“เกษตรอินทรีย์” วิถีธรรมชาติในชีวิตเมือง
อาหาร ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อร่างกายคนเรา และถ้ายิ่งรับรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สด สะอาด ปราศจากสารพิษอีกด้วยแล้วล่ะก็ ก็ยิ่งดีต่อสุขภาพของเรา แต่นั่น….กลับเป็นเรื่องยากที่จะหาได้ในปัจจุบันนี้ เพราะอาหารในบ้านเราตอนนี้ ต่างมีสารปนเปื้อนอยู่เต็มไปหมด จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่าในปี 2553 คนไทยป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงสูงถึง 1 .3 ล้านราย เสียชีวิต 42 ราย และมีพิษสะสมจนเกิดเป็นโรคมะเร็ง เสียชีวิตสูงปีละ 60,000 ราย นั่นล้วนมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น หากยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ต่อไป คนไทยอาจมีอายุเฉลี่ยที่สั้นลงทุกวันก็เป็นได้….
เมื่อในท้องตลาดมีแต่อาหารปนเปื้อน คงไม่แปลกที่หลายคนเริ่มหันมาสนใจการบริโภคเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น เพราะกระแสการรักสุขภาพในช่วงนี้กำลังมาแรงเสียเหลือเกิน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้น แล้วเรารู้จักเกษตรอินทรีย์มากน้อยแค่ไหน???
นายนคร ลิมปคุปตถาวร นักวิชาการอิสระ ประจำโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนบอกกับเราว่า จริงแล้วเกษตรอินทรีย์ก็คือเกษตรที่ทำเองตามธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมี กำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนต่างๆ รวมไปถึงไม่ใช้พืชหรือสัตว์ที่เกิดจากการตัดต่อทางพันธุกรรมที่อาจเกิดมลพิษในสภาพแวดล้อม เพราะเราไม่รู้ว่าการตัดต่อพันธุกรรมพืชจะมีผลต่อสุขภาพเรามากน้อยแค่ไหนในอนาคต
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าผักแต่ละชนิดมีประโยชน์มากมายมหาศาล แล้วยิ่งเป็นของที่ไม่มีสารพิษเจือปนอีกด้วยแล้ว ผลผลิตที่ได้ออกมานั้นก็จะปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ก็คงไม่ต้องบอกว่าผู้ที่รับประทานเข้าไปร่างกายคงได้รับวิตามินแบบครบถ้วนแถมปลอดภัยอีกด้วย ไม่ใช่เพียงผู้บริโภคเท่านั้นผู้ผลิตเองก็ยังปลอดภัยด้วย ซึ่งนักวิชาการอิสระ ประจำโครงการสวนผักคนเมือง บอกต่อว่า เกษตรอินทรีย์ไม่ได้เพียงมีประโยชน์ต่อร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีประโยชน์ในด้านของสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะการทำเกษตรอินทรีย์เป็นการช่วยอนุรักษ์และปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้สมบูรณ์ขึ้น ทำให้ห่วงโซ่อาหารที่ถูกทำลายไปกลับฟื้นคืน ทำให้ประชาชนมีอาหารที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา เช่นเดิม ทั้งยังทำให้ลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรได้กำไรมากขึ้น เกษตรกรที่ยากจนสามารถปลดเปลื้องหนี้สินให้ลดลงและหมดไปได้อีกด้วย
รู้อย่างนี้แล้วหลายคนอาจอยากเริ่มลองหันสนใจเกษตรอินทรีย์มากขึ้น แต่คงต้องมีคำถามตามมาอีกว่า หากต้องการจะปลูกหรือทำการเกษตรอินทรีย์เองนั้นสามารถทำได้หรือไม่? เนื่องจากสังคมปัจจุบันกลายเป็นชุมชนเมืองกันไปหมดแล้ว โดย นายนคร บอกเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ชุมชนเมือง ที่มีพื้นที่แคบๆ ก็สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้เช่นกัน เพียงเราประยุกต์เอาวัสดุเหลือใช้มาทำ ไม่ว่าจะเป็นกระถาง ขวดน้ำ ตะกร้า กะละมัง หรือยางรถยนต์ และเริ่มจากการปลูกพืช ผักสวนครัวเล็กๆ น้อยๆ โดยที่ไม่ใช้สารเคมี
“แต่เรื่องแดดก็มีความสำคัญ พื้นที่นั้นจำเป็นต้องรับแดดอย่างน้อยครึ่งวัน โดยควรเลือกปลูกพืชประเภทเด็ดยอดรับประทาน เช่น กระเพรา โหระพา หากพื้นที่ตรงนั้นไม่รับแดดเลย ก็อยากแนะนำให้เป็นการเพาะเห็ดและถั่วงอกน่าจะดีที่สุด”นายนครกล่าว
สุดท้ายนี้ นายนครได้กล่าวไว้ว่า เกษตรอินทรีย์มีข้อดีมากมาย จึงอยากเชิญชวนให้คนไทยหันมาบริโภคเกษตรอินทรีย์ หรืออาหารที่มาจากแนวทางการผลิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ที่อาจมีหลายชื่อ เช่น เกษตรยั่งยืน เกษตรไร้สารพิษ เพียงแต่ให้มั่นใจว่าปลอดสารพิษ เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวคุณและคนที่คุณรัก
เมื่อการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องทำเอง ก็คงถึงเวลาที่เราจะหันมารักตัวเองด้วยการบริโภคเกษตรอินทรีย์กันเถอะ เพราะสุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th