‘เกาะเกิด’ส่งต่อความสุข ด้วยวิถีภูมิปัญญา
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
พื้นที่กว่า 8,000 ไร่ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาของบ้านเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา นอกจากเป็นชุมชนที่อยู่ดีมีสุข เต็มไปไปเยี่ยมเยือน เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เลือกส่งความสุขผ่านทริปท่องเที่ยว "Sook travel สุขกาย สุขใจ ด้วยวิถีภูมิปัญญาชาวเกาะเกิด" ณ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
ชักชวนไปชมการจัดการพื้นที่ด้วยภูมิปัญญาของชุมชน สร้างความมั่น คงทางอาหารด้วยการปลูกผักอินทรีย์ ทำเกษตรผสมผสาน ออกกำลังกายและยืดเหยียดด้วยม้ายืนเพื่อสุขภาพ รวมถึงการอนุรักษ์ขนมโบราณด้วยสิ่งที่มีในชุมชน เรียกว่าเติมเต็มอาหารสมองใน 4 มิติ ทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญาให้กับเพื่อนร่วมเดินทางครั้งนี้ ซึ่งเป็นรูปแบบความสุขที่ สสส.ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตลอด 15 ปี
ทุกวันนี้ ชุมชนเกาะเกิดพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตในแบบโฮมสเตย์ริมแม่น้ำอย่างน่าสนใจ ผู้ใหญ่ลำพูน พรรณไวย ประธานกลุ่มโฮมสเตย์เกาะเกิด เป็นพลังสำคัญรวบรวมผู้นำชุมชนและคนเก่าแก่ที่มีภูมิปัญญา มาร่วมสร้างชุมชนบ้านเกาะเกิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญตามแนวปฏิบัติตามหลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง
เรื่องราวความเป็นมาของชาวเกาะเกิดอันเข้มแข็ง นายสุชิน อุ้มญาติ ประธานชมรมท่องเที่ยวเกาะเกิด เล่าให้ฟังว่า ในปี 2551 ได้รับเลือกเป็นประธานโครงการ "อยู่ดีมีสุข เพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง" โดยดึงเด็กและผู้สูงอายุในหมู่บ้านเข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรมเพื่อสลายความสัมพันธ์แบบสังคมเมืองที่เหินห่าง ให้กลายเป็นความผูกพันใกล้ชิดของคนในชุมชน โดยนำความสุขและรอยยิ้มของทุกคนเป็นที่ตั้ง
บ้านเกาะเกิด ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน กิจกรรมหลักของชุมชนมี 9 จุดเรียนรู้ ประกอบด้วย สมุนไพรอายุวัฒนะ น้ำกลั่นสมุนไพรไล่แมลง ขนมไทยโบราณ น้ำนมข้าวยาคู หมี่กรอบโบราณ โรงเห็ด ไม้ยืนเพื่อสุขภาพ ไร่นาสวนผสม และไหว้พระสมัยกรุงศรี
"ผู้ที่มาเยือนจะพักที่โฮมสเตย์เรียนรู้วิถีชีวิตกับชาวบ้าน มีกิจกรรมใส่บาตรยามเช้าริมแม่น้ำ ปั่นจักรยานชมชุมชน ดูวิธีการทำขนมไทย รำวงกับเยาวชน แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม นอกจากนี้เราได้รวบรวมองค์ความรู้ด้วยการจัดการความรู้ทั้งหมด 15 เรื่อง เพื่อถ่ายทอดให้คนในชุมชน รวมถึงคนที่มาศึกษาดูงาน" สุชินกล่าวด้วยรอยยิ้ม
เจ้าบ้านอย่างสุชินได้พาไปเรียนรู้การทำ "น้ำกลั่นสมุนไพรไล่แมลง" โดยใช้ใบของสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ ใบสาปเสือ ใบสะเดา ใบยูคาลิปตัส ใบตะไคร้หอม และใบน้อยหน่าที่ปลูกในชุมชน ชนิดละ 1 กิโลกรัม มากลั่นในหม้อที่คิดค้นจากภูมิปัญญาของเขา คุณสมบัติของน้ำกลั่นสมุนไพรนอกจากฉีดพ่นไล่แมลง ทำให้พืชผักปลอดจากสารเคมีแล้ว ยังใช้ถูพื้นและทำความสะอาดบ้านเรือนได้อีกด้วย
ด้วยวิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยา การเกษตรของชาวชุมชนจึงต้องปรับตัวไปตามธรรมชาติ นายธงธน ชัยดำรง และ นางวรินทร์ทิพย์ ชัยดำรง สามีภรรยาที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ออกแบบพื้นที่กว่า 20 ไร่ให้คุ้มค่าด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรแบบผสมผสานตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ไปเรียนรู้จะได้ทึ่งกับระบบการเกษตรที่เพาะปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ ในพื้นที่เดียวกัน ภายใต้การเกื้อกูลกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มีผักกว่า 50 ชนิด ทั้งคู่แบ่งพื้นที่ทำนา 23 ไร่ และปลูกไผ่ล้อมรอบที่นา เลี้ยงปลา ทำฟาร์มเลี้ยงเป็ดไก่ ทุกกระบวนการไร้สารเคมี อีกทั้งประยุกต์นำขยะที่ชาวบ้านทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำ โฟม มาปลูกพืชลอยน้ำ
ดูแล้วเพลิดเพลิน ที่น่าสนใจสอดคล้องกับสิ่งที่ สสส.ให้ความสำคัญ หนุนให้ชุมชนสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตั้งแต่ต้นทาง มีพืชผักอินทรีย์บริโภค ไร้สารตกค้างตัวการก่อโรค นี่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ปลอดภัยอย่างแท้จริง
"เมื่อเราปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ที่เรากินเองโดยไม่พึ่งพาสารเคมี เท่ากับว่าได้มีอาหารที่ดี กินอิ่ม สุขภาพดีเท่านี้ก็เพียงพอ มีความสุขแล้ว ไม่ต้องเสียเงินซื้อกับข้าวครั้งละมากๆ เพราะเลี้ยงสัตว์และปลูกในสิ่งที่เรากิน เราได้เฝ้าดูในสิ่งที่ปลูก สิ่งที่สร้าง ได้คิดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เราเรียนรู้จากตำราและจากการลงมือทำจริง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์จริงเกิดเป็นภูมิปัญญาส่งต่อให้กับคนรุ่นหลัง" ธงธนเล่าให้ฟังอย่างภูมิใจ
ภูมิปัญญาด้านสุขภาพที่นี่ก็เด่น การออกกำลังกายและยืดเหยียด "ม้ายืน ม้านอน ม้าหัวเข่า เพื่อสุขภาพ" เริ่มต้นจากผู้ใหญ่ลำพูนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เมื่อญาติได้นำม้ายืนมาใช้เพื่อแก้อาการเส้นตึงจึงให้ นายสำอางค์ พรรโณภาส ช่างไม้ประจำชุมชน ผลิตขึ้นไว้ใช้คลายเส้นให้กับคนทุกเพศทุกวัย บรรเทาอาการปวดต้นคอ บ่า ไหล่ เอว หัวเข่า และขา โดยใช้เวลาในการบริหารเพียงวันละ 15-20 นาที เป็นประจำทุกวัน
ยังมีจุดเรียนรู้การกวน "ขนมข้าวยาคู" ของขึ้นชื่อของชาวเกาะ ส่งกลิ่นหอมยั่วยวน เป็นบ้านของนางพเยาว์ รัตนปรากฎ แม่ครัวผู้เชี่ยวชาญการทำขนมข้าวยาคูและน้ำนมข้าวยาคู โดยใช้ข้าวอ่อนมาตำให้เม็ดพอละเอียด แล้วนำมากรอง หลังจากนั้นนำน้ำมาเคี่ยวกับน้ำตาลและแป้ง จนเป็นสีเขียวนวลคล้ายแป้งเปียก ราดหน้าขนมด้วยกะทิหรือมะพร้าวอ่อน รสชาติละมุน ทำให้ผู้ร่วมทริป Sook Travel ต้องรีบชิมขนมแสนอร่อยกัน
น.ส.สิทธิรัตน์ นันท์มนัส และ นายสุไลมาน ต่ายแย้ม ที่ชักชวนกันมาร่วมทริปนี้และประทับใจสุดๆ สิทธิรัตน์บอกว่า เมื่อเห็นการประชาสัมพันธ์จากเฟซบุ๊กของ Sook ก็รีบสมัครร่วมทริปทันที สนใจเรื่องสมุนไพร เศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งตนเองอยู่แล้ว ต้องขอบคุณ สสส.มากที่จัดกิจกรรมดีๆ ทำให้เราเห็นความสุขในมิติของกาย ใจ ได้เห็นชาวบ้านที่สามารถพึ่งตนเองจากสิ่งที่เขามี จะนำความรู้ใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์
ส่วนนางอุษณีย์ จริยวิลาศกุล กล่าวว่า ขอบ คุณ สสส.มากที่จัดทริปดีๆ ถ้าครอบครัวมาเที่ยวกันเองคงไม่ได้ความรู้เช่นนี้ หลังเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนเกาะเกิด รู้สึกประทับใจในความสัมพันธ์ของชุมชน เห็นความเข้มแข็ง ความร่วมมือ และสามารถจัดการหมู่บ้านของตนให้เป็นไปตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงสร้างสุขภาพที่ดีได้เอง สิ่งเหล่านี้เราตีค่าเป็นเงินไม่ได้ แต่เป็นคุณค่าทางจิตใจที่ทุกคนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขและใช้ชีวิตด้วยความพอเพียงอย่างยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ สสส.พร้อมจะส่งความสุขอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 26 ส.ค.นี้ พบกับมหกรรม SOOK Festival ที่รวบรวมกิจกรรมสุดฮอตที่พร้อมจะสร้างเสริมสุขภาวะ ไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน ผู้สูงอายุ คุณพ่อคุณแม่ หรือน้องๆ วัยเรียน โดยติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ www.thaihealth.or.th/sook หรือ www.facebook.com/SOOK สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line ID: @SOOK หรือโทร. 08-1731-8270 หรือ 0-2343-1500 กด 2