เดินหน้าผลักดัน`วางผังเมือง`สร้างสุขภาพ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
ผังเมืองและการขนส่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาเมือง ถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง อีกทั้งยังมีความสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนในเมืองนั้นด้วย
การประชุมนานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016 : ISPAH 2016 Congress) หรือ IPSAH 2016 ภายในงานมีนักวิชาการ นักวิจัย ภาครัฐ และองค์กร เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน จาก 80 ประเทศทั่วโลก มาถกกันในเรื่อง "ผังเมืองและการขนส่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ" พร้อมหยิบยกเป็นประเด็นสำคัญของเสวนาครั้งนี้ด้วย
ศ.บิลลี กิลส์-คอร์ติ นักวิจัยการออกแบบผังเมืองจาก มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย อธิบายว่า รูปแบบกายภาพของเมืองนั้นส่งผลต่อสุขภาพประชาชน เพราะการวางผังเมืองเหมือนเป็นการบังคับหรือจูงใจให้ประชาชนใช้ชีวิตตามเส้นทางตามผังเมืองนั้น จึงควรวางผังเมืองให้กระชับ ไม่กระจัดกระจาย อีกทั้งมีการผสมผสานในการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อลดความจำเป็นในการเดินทางและการขนส่งสินค้า โดยกำหนดศูนย์บริการพื้นฐานที่จำเป็นในการใช้บริการของประชาชนให้ตั้งอยู่ในระยะการใช้จักรยานและการเดินไปถึง เพื่อจูงใจให้ประชาชนได้สัญจรในลักษณะที่เป็นกิจวัตร เช่น การเดิน หรือขี่จักรยานไปตลาด โรงเรียน หรือศูนย์บริการสาธารณสุข เป็นต้น
ทั้งนี้ ผังเมืองที่ได้ออกแบบสำหรับการดำเนินชีวิต โดยเชื่อมโยงสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในย่านหรือชุมชนนั้นๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญให้ประชาชนมีสุขภาพดี ป้องกันการเกิดโรคและปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา รวมทั้งยังก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน และสมาชิกภายในชุมชนอีกด้วย
ศ.บิลลี แสดงความเชื่อมั่นว่าการวางผังที่เหมาะสมกับกายภาพ มีการออกแบบให้เกิดความปลอดภัย เช่น ให้ความสำคัญกับการออกแบบทางเดินเท้า ทางข้าม สามแยก สี่แยก ที่จอดรถริมทางเท้า ระบบการลดความเร็วรถยนต์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุอันนำมาซึ่งความสูญเสียต่อชีวิตทรัพย์สิน และค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษา นอกจากนี้ยังต้องสร้างความร่วมมือกับทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นชุมชน รัฐบาล กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจ และนำไปสู่การวางแผนหรือนโยบายต่อไป
ด้าน ศ.มาร์ค สตีเวนสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและสาธารณสุข บอกว่า ความสัมพันธ์ด้านกายภาพของเมืองที่ไม่กระชับจะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน จากผลงานวิจัย พบว่า ประชาชนที่อยู่อาศัยในเมืองกระจัดกระจายจะมีดัชนีมวลกาย (MBI) สูงกว่ามาตรฐาน และค่าเฉลี่ยน้ำหนักสูงกว่าประชาชนที่อยู่อาศัยในเมืองที่กระชับประมาณ 2.7 กิโลกรัม โดยปริมาณของผู้เป็นโรคอ้วนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และโรคความดันโลหิตสูงมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อดัชนีการ กระจัดกระจายของเมืองเพิ่มขึ้น 50 แต้ม
อีกทั้งยังพบว่า ปัจจัยการเพิ่มขึ้นของโรคในเมืองกระจัดกระจายเกิดจากกิจวัตรประจำวันของประชาชนมีความสัมพันธ์กับการเดินน้อย เพราะประชาชนจะใช้รถยนต์ในการสัญจรเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนสูญเสียโอกาสในการมีสุขภาพดีอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้เชี่ยวชาญคนเดิม ยังเสนอให้ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างของเมืองให้เกิดความกระชับ เพื่อให้กายภาพบังคับและส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้สัมพันธ์กับการเดินและการใช้จักรยาน โดยสร้างโครงข่ายและปรับปรุงและพัฒนาทางเดินให้เชื่อมต่อกัน สร้างระบบการลดความเร็วรถยนต์ เพิ่มวงเวียน และที่สำคัญให้ปรับผังทางเดิน ทางจักรยานที่เชื่อมต่อระหว่างบ้านกับโรงเรียน หรือที่เรียกว่า เส้นทางปลอดภัยสำหรับนักเรียน โดยกำหนดให้เป็นเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุดของเมือง
"การปรับปรุงโครงสร้างของเมืองก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ความสำเร็จจะไม่เกิดขึ้นหากชุมชนสองข้างทางไม่เอื้อต่อกายภาพ สิ่งสำคัญคือต้องผลักดันให้ชุมชนเป็นผู้เปลี่ยนแปลงวิถีการเดินทาง และภาครัฐควรวางแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ขณะที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และนักลงทุน ต้องมีบทบาทนำในการลงทุนอาคารสำนักงาน ร้านค้าปลีก โรงแรม สถานบริการ และที่อยู่อาศัย ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ควรร่วมมือกันพัฒนาใช้เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานที่สะอาดสำหรับการสร้างระบบการเดินทางและย่านที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่เป็นภาระของเมืองในการบำบัดของเสียและมลภาวะ" ศ.มาร์คย้ำ
จากสถานการณ์สุขภาพเสื่อมโทรม คนอ้วนลงพุงจะเห็นได้ว่าระบบการเดินทางและการใช้จักรยานเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของประชาชน ทำให้ผู้บริหารเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องนำแนวคิดการพัฒนาเมือง ใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ ซึ่งที่ผ่านมา สสส.ได้ร่วมมือกับ กทม. และภาคีเครือข่าย ได้ทำโครงการ "กรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี" โดยมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเส้นทางที่เหมาะกับการเดินโดยปลอดภัย โดยใช้ยุทธศาสตร์ด้านการวางผังเมือง หวังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทย หยุดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ออกมาขยับเดิน มีสุขภาพดีห่างไกลโรคกันอีกด้วย