เครือข่ายเยาวชนโวย โรงงานยาสูบหวังหาเงินจากสุขภาพเด็ก
หลังพบไทยมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 19 ติดบุหรี่แล้วกว่า 3 แสนคน
ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนอาสาสร้างสถานศึกษาปลอดบุหรี่ โวยที่ผู้บริหารโรงงานยาสูบคิดหาเงินจากสุขภาพของเด็กและเยาวชน ทั้งๆที่ประเทศไทยได้รับการยกย่องในเวทีโลกให้เป็นประเทศต้นแบบที่มีมาตรการในการควบคุมการบริโภคยาสูบที่ดีที่สุด
จากกรณีที่โรงงานยาสูบเตรียมออกบุหรี่ยี่ห้อใหม่ โดยหวังทำตลาดกับกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะนั้น นายเกษมศักดิ์ จันดี นักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนเครือข่ายเยาวชนอาสาสร้างสถานศึกษาปลอดบุหรี่ กล่าวว่า “รู้สึกเสียใจและเศร้าใจเป็นอย่างมากที่โรงงานยาสูบจะผลิตบุหรี่ยี่ห้อใหม่มาเพื่อขายให้กับกลุ่มวัยรุ่น ผมและเพื่อน ๆ จากเครือข่ายเยาวชนอาสาสร้างสถานศึกษาปลอดบุหรี่ ได้พยายามรวมกลุ่มกันเพื่อนทำโครงการที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสถานศึกษาและเพื่อให้สถานศึกษาเป็นเขตปลอดบุหรี่ โดยผมและเพื่อน ๆ พยายามที่จะรณรงค์ป้องกันไม่ให้เพื่อน ๆ เยาวชนติดบุหรี่และทำให้สังคมไทยมีพื้นที่ปลอดควันบุหรี่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานศึกษาต่าง ๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่บ่มเพาะปลูกฝังพลังของชาติ แต่การที่โรงงานยาสูบทำแบบนี้เหมือนเป็นความพยายามที่สวนทางกับความต้องการของเด็กและเยาวชนเอง โรงงานยาสูบแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการอยากให้เยาวชนลูกหลานไทยติดบุหรี่เพิ่มมากขึ้น ต้องการให้เยาวชนไทยมีสุขภาพที่เสื่อมโทรม กลายเป็นอนาคตของชาติที่มองไม่เห็น จึงวอนให้ทบทวนนโยบายทำลายเยาวชนแบบนี้เสียใหม่ด้วย”
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าเสียใจที่ในขณะที่การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ คือ นโยบายระดับชาติที่ทุกภาคส่วนล้วนให้ความสำคัญ การดำเนินมาตรการต่าง ๆ กำลังก้าวหน้าไปด้วยดี ไทยถือเป็นผู้นำในการควบคุมยาสูบโดยเฉพาะตามกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบโลกหรือ fctc และมาตรการที่สำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ คือ การปกป้องเด็กและเยาวชนจากการถูกชักจูงให้สูบบุหรี่ของอุตสาหกรรมบุหรี่ที่ล้วนแต่ทำกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบต่างๆเพื่อขายบุหรี่กับเด็ก”
“รัฐบาลของทุกประเทศที่ลงนามใน fctc ล้วนแต่พยายามที่จะดำเนินการ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน แต่โรงงานยาสูบกลับตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง การออกแบบผลิตบุหรี่มีรสชาติที่ทำให้สูบง่ายขึ้นนั้น เป็นสิ่งเดียวกับที่บริษัทบุหรี่ต่างประเทศคิดและทำเพื่อจับเด็กวัยรุ่นมาแล้วทั่วโลก และเป็นผลให้ทั่วโลกมีเยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ วันละ 80,000 – 100,000 คน ซึ่งธนาคารโลกระบุว่า เด็กในประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มสูบบุหรี่วันละ 14,000-15,000 คน และในประเทศกำลังพัฒนา เริ่มสูบบุหรี่วันละ 68,000 – 84,000 คน สำหรับประเทศไทยขณะนี้มีเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 19 ปีติดบุหรี่แล้วกว่า 300,000 คน”
ปัจจุบัน วัยรุ่นเป็นกลุ่มที่ถูกกำหนดให้เป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้า หรือบริการ หลายอย่างก่อให้เกิดปัญหาจนยากต่อการควบคุม แก้ไข ในขณะที่ปัญหาการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนแม้จะยังไม่รุนแรง แต่ต้องไม่ลืมว่าการสูบบุหรี่เป็นตัวนำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ฉะนั้นผมหวังว่าโรงงานยาสูบคงจะทบทวนการหาเงินเข้าคลังด้วยวิธีที่ต้องแลกมาด้วยสุขภาพของเด็กว่าคุ้มกันแล้วหรือไม่” เลขาธิการมูลนิธิฯกล่าว
ที่มา : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
update 25-11-51