เซ็นทรัลนำร่อง’องค์กรปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์’
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
ประเทศไทยต้องสูญเสียเม็ดเงินจากการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่ ถึงปีละ 75,000 ล้านบาท ปัญหาดังกล่าว นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ค่อยๆ บั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไม่แพ้ปัญหาด้านอื่นๆ เลยก็ว่าได้
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กลุ่มเซ็นทรัล กระทรวงสาธารณสุข ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติ เพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ คลินิกฟ้าใส และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เปิดตัว "สมาพันธ์เครือข่ายเซ็นทรัลเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่" เพื่อประกาศเจตนารมณ์เป็นองค์กรปลอดบุหรี่ 100% ภายใน 5 ปี ทั้งยังให้การสนับสนุนและขานรับนโยบายและ มีส่วนร่วมในโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ในประเทศไทย เทิดไท้องค์ราชัน รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยลดน้อยลง
สำหรับการที่เซ็นทรัลเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่ประกาศเจตนารมณ์เป็นองค์กรปลอดบุหรี่ โดยตั้งเป้าว่า จะมีตัวเลขผู้สูบบุหรี่ เป็น 0% ตั้งแต่ ปี 2561-2566 สุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักนโยบายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวถึงการประกาศเจตนารมณ์ครั้งนี้ว่า บริษัทได้ดำเนินโครงการเพื่อผลักดันพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กระทรวงสาธารณสุข คลินิกฟ้าใส ภาคีเครือข่ายเภสัช โดยรณรงค์ภายใต้แนวคิดขับเคลื่อนที่ว่า "เราไม่ห้าม..แต่เราห่วง" ให้เป็นศูนย์กลาง การให้ความรู้ความเข้าใจ การจัดฝึกอบรม เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ สร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาบุคลิกภาพ ใส่ใจในสุขภาพของตนเองและครอบครัว ขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนเซ็นทรัลพันธ์ฮีโร่ รวมถึงสนับสนุนมอบรางวัลแก่ผู้ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ในเป้าหมายการดำเนินโครงการ 5 ปีนี้ โดยตั้งเป้าว่าจะมีบุคลากรที่สูบบุหรี่เป็น 0% พร้อมทั้งร่วมผลักดันให้ตัวเลข ผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยลดลงอีกด้วย
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง การแก้ปัญหาการลดจำนวนคนไทยที่ สูบบุหรี่ รวมถึงการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่ ห่างไกลบุหรี่ว่า
"เราทุกคนเห็นการตายจากอุบัติเหตุ วันละหลายสิบคน ปีหนึ่ง ประมาณ 24,000 คน แต่บุหรี่เสียชีวิตปีละ 50,000 คน ซึ่งเป็น 2 เท่า ของอุบัติเหตุ แต่ไม่มีใครเห็นการเสียชีวิตบนถนน ไม่มีการตายหมู่ แต่ให้นึกเสมอว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ รถจักรยานยนต์ เสียชีวิต 1 คน มีการ สูญเสียชีวิตจากบุหรี่ 2 คน หากมีรถคว่ำเสียชีวิต 10 คน แต่มีคนสูบบุหรี่แล้ว เสียชีวิต 20 คน ซึ่งมองว่าข้อมูลตรงนี้สำคัญมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องรณรงค์การเลิกสูบบุหรี่ตั้งแต่เยาวชน และทันทีที่ประกาศนโยบายนี้ ครอบครัวของคนที่ สูบบุหรี่จะมีความสุขทันที เชื่อว่าผลกระทบไม่ได้มีอยู่แค่คนที่สูบบุหรี่แล้วจะเลิก แต่พนักงานทั้งหมดได้รับสัญญาณว่า ผู้บริหารห่วงใยพวกเขาทันที"
อริชญ์ งามพีระพงศ์ วัย 28 ปี ผู้จัดการแผนกประชาสัมพันธ์ องค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด หนึ่งในกลุ่มคนเซ็นทรัลพันธุ์ฮีโร่ ที่เข้าร่วมโครงการบอกเล่าว่า
"เริ่มจากเพื่อนในกลุ่มสูบ ก็ลอง จนสูบมาเรื่อยๆ ประมาณวันละครึ่งซอง เป็นช่วงวัยคะนองที่เที่ยวกับเพื่อน ประมาณ 4-5 ปีที่ชีวิตอยู่กับบุหรี่"
ส่วนจุดเปลี่ยนในการเลิกสูบบุหรี่เกิดเพราะเวลาเล่นกีฬาเริ่มรู้สึกตัวว่าเหนื่อยมาก หายใจไม่ทัน เกือบจะเป็นลม จึงทำให้รู้สึกว่าต้องลด ละ เลิกบุหรี่เพื่อสุขภาพให้ได้ ถ้าห้ามความอยากได้ก็สามารถเลิกได้ และถ้าทุกคนในบริษัทเลิกบุหรี่ได้ ภาพลักษณ์ขององค์กร จะดีขึ้น และยังหมายถึงบุคลิกภาพและสุขภาพก็จะดีขึ้นด้วย ซึ่งตนเองก็สัมผัสได้จริงๆ
รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวถึงบทบาทและความร่วมมือของคลินิกฟ้าใสเพื่อที่จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมปลอดบุหรี่ ว่า คลินิกฟ้าใส เป็นเครือข่ายสำคัญที่จะช่วยผลักดันโครงการ ให้บรรลุเป้าหมายได้ ซึ่งสิ่งแรกในการจะเลิกบุหรี่ คือ ต้องห่วงตนเองว่า ถ้าหาก สูบบุหรี่แล้วป่วย ครอบครัวจะทำอย่างไรความห่วงหาอาทรเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้คนที่อยู่ในกระบวนการเลิกบุหรี่เลิกได้โดยคลินิกฟ้าใสทั่วประเทศยินดีและพร้อมที่จะเป็นกลไกสำคัญในการ ขับเคลื่อนให้โครงการนี้สำเร็จ