เครือข่ายเยาวชนฯ หนุนเชียร์บอลปลอดเหล้า ห้ามดื่ม ห้ามขี้เมาเข้าสนาม


เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ หนุนแนวคิด ปธ.พรีเมียร์ลีก เชียร์บอลปลอดเหล้า ห้ามดื่ม ห้ามขี้เมาเข้าสนาม แนะจนท.คุมเข้ม เพิ่มมาตรการห้ามขายก่อนและหลังเตะ 3 ชม. จี้เร่งประสาน สธ.ออกเป็นกฎหมายตามพรบ.คุมเหล้า เชื่อสร้างบรรยากาศเชียร์แบบมีสติ ลดปัญหาทะเลาะวิวาท


วันนี้ (10 มี.ค.) ที่ห้องประชุมสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย สนามกีฬาศุภชลาศัย ปทุมวัน เมื่อเวลา 10.00 น. นายคำรณ ชูเดชา ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา พร้อมด้วยเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กว่า 40 คน เข้าพบ ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด เพื่อสนับสนุนแนวคิดห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และห้ามคนเมาเข้าสนามฟุตบอล พร้อมทั้งเสนอนโยบายเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว


นายคำรณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแข่งขันในหลายสนาม ยังขาดความใส่ใจและความเข้มงวด ปล่อยให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสนามแข่ง ดังนั้นการแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกครั้งนี้ ควรให้ความสำคัญ กับมาตรการด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะแฟนบอลที่เข้ามาชมการแข่งขัน ส่วนหนึ่งมีความคึกคะนอง คุมสติไม่ได้ สาเหตุเพราะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้าชมการแข่งขัน และระหว่างชมการแข่งขัน ซึ่งนำเครื่องดื่มเข้ามาในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เปิดเผยและหลบซ่อนเข้ามาในขวดน้ำ ขวดเครื่องดื่มอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า บริเวณด้านหน้าสนามแข่ง มีร้านค้าแผงลอยขายเหล้า เบียร์ เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาตขายเหล้า เราพบว่ามีการดื่มอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่มีมาตรการควบคุมหรือห้ามปรามตรงจุดนี้


ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนฯ กล่าวว่า การทะเลาะวิวาทในสนามแข่งฟุตบอลถือเป็นปัญหาที่ซ้ำซาก ทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของการแข่งขันฟุตบอล ดังนั้น มูลนิธิฯ และเครือข่ายเยาวชนฯ ขอแสดงจุดยื่นและเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น คือ 1.ขอสนับสนุนแนวคิด ห้ามนำสุราเข้าสนามฟุตบอล และห้ามดื่มสุราขณะชมฟุตบอล โดยขอให้เข้มงวดในการตรวจ เนื่องจากมีการหลบเลี่ยงโดยบรรจุในขวดน้ำพลาสติกหรือขวดเครื่องดื่มอื่นๆเพื่อตบหน้าเจ้าหน้าที่ 2.ขอให้พิจารณาเพิ่มมาตรการห้ามผู้ที่มีอาการเมามายครองสติไม่ได้เข้าสนามฟุตบอล โดยเด็ดขาด 3. ขอให้พิจารณามาตรการห้ามจำหน่ายสุรา บริเวณรอบสนามและในสนาม ก่อนการแข่งขัน 3 ชั่วโมง และต่อเนื่องไปจนถึงหลังการแข่งขัน 1 ชั่วโมง โดยการประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 27(8) และมาตรา 31 (7) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีบทลงโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 4.ประสานงานกับสรรพสามิตตรวจสอบ ผู้จำหน่ายสุรารอบๆสนามฟุตบอล ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นการขายแบบชั่วคราวหรือเร่ขาย โดยไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายสุรา ให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493


“การห้ามจำหน่ายเหล้า เบียร์ รอบสนามและในสนาม รวมทั้งห้ามดื่มในสนาม พิสูจน์แล้วว่าสามารถลดความรุนแรง ความวุ่นวาย การทะเลาะวิวาทระหว่างแฟนบอลได้ และที่สำคัญมาตรการห้ามคนเมาเข้าสนามก็มีผลบังคับใช้เกือบทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีการแข่งขันฟุตบอลระดับโลก อาทิ อิตาลี รัสเซีย และบราซิล” นายคำรณ กล่าว


ด้าน นายถิระวัฒน์ พันธุ์ม่วง เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พยายามใช้กลยุทธ์วิธีที่หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ที่เป็นเป้าหมายหลักทางการตลาดของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้วิธีเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลัก และมีผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นๆโฆษณาแฝง มีการจัดจำหน่ายให้กับสโมสรที่ตัวเองสนับสนุน ยิ่งหากเป็นช่วงเทศกาลการแข่งขันฟุตบอลนัดต่างๆ ธุรกิจเหล่านี้ก็จะจัดโปรโมชั่นหลอกล่อเยาวชน ดังนั้นจึงอยากฝากถึงเยาวชนและแฟนบอลทุกคนให้เชียร์บอลอย่างมีสติ ไม่จำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็สนุกได้ โดยเฉพาะการเชียร์บอลในสนามแข่งฟุตบอลเนื่องจากเป็นสถานที่สาธารณะที่มีทั้งเด็ก ผู้หญิง ร่วมอยู่ด้วย หากรู้ตัวว่าเมาจนครองสติไม่ได้ก็ควรเชียร์บอลอยู่ที่บ้าน ไม่ควรเข้าไปชมการแข่งขัน เพราะหากเกิดการทะเลาะวิวาทจะทำให้ครอบครัวหรือบุคคลที่ตั้งใจเข้าไปดูฟุตบอลได้รับความเดือดร้อนไปด้วย รวมทั้งผู้จัดงานควรมีมาตรการที่เข้มงวด ในการลดผลกระทบที่จะตามมาด้วย ควรทำสนามฟุตบอลให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวด้วย


 


 


ที่มา : สำนักข่าว สสส.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ