ฮักแพงแบ่งปัน อีสานสร้างสุข

ฮักแพงแบ่งปัน อีสานสร้างสุข

เรื่องโดย  ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก งานมหกรรม“ฮักแพงแบ่งปัน อีสานสร้างสุข” ครั้งที่ 5

ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                     “ชุมชนเข้มแข็ง คือรากฐานสำคัญของการมีสุขภาพดี และเป็นรากฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกด้าน” คำกล่าวสุดประทับใจของ ดร. สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. จากงานมหกรรม “ฮักแพงแบ่งปัน อีสานสร้างสุข ครั้งที่ 5” ในปีที่ผ่านมา ณ จังหวัดขอนแก่น เมืองเสียงแคนแดนดอกคูน งานนี้มีได้เพียงได้เห็นผลลัพธ์ความสำเร็จจากการดำเนินงานของ สสส. เท่านั้น

                     แต่ยังเห็นการมัดรวมผลงานเด่นความพิเศษของแต่ละชุมชน ในเขตภาคอีสานเข้ามาร่วมแชร์ บอกเล่าเรื่องราว ต่อการเดินหน้าสานพลังขยายการสร้างชุมชนเข้มแข็งแต่ละแห่งมาไว้ในงาน  ทำให้เห็นภาพกว้างทุกด้านในเชิงลึกอีกด้วย

                     การขับเคลื่อนงานชุมชนเข้มแข็งที่ผ่านมาของ สสส. เป็นอย่างไร งานมหกรรม “ฮักแพงแบ่งปัน อีสานสร้างสุข ครั้งที่ 5” ครั้งนั้น มีตัวแทนร่วมบนเวทีเสวนา หัวข้อ “ความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่ของระบบบริการปฐมภูมิและสภาผู้นำชุมชน”

                     ไม่ว่าจะเป็น กำนันรวิภา หันตุลา กำนันตำบลเทพคีรี จ.หนองบัวลำภู หรือ คุณวิจิตร จันทวงษ์ นักบริหารงานสาธารณสุข เทศบาลชนบท จ.ขอนแก่น และ คุณธานี นามม่วง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์  ตลอดจนตัวแทนอีกหลายคนบนเวที ให้คำตอบถึงความสำเร็จ ดีใจกับการมี สสส. เข้ามาสนับสนุนและนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาให้

                     เป็นเวลากว่า 10 แล้วที่ สสส. สานพลังร่วมงานกับภาคีเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศไทย ร่วมมือกันจัดการปัญหาด้านสุขภาพของพื้นที่ ผ่านนวัตกรรมกลไกสภาผู้นำชุมชนภาคอีสาน สานพลังทีมพี่เลี้ยง สร้างการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนชุมชนในประเด็นสร้างเสริมสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ และในปี 2565 นี้ สสส. พัฒนานวัตกรรมระบบการเป็นหุ้นส่วนจัดการสุขภาพร่วมกัน ระหว่างระบบบริการสุขภาพและกลไกสภาผู้นำชุมชน ผ่าน 2 โมเดล ที่สำคัญ

                     จากโมเดลพี่เลี้ยง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 56 แห่ง สานพลังร่วมกับสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ (สสป.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิและระบบสุขภาพภาคประชาชน

                     และจากโมเดลพี่เลี้ยง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 11 แห่ง ที่ได้ใช้กลไกสภาผู้นำชุมชนเข้มแข็งเป็นกลไกดำเนินการในพื้นที่ผ่านแผนชุมชนพึ่งตนเอง

                     ดร. สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวถึงการทำงานขับเคลื่อนชุมชนน่าอยู่ภาคอีสาน  ในโอกาสเดียวกันอีกด้วย ว่า… “…สสส. เราทำงานการสร้างเสริมสุขภาพ เน้นการทำงานที่ต้นน้ำ คือ การป้องกันก่อนรักษา ทำอย่างไรให้คนไทยสุขภาพดี และ 1 ใน 5 อย่าง ที่จะทำให้คนมีสุขภาพดี คือ ชุมชนเข้มแข็ง การสร้างชุมชนเข้มแข็ง เป็นมาตรการสำคัญ เพราะชุมชนที่เข้มแข็งจะรู้ปัญหาและมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชนตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                     สสส.เราทำงานชุมชนเข้มแข็งในหลายมิติ ในโมเดลสำคัญและเป็นที่มาของงานฮักแพงแบ่งปัน อีสานสร้างสุขครั้งนี้ มีการสร้างกลไกระดับหมู่บ้าน คือ สภาผู้นำชุมชน มาร่วมคิด ร่วมทำ แก้ปัญหาร่วมกัน กลไกนี้จะมีผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือที่เราเรียกว่า พี่เลี้ยง จากหลายส่วนมาช่วยกัน ตั้งแต่คณะวิชาการของ สสส. ผู้นำท้องถิ่น และ ผอ.รพ.สต ในพื้นที่ พี่เลี้ยงเหล่านี้ทำหน้าที่ไปกระตุ้นและสร้างกลไกสภาผู้นำชุมชนขึ้นมา และนำมาซึ่งการร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหาจากหลายส่วนในชุมชน มีรูปธรรมที่เกิดขึ้นชัดเจน เช่น มีการส่งเสริมการลดปัจจัยเสี่ยงในชุมชน สร้างความปลอดภัยทางถนนในชุมชน ส่งเสริมการกินอาหารที่ดีและปลอดภัย การมีกิจกรรมทางกาย การป้องกันโรค NCDs และการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเรานำแนวทางการจัดการที่ได้มารวมกันและพัฒนาเป็นโมเดลเพื่อเตรียมพร้อมขยายผลสู่ระบบบริการชุมชน และใช้โมเดลสภาผู้นำชุมชนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนสร้างเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้” ดร. สุปรีดา กล่าว

                     ขณะเดียวกัน นางสาวรวิภา หันตุลา กำนันตำบลเทพคีรี อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู หนึ่งในตัวแทนสภาผู้นำชุมชนบ้านเทพคีรี เล่าถึงการทำงานสุขภาวะชุมชนในพื้นที่ตำบลเทพคีรีให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า..

                     “บ้านเทพคีรี ม.6 จ.หนองบัวลำภู มีผู้นำชุมชนที่แข็งแกร่ง ร่วมกันทำงานจนเกิดผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีในชุมชน ซึ่งก่อนนั้นเรามองว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของหมอ ของโรงพยาบาล แต่หลังจากที่เราได้ร่วมงานกับ สสส. เมื่อประมาณปี 2559 เรารู้สึกว่า ชุมชนของเราได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ดีมาก เป็นเครื่องมือที่ สสส. ให้มาทำให้ชุมชนได้เรียนรู้มากมาย เช่น การจัดการข้อมูลที่ชุมชนจัดเก็บข้อมูลด้วยตนเอง เป็นการทำงานที่ค่อย ๆ เกิดการเรียนรู้สาทารถทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหา วิเคราะห์ข้อมูล และมีการวางแผนนำไปสู่แผนพัฒนาชุมชน ซึ่งเดิมเรื่องสุขภาพ เราไม่เคยมีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะเช่นนี้

                     แต่พอ สสส. เข้ามาหนุนเสริมก็ได้เชื่อมประสานการทำงานบูรณาการร่วมระหว่างชุมชนและหน่วยงานด้านสุขภาพในพื้นที่ผ่านกลไกสภาผู้นำชุมชน ทำให้ชุมชนรู้จักการดูแลสุขภาพ การป้องกันตนเองจากปัจจัยเสี่ยง   อีกทั้งกลไกสภาผู้นำชุมชนยังสามารถทำให้ชุมชนในตำบลเทพคีรีของเรา สามารถจัดการปัญหาในด้านอื่นได้ด้วย ทั้งด้านเศรษฐกิจ ที่สนับสนุนให้ชุมชนรู้จักการจัดการหนี้สินในครัวเรือน การวางแผนการเงิน

                     จะว่าเราโชคดีที่ได้รับกระบวนการการทำงานที่ดีจาก สสส. ก็ว่าได้ ทำให้รู้ปัญหาของชุมชน และมีวิธีการดำเนินที่แก้ไขอย่างถูกจุด ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจในชุมชนโดยการจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินในชุมชน ที่เปรียบเหมือน “ธนาคารหมู่บ้าน” รวมถึงเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้ได้ขยายไปทั้งหมด 8 หมู่บ้านในตำบลเทพคีรีอีกด้วย” นางสาวรวิภา กล่าว

                     สอดรับกับ คุณดวงดาว สารัตน์ พยาบาลวิชาชีพ สสอ.เมืองสรวง และ คุณจามจุรี คำผายจันทร์ ผอ.รพ.สต.บ้านวังม่วง กล่าวบนเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมชนน่าอยู่โมเดล พชอ./รพ.สต. ด้วยการนำเสนอการพัฒนาโมเดล พชอ./รพ.สต.กับชุมชนน่าอยู่ มีวิธีการทำงาน สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ผลลัพธ์ความสำเร็จจากการดำเนินงาน ว่า…

                     “…เป็นผลจากกลไกสภาผู้นำชุมชน โมเดลพี่เลี้ยงที่ สสส. และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นแบบแผนการทำงานการสร้างเสริมสุขภาพ พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง จะเห็นได้ว่า ไม่เพียงแค่เรื่องสุขภาพเท่านั้น แต่โมเดลนี้ยังทำให้ชุมชนได้รู้ถึงปัญหาด้านอื่น ๆ ในชุมชนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ช่วยให้ชุมชนวิเคราะห์และหา แนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างตรงจุด สร้างเสริมสุขภาพครบทุกมิติให้เกิดขึ้นในชุมชน…”

                     เป็นเวลากว่า 21 ปีแล้ว ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนให้เกิดสุขภาวะครบทุกด้านในชุมชน ทำงานแบบบูรณาการ สานพลังจากทุกภาคส่วน ร่วมกันสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และยังคงเดินหน้าสร้างเสริมสุขภาพเพื่อการมีสุขภาวะที่ดีของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยต่อไป

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ