ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เสนอให้นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นภาษีบุหรี่ ทั้งนี้ จากข่าวที่ว่ากรมสรรพสามิตเก็บภาษียาสูบได้เพิ่มขึ้น และตัวเลขยอดจำหน่ายบุหรี่ที่ยังคงที่ แสดงว่าผลของการขึ้นภาษีครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ได้หมดไปแล้ว โดยยอดจำหน่ายบุหรี่ พ.ศ.2551 ก่อนขึ้นภาษี เท่ากับ 1,837 ล้านซอง พ.ศ.2552 เท่ากับ 1,790 ล้านซอง และ พ.ศ.2553 เท่ากับ 1,800 ล้านซอง
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า สาเหตุที่ยอดขายบุหรี่ไม่ลดลง เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น รวมทั้ง บริษัทบุหรี่รับมือกับการขึ้นภาษีบุหรี่ของรัฐบาล โดยการออกบุหรี่ยี่ห้อใหม่ๆ ที่มีราคาถูก เพื่อพยายามที่จะรักษาลูกค้าไว้
ทั้งนี้ ภาษีบุหรี่ของไทยขณะนี้ จัดอยู่ในระดับสูงปานกลาง คือ แม้จะมีอัตราภาษีสรรพสามิต เท่ากับ 85 เปอร์เซ็นต์ของราคาหน้าโรงงาน สำหรับบุหรี่โรงงานยาสูบ หรือราคาซีไอเอฟ สำหรับบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่โดยรวมแล้ว มีสัดส่วนภาษีรวมทั้งหมดต่อราคาขายปลีกเท่ากับ 68-69 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนักวิชาการธนาคารโลก แนะนำให้ประเทศต่างๆ กำหนดให้สัดส่วนภาษีต่อราคาขายปลีกให้เท่ากับ 75 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จึงจะเป็นอัตราภาษีที่จะส่งผลให้คนไม่สูบบุหรี่เพิ่มขึ้น และสกัดกั้นการเข้ามาติดบุหรี่ใหม่ของเยาวชน
อนึ่ง การขึ้นภาษีบุหรี่เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการควบคุมยาสูบ ประเทศไทยได้ใช้นโยบายการขึ้นภาษียาสูบเป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมยาสูบ การวิเคราะห์ผลการควบคุมยาสูบระหว่าง พ.ศ.2534-2549 ที่มีผู้สูบบุหรี่ไทยน้อยกว่าที่ควรจะมี 4 ล้านคน ร้อยละ 60 เป็นผลจากการขึ้นภาษีบุหรี่ 6 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ.2537 – 2549 และตั้งแต่ พ.ศ.2537 จนถึง พ.ศ.2553 มีการขึ้นภาษี 9 ครั้ง เฉลี่ยแล้วมีการขึ้นภาษีบุหรี่ทุกหนึ่งปีเจ็ดเดือน แต่การขึ้นภาษีครั้งสุดท้ายได้ผ่านมาเกือบสองปีแล้ว จึงถึงเวลาแล้วที่นายกควรจะขึ้นภาษีบุหรี่อีกครั้ง
ที่มา: มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่