‘ฮอร์โมนหิว’ ต้าน ‘ซึมเศร้า’
ส่งผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ที่กินอาหารมากเกินไป
ลอนดอน : บีบีซี นิวส์ ออนไลน์ รายงานผลการศึกษาของนักวิจัยซึ่งนำทีมโดย ดร.เจฟฟรีย์ ซิกแมน แห่งศูนย์การแพทย์เซาท์เวสเทิร์น มหาวิทยาลัยเทกซัส ของสหรัฐ พบว่าฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นความหิวนั้นเกี่ยวพันกับอาการซึมเศร้าด้วย โดยจากการศึกษากับหนูพบว่าหนูที่มีระดับฮอร์โมนดังกล่าวเพิ่มขึ้น มีสัญญาณของความซึมเศร้าและวิตกกังวลน้อยกว่า
ฮอร์โมนเกรลินถูกปล่อยออกมาในขณะท้องว่าง จากนั้นจะเข้าสู่กระแสเลือดก่อนเคลื่อนที่ไปยังสมองซึ่งเป็นจุดที่จะไปกระตุ้นความรู้สึกหิว นักวิจัยเชื่อว่าการบำบัดด้วยฮอร์โมนหรือยาที่ถูกออกแบบเพื่อยับยั้งผลกระทบของฮอร์โมนตัวนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคน 2 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มที่บริโภคอาหารน้อยเกินไป เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง และกลุ่มผู้ที่บริโภคอาหารมากเกินไป
ขณะเดียวกันหากมีการปรับระดับฮอร์โมนให้เหมาะสมก็จะเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น ช่วยลดอาการซึมเศร้าหรือลดความเครียดกังวลได้อีกทางหนึ่ง โดยในการศึกษาพบว่าหนูที่ถูกเลี้ยงดูโดยจำกัดอาหารในห้องทดลองเป็นเวลา 10 วัน ทำให้ระดับฮอร์โมนตัวนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าตัว และเมื่อเทียบกับหนูที่ได้รับอาหารอย่างอิสระเสรีพบว่าหนูที่ถูกจำกัดอาหารมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลน้อยกว่า จากการทดสอบพฤติกรรมและให้เข้าเขาวงกต
ส่วนการศึกษากับหนูดัดแปลงยีนเพื่อทำให้ร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนดังกล่าว และเลี้ยงดูด้วยอาหารจำกัดแคลอรีเหมือนกัน พบว่าไม่มีผลช่วยต้านอาการซึมเศร้าได้ เช่นเดียวกับเมื่อทำให้หนูมีฮอร์โมนปรับเพิ่มขึ้นด้วยการทำให้หนูเครียด
ที่มา:หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
update : 17-06-51