางโครงการฯ นำมาใช้ คือ หลักความสุข 8 ประการ ซึ่งเริ่มต้นโดย สสส. และทางสถาบันวิจัยสังคมฯ ได้นำมาใช้ขับเคลื่อนให้โครงการฯ ให้ดำเนินไปตามเนื้อหาของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ที่ ดร.ศิริเชษฐ์ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายหลักของโครงการฯ ว่า 

“สสส. คือหน่วยงานที่เริ่มต้นให้ความสนใจในเรื่องของคุณภาพชีวิตการทำงานของข้าราชการ แล้วทางสถาบันฯ ได้รับมอบภารกิจในการช่วยขยับให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมองว่า ทางจุฬาฯ เอง ก็มีฐานะเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนแห่งแรกของประเทศ มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” และได้สั่งสมองค์ความรู้จากการวิจัยมาในระดับหนึ่ง จึงมีความคิดในเรื่องการตอบแทนสังคม ซึ่งเราเห็นว่ายังมีจุดที่ยังขับเคลื่อนไม่ชัดและสามารถจะเข้าไปผลักดันได้ ยิ่งในอนาคตเมื่อมีเรื่องของประชาคมอาเซียน มีสังคมของอีก 9 ประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง เรายิ่งจำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภาครัฐให้พร้อมทั้งกายใจ เพราะเมื่อข้าราชการมีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดี ผลดีก็จะบังเกิดกับระบบทั้งหมด เป็นขวัญกำลังใจให้ข้าราชการ ทำให้ภาครัฐสามารถเก็บคนดีคนเก่งไว้ในองค์กรได้ ทั้งยังดึงเอาบุคลากรใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมงานได้อีกด้วย อันเป็นการตอบโจทย์อีกประการหนึ่งในเรื่องการแย่งชิงคนเก่ง (war of talents) ที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

“สำหรับตอนนี้ทางโครงการฯ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังเปิดรับองค์กรภาครัฐต่างๆ ที่ยินดีเข้าร่วมอยู่ โดยมีหน่วยงานราชการที่เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายแล้ว 11 ส่วนราชการระดับกรม หรือเทียบเท่ากรม คือ ราชบัณฑิตยสถาน กรมชลประทาน กรมราชทัณฑ์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ กับอีก 2 องค์กรขนาดใหญ่ คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว” หัวหน้าโครงการฯ สรุป

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code