เช็กเต้ากันสักทีดีไหม ?
ควรจะตระหนักรู้กันว่า มะเร็งเต้านมนั้นพบมากเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย และยังคาดการณ์กันว่าในปีนี้จะมีหญิงไทยราว 13,184 คนที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม นั่นไม่ร้ายเท่ากับว่าจะมีคนเสียชีวิตราว 4,665 ราย หรือราว 1 ใน 3 ของคนที่เป็นเลย ทีเดียว
น.พ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้กล่าวถึงสถานการณ์มะเร็งเต้านมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ประเทศไทยมีสถิติเฉลี่ย 30.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ที่เป็นโรคมะเร็งเต้านม และตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากยอดสะสมของผู้ป่วยที่มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคใต้มีแนวโน้มสูงขึ้น
ขณะนี้มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมคิดเป็น 20.9 เปอร์เซ็นต์ เป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 เป็นมะเร็งปากมดลูก จำนวน 18.1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้หญิงในประเทศไทย อายุต่ำกว่า 40 ปี มีค่าเฉลี่ยการเป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มสูงขึ้นที่ 33.4 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเสียชีวิตแล้ว 4,000 กว่าราย มียอดผู้ป่วยใหม่ในปี 2010 จำนวน 13,184 ราย กรุงเทพฯมีอัตราการเกิดโรคสูงสุด 34.1 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไปเป็น โรคมะเร็งเต้านมเพิ่มสูงขึ้น และเขตพระโขนง กรุงเทพฯมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสูงที่สุด
ฉะนั้นคุณๆ ผู้หญิงจะต้องตรวจดูตัวท่านเองว่าอยู่ในเกณฑ์ที่มีปัจจัยเสี่ยงบ้างหรือไม่ ปัจจัยเสี่ยงมีอยู่หลายประการ ได้แก่ ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป กรรมพันธุ์ มีญาติพี่น้องเคยเป็นมะเร็ง กินยาคุมกำเนิดเกิน 5 ปี มีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี อายุเกิน 35 ปีแล้วไม่มีบุตร ประจำเดือนมาก่อนอายุ 11 ปี ประจำเดือนหมดหลังอายุ 50 ปี
ปัจจัยเสริม เช่น ทำงานดึกๆ ดื่นๆ เครียด ออกกำลังกายน้อย รับประทานอาหารไขมันมาก อ้วน สูบบุหรี่ การดื่มสุรา การรับยาฮอร์โมนในภาวะที่มีบุตรยากหรืออายุมากขึ้น และจากสถิติพบว่า หากการตรวจมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก จะส่งผลให้อัตราการมีชีวิตรอดเพิ่มขึ้นถึง 98% โดย mammogram เป็นเทคโนโลยีในการตรวจหามะเร็งเต้านมที่สามารถตรวจได้ในระยะเริ่มแรกตั้งแต่มีขนาดเล็ก เพื่อการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที
หากสงสัยก็ควรไปตรวจเช็กเสีย เรื่องของเต้านมเป็นเรื่องที่คุณๆ ผู้หญิงต้องใส่ใจกันเป็นพิเศษ
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
update:14-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย:คีตฌาณ์ ลอยเลิศ