เครือข่ายผู้ปกครอง ประตูบานใหม่ในวงการการศึกษา

          ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุย และถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับแนวทางการจัดการศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในบ้านเรา ที่ถูกปรับเปลี่ยน และพัฒนาโดยใช้งบประมาณมหาศาล แต่ความสัมฤทธิ์ผลยังคงไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดนัก

/data/content/23755/cms/fgknrsuz1368.jpg

แฟ้มภาพ

          สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกของไทย จัดเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างองค์กร สถาบัน และกลุ่มนักวิชาการต่างๆ เพื่อร่วมกันมองหาแนวทางการปฏิรูประบบการศึกษาในบ้านเราตลอดเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวม 9 เวที ได้แก่ (1) กลุ่มผู้บริหาร/บุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น (2) กลุ่มผู้บริหาร/บุคลากรทางการศึกษา โรงเรียน/วิทยาลัยที่จัดโดยภาคธุรกิจเอกชน (3) กลุ่มผู้ปกครอง (4) กลุ่มผู้บริหาร/บุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนขนาดเล็กสังกัด สพฐ. (5) เครือข่ายการศึกษาทางเลือก (6) กลุ่มเด็กและเยาวชน (7) กลุ่มนักบริหาร และ นักวิชาการด้านการศึกษา (8) กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเอกชน และ (9) กลุ่มสื่อมวลชนที่สนใจด้านการเรียนรู้ของเด็ก และเยาวชน

          ข้อมูลจากเวทีเสวนา กลุ่มเครือข่ายผู้ปกครอง พบว่า ปัญหาของโรงเรียนในปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ที่ขนาดของโรงเรียน และจำนวนนักเรียนจำนวนมากที่เดินหน้าเข้าสู่ สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง แต่พื้นที่ และระบบการเรียนการสอนรวมทั้งจำนวนครูอาจารย์กลับไม่พอเพียงกับจำนวนนักเรียน ซึ่งระดับการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพนั้นควรจะมีจำนวนนักเรียนต่อห้อง 30 คน แต่ในขณะที่ปัจจุบัน โรงเรียนขนาดใหญ่มีเด็กนักเรียนต่อห้องมากถึงห้องละ 50 คน

          นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ รองประธาน คณะกรรมการบริหารแผน สำนักที่ 4 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันเป็นแบบรวมศูนย์มากเกินไป จึงทำให้ไม่มีประสิทธิภาพและศักยภาพมากพอที่จะบริหารจัดการได้อย่างทั่วถึง

“ต้องบอกว่า เด็กจะดีและเก่ง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับโรงเรียนเพียงอย่างเดียว หากแต่การเอาใจใส่ และพร้อมให้การสนับสนุน การเรียนรู้แก่เด็กๆ อย่างเหมาะสมของพ่อแม่หรือผู้ปกครองก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ” นายแพทย์ยงยุทธ กล่าว

          นอกจากการวางรากฐานด้านการจัดการ และการเรียนการสอนในโรงเรียนจะเป็นเรื่องสำคัญแล้ว บทบาทของพ่อแม่ ในการทำงานประสานกับทางโรงเรียน และดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน โดย คุณธนากร คฤส กรรมการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ได้เสนอแนะการจัดตั้งองค์กรกลาง ของเครือข่ายผู้ปกครอง เพื่อระดมความคิด และดึงกลุ่ม ผู้ปกครองเข้ามาช่วยดูแลพัฒนาการศึกษาของเด็กๆ อย่างต่อเนื่อง

          “องค์กรกลางที่จะตั้งขึ้น ควรเป็นองค์กรที่พร้อมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของพ่อแม่ผู้ปกครองในโรงเรียน ตรงนี้เน้นว่า เข้าไปมีส่วนร่วม มิได้จะเข้าไปก้าวก่าย จากนั้น ควรมีมาตรการ จริงๆ ที่เอื้อต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในโรงเรียน เช่น การเป็นคณะกรรมการของสถานศึกษา เพื่อร่วมประเมินคุณภาพ ของสถานศึกษา และได้รู้ถึงแนวทางการพัฒนาการเรียน การสอนของครูที่จะนำมาสอนเด็กนักเรียน”  เวทีในครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นในการระดมพลของแวดวงการศึกษา และถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกภาคส่วนจะได้ พูดคุยและหันหน้าเข้าหากัน และจะเป็นการร่วมกันพัฒนาเพื่อยกระดับกระบวนการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก และเยาวชนของชาติ เพื่อให้เขาเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นเป็นมันสมอง อันชาญฉลาดและเป็นแรงขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไปในอนาคต

 

 

          ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code