เดินชิลๆ ได้ชีวิตดีๆ
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"…การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดี และสังคมที่มั่นคง เพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้น โดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์ และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดี พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย…" พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช พ.ศ. 2522
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ปิดโครงการ "โรงเรียนรักเดิน" ได้ตามจุดประสงค์ นับจากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2557 จนปี 2561 นำมาสู่หนังสือ "คู่มือรักเดิน" ที่สรุปผลนำเสนอแนวทางและเทคนิคในการ ออกแบบและส่งเสริมการเพิ่มกิจกรรมทางกาย ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้โรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมหรือเสริมในกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลาเล่น ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยให้การเพิ่มกิจกรรมทางกาย ในโรงเรียนเป็นเรื่องสนุกและส่งเสริมสุขภาพแก่นักเรียน
เด็กอ้วนวันนี้ = ผู้ใหญ่อ้วนขี้โรคในวันหน้า
จากการมุ่งหวังให้เด็กไทยในทุกโรงเรียนมีสุขพลานามัยที่ดี และมีผลสำรวจว่าเด็กไทยอยู่ในภาวะ "โรคอ้วนลงพุง" ทำให้ สสส.หาวิธีการป้องกันปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง
ปัญหาใหญ่ที่พบเห็นในเด็กนักเรียน คือ เคลื่อนไหวร่างกายน้อย มีภาวะเฉื่อย และเนือยนิ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ระยะสั้น คือ ไม่มีสมาธิในการเรียน กระทบ ต่อผลการเรียน ส่วนระยะยาวเกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิด โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ดังนั้นการหาทางป้องกันย่อมดีกว่า
สอดคล้องกับผลสำรวจการมีกิจกรรมทางกายระดับประเทศ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ สสส. พบว่า ในปี 2557 กลุ่มเด็กในเขตเมืองมีภาวะเฉื่อยและเนือยนิ่งสูงถึง 13.5 ชั่วโมง/วัน
สาเหตุหลักมาจากการใช้เวลาส่วนใหญ่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมกับเวลานั่งเรียนทั้งในเวลาปกติและเรียนพิเศษนอกเวลา ทำให้คาดการณ์ว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า จะมีเด็กไทยถึง 1 ใน 5 ที่อยู่ในภาวะอ้วน สสส.จึงหันมามองว่าจะทำอย่างไรให้เด็กมีการขยับร่างกายมากขึ้น
ที่ผ่านมากิจกรรมของโครงการโรงเรียนรักเดินมีหลากหลาย เช่น ออกแบบกิจกรรมและเก็บข้อมูลกับโครงการโรงเรียนนำร่อง จำนวน 15 โรงเรียนในเขตกลุ่มกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อนำข้อมูลที่จัดเก็บได้มาใช้ในการออกแบบชุดความรู้ คู่มือโรงเรียนรักเดินเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเยาวชนไทยในโรงเรียนต่อไป
เด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมจะต้องเก็บจำนวนก้าวเดินในแต่ละวันให้ได้ 1 หมื่นก้าว ผ่านกิจกรรมทางเว็บไซต์และ Line เพื่อให้เด็กๆ เกิดความสนุกเข้ากับวิถีชีวิตประจำวันของเด็กสมัยใหม่
หัวใจของการออกแบบกิจกรรมต้องการให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรม โดยรบกวนเวลาทำงานของครูให้น้อยที่สุด
ก่อนร่วมกิจกรรมและหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมได้มีการวัดสมรรถภาพทางกายเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งผลที่ได้รับพบว่า เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอจะเห็นผลได้ชัดว่ามีสมรรถภาพทางกายที่ดีขึ้น
อีกทั้งกระตุ้นให้เด็กเกิดการเคลื่อนไหวทางกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เกิดทัศนคติที่ดีต่อการทำกิจกรรมทางกาย และมีการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง
กาย+ใจ = พัฒนาการสมองที่ดีขึ้น
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวถึงโครงการ "การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในมิติของการป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพ
การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในช่วงวัยเด็กสามารถส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการแบบองค์รวม ทั้งด้านพุทธิพิสัย (ทางด้านสติปัญญา) จิตพิสัย (การเรียนรู้ทางด้านเจตคติ) และทักษะพิสัย (การพัฒนาทักษะทางกาย) โดยผ่านการมีกิจกรรมทางกายแนะการเคลื่อนไหวเป็นประจำ
การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในเด็ก สามารถช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านสมองที่ส่งผลต่อการรับรู้ ความจำ สมาธิ และมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ด้านวิชาการ ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ ลดภาวะความเครียด คลายความวิตกกังวล ช่วยให้เกิดพัฒนาการด้านกระดูกและกล้ามเนื้อที่แข็งแรง สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในอนาคต โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำเด็กควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางขึ้นไปอย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน"
ในส่วนของการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลาเล่นนั้น ผู้อำนวยการ สสส. ให้ความเห็นว่า "สสส.ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อเสริมทักษะชีวิตที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมสุขภาพจากงานที่ สสส.ดำเนินการอยู่แล้ว ให้เป็นหลักสูตรที่สามารถนำไปใช้ในช่วง
ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ได้
ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ สสส.ให้ความสำคัญในการพัฒนาเรื่อง Active Play มาโดยตลอด เรื่องนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่พัฒนาเข้าสู่ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ด้วย
โรงเรียนรักเดิน เป็นหนึ่งกิจกรรมภายใต้โครงการ Active Play ที่สามารถส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายได้ตลอดทั้งในเวลาเรียนหรือนอกเวลาเรียน โดยการมีหลักสูตรส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมกับเด็ก"
ผศ.ดร.สุชาติ ทวีพรปฐมกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า การเพิ่มกิจกรรมทางกายนอกจากเด็กจะมีสุขภาพแข็งแรง มีความคล่องตัว มีความกระฉับกระเฉง อารมณ์แจ่มใสแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความฉลาด โดยมีงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศยืนยันตรงกัน
การออกแบบหลักสูตรที่ส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายทุกวัน สามารถนำไปสู่การเรียนที่ดีขึ้น ซึ่งการเคลื่อนไหวในช่วงสั้นๆ เพียง 3-5 นาที ก่อนเริ่มเรียน ระหว่างชั่วโมงคาบเรียน หรือช่วงพักกลางวัน จะช่วยให้สมองของเด็กมีความตื่นตัวในทุกมิติ โดยเฉพาะการมีสมาธิที่ดี ส่งผลกับการเรียนรู้และการจดจำได้ดียิ่งขึ้น
"ถ้าปลูกฝังให้เยาวชนเสพติดการมีกิจกรรมทางกาย ก็จะทำให้เกิดนิสัยถาวรในการรักการออกกำลังกาย ซึ่งเยาวชนอายุ 7-18 ปี หากมี การออกกำลังนอกจากจะช่วยเรื่องการเจริญเติบโต สุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรค NCDs การให้เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกายผ่านการเล่น หรือการทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ มีส่วนช่วยกระตุ้นการส่งสัญญาณประสาทหรือคลื่นไฟฟ้าในสมองที่เชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้น มีผลเชื่อมโยงต่อการพัฒนาของสมองได้ดีขึ้น ทำให้มีผลการเรียนที่ดีขึ้นอีกด้วย"
รักเดิน = รักสุขภาพ
ทางด้านตัวแทนโรงเรียนนำร่อง มยุรี อะหะหมัดจุฬา ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวุฑฒิศึกษา กล่าวว่า โรงเรียนเห็นผลได้อย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านการมีกิจกรรมทางกายของนักเรียนส่วนใหญ่ปรับพฤติกรรมการเดินทางมาโรงเรียนด้วยการเดินแทนนั่งจักรยานยนต์หรือให้ผู้ปกครองขับรถมาส่ง
รวมทั้งใช้เวลาว่างระหว่างการเปลี่ยนคาบเรียน ช่วงพักกลางวัน และช่วงเลิกเรียนออกมาขยับร่างกายมากขึ้น จากเดิมมีพฤติกรรมไม่ชอบขยับ ขาดการออกกำลังกาย
ในขณะเดียวกันโรงเรียนยังได้เพิ่มกิจกรรมทางกายตามคำแนะนำจากการเข้าร่วมโครงการ เช่น เต้นแอโรบิกก่อนเข้าชั้นเรียนช่วงเช้า การปรับเปลี่ยนห้องเรียนระหว่างคาบเรียน และ ต่อยอดเป็นโครงการเดินศึกษาแหล่งเรียนรู้ชุมชนช่างนาค สะพานยาว และบริเวณพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสวน สมเด็จย่า
"ปัญหาของโรงเรียนคือเด็กส่วนใหญ่มีภาวะอ้วน ถ้าผอมก็จะผอมขาดโภชนาการและการออกกำลังกาย ไม่กระฉับกระเฉงเลย แต่หลังการเข้าร่วมโครงการนักเรียนมีชีวิตชีวา กระฉับกระเฉงขึ้น มีการรวมตัวกันเดินมาโรงเรียน และสนุกสนานในการเล่นกีฬามากขึ้น ที่ได้ตามมาคือมีสมาธิในการเรียนและจดจำดีขึ้น ผลการเรียนดีขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับตัวเด็กและโรงเรียน"
ผู้อำนวยการ สสส. ดร.นพ.ไพโรจน์ ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จของโครงการโรงเรียนรักเดิน สามารถจัดทำคู่มือโรงเรียนรักเดิน ซึ่งเน้นการออกแบบให้ครูและนักเรียนร่วมกันกำหนดและออกแบบกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีความรู้สึกสนุกและสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการส่งเสริมการเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันให้เป็นนิสัย และใช้ช่องทางโรงเรียนเป็นสื่อสำคัญในการสื่อสารเข้าสู่ชุมชนและครอบครัว
ตอนนี้ "คู่มือโรงเรียนรักเดิน" เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้โรงเรียนที่สนใจสามารถนำไปใช้ออกแบบและพัฒนากิจกรรม "โรงเรียนรักเดิน" ได้ด้วยตนเอง เพราะภายในคู่มือได้ให้รายละเอียดไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถนำไปปรับใช้ออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมในแต่ละโรงเรียนได้เอง
"…ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสำหรับให้ออกแรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรง ให้พอเหมาะ พอดีโดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว ดังนั้น ผู้ที่ปกติทำการงานโดยไม่ได้ใช้กำลัง หรือใช้กำลัง แต่น้อย จึงจำเป็นต้องหาเวลาออกกำลังกาย ให้พอเพียงกับความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน…" พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช พ.ศ. 2523