‘อุตรดิตถ์โมเดล’ ระดมกึ๋นใช้ขี้วัว-เศษขยะพลิกฟื้นชุมชนอย่างยั่งยืน

เมื่อระบบการศึกษาของไทยในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ได้ยึดเอาวิชาความรู้ด้านวิชาการเป็นตัวตั้ง จึงทำให้กลายเป็นระบบการศึกษาที่ตัดขาดจากรากเหง้าของตัวเอง ให้ห่างจากชีวิตจริงและสังคมไทยที่ควรจะเป็นสิ่งเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อสังคมไทย

'อุตรดิตถ์โมเดล' ระดมกึ๋นใช้ขี้วัว-เศษขยะพลิกฟื้นชุมชนอย่างยั่งยืน

1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อเรื่อง “มหาวิทยาลัย…พลังแก้วิกฤติชาติ” ภายในงาน “1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด:อุตรดิตถ์โมเดล สู่การพัฒนาท่าเหนือเมืองน่าอยู่” ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขยายผลแนวคิด “อุตรดิตถ์โมเดล” ตอนหนึ่งว่า ในขณะที่สังคมได้วิวัฒน์และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ระบบการศึกษาที่ลอยตัวจากความเป็นจริงจะไม่สามารถสร้างสติปัญญาให้สังคมไทยได้เพียงพอที่จะรักษาบูรณภาพและดุลภาพในตัวเองได้

'อุตรดิตถ์โมเดล' ระดมกึ๋นใช้ขี้วัว-เศษขยะพลิกฟื้นชุมชนอย่างยั่งยืน

“การสูญเสียสิ่งเหล่านี้ จึงนำไปสู่วิกฤตการณ์ของการศึกษารวมไปถึงปัญหาต่างๆ ของประเทศ โครงการ 1 มหาวิทยาลัย1 จังหวัด ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เป็นการปฏิรูปแนวคิดและระบบการศึกษาจากการเอาวิชาเป็นตัวตั้งเปลี่ยนเป็นเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งแทน ซึ่งพื้นที่ในที่นี้ก็คือ ความเป็นจริงของชีวิต การอยู่ร่วมกัน ทั้งระหว่างคนกับคน และคนกับสิ่งแวดล้อม โดยมีองค์กร สถาบันต่างๆ มาเรียนรู้ร่วมกันในเชิงปฏิบัติ ซึ่งก็จะทำให้เกิดพลัง เกิดจิตสำนึก เกิดการพัฒนาที่แท้จริง เมื่อพื้นที่ในทุกจังหวัดมีอย่างน้อย 1 มหาวิทยาลัย มาทำงานร่วมกัน ฐานของประเทศไทยก็จะแข็งแรง มั่นคงและยั่งยืน” อาจารย์ประเวศระบุ

รศ.ดร.ฉัตรนภา พรหมมา หัวหน้าโครงการ 1 มหาวิทยาลัย1 จังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า อุตรดิตถ์โมเดลเป็นการทำงานในลักษณะที่มีภาควิชาการ เข้าไปเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งเดียวกัน กับองค์กรภาคีในพื้นที่ทุกภาค ให้เกิดเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกัน มีการสร้างองค์ความรู้ จัดการทำแผนวิจัยเพื่อให้สนองยุทธศาสตร์ของจังหวัด และเชื่อมโยงงานวิจัยไม่เฉพาะแค่ของมหาวิทยาลัย แต่บูรณาการกับภาคีเพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่จะไปตอบโจทย์และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตามวิสัยทัศน์ของจังหวัด คือ “อุตรดิตถ์เพื่อคุณภาพชีวิต ผลผลิตปลอดภัย ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สัมพันธ์พื้นบ้านยั่งยืน”

'อุตรดิตถ์โมเดล' ระดมกึ๋นใช้ขี้วัว-เศษขยะพลิกฟื้นชุมชนอย่างยั่งยืน

อ.ฉัตรนภานำคณะดูงาน “อุตรดิตถ์โมเดล”

“การผนึกกำลังกันอย่างที่ทำอยู่ ถ้ายิ่งได้การสนับสนุนเชิงนโยบายจากทุกระดับให้มีเครือข่ายสานพลังกันไม่ซ้ำซ้อนต่างคนต่างทำ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต่อไปก็ขยายไปเต็มพื้นที่ แล้วก็ยังมาแลกเปลี่ยนสิ่งดีๆ กัน เกิดการยกระดับสั่งสมองค์ความรู้มีความแกร่งมีพลังในการที่จะจัดการกับสิ่งต่างๆไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหรือการแก้ปัญหาต่างๆ ก็จะทำได้มากขึ้น”อาจารย์ฉัตรนภา กล่าว

‘วิทยาลัยวัว’ ศูนย์กลางพัฒนาคน

'อุตรดิตถ์โมเดล' ระดมกึ๋นใช้ขี้วัว-เศษขยะพลิกฟื้นชุมชนอย่างยั่งยืน

ดังตัวอย่างการเข้าไปร่วมกับชาวบ้านใน “ตำบลป่าเซ่า” ที่ประกอบอาชีพหลักคือ “การเลี้ยงวัว” จำนวนมากกว่า 800 ตัวซึ่งก่อให้เกิด “ขี้วัว” จำนวนมาก สร้างปัญหาด้านต่างๆ กลิ่นและภาพที่ไม่สวยงามที่เกิดขึ้นในชุมชน ทางคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จึงได้เข้าไปศึกษาสภาพปัญหาในพื้นที่ร่วมกับชุมชน โดยทางออกของปัญหาจึงมาสรุปที่ “ก๊าซชีวภาพ” และ “ปุ๋ยขี้วัว” พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของ “วิทยาลัยวัว” อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคนโดยใช้วัวเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาในด้านอื่นๆ ที่สอดคล้องกับอาชีพและวิถีชีวิตของชุมชน

ผศ.ดร.เจษฎา มิ่งฉาย ผศ.ดร.เจษฎา มิ่งฉาย หัวหน้าคณะทำงาน เปิดเผยว่าในแต่ละวันวัว 1 ตัวจะก่อให้เกิดขี้วัวจำนวนมากถึง 6 กิโลกรัม เมื่อก่อนชาวบ้านก็จะแก้ปัญหาด้วยการนำมาตากแห้งขายทำปุ๋ยแต่เมื่อเราเข้ามาคิดหาทางออกร่วมกันก็พบว่าขี้วัวนั้นมีประโยชน์ต่อชุมชนแห่งนี้มากกว่าที่คิด

“เราจึงนำขี้วัวมาใช้ผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านลดรายจ่ายแต่ละเดือนในเรื่องของค่าก๊าซหุงต้มลงไปได้ 100-150 บาทต่อเดือน ของเสียที่เหลือจากการผลิตก๊าซ ก็ยังนำมาผลิตเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพดีได้ เพื่อให้ชาวบ้านนำไปใช้ในการปลูกข้าวซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ บางรายที่ไม่ได้ทำนาก็ยังสามารถส่งขายให้กับธนาคารปุ๋ย สร้างรายได้เสริมได้อีกทางหนึ่ง โดยปัจจุบันมีชาวบ้านที่เห็นความสำคัญและหันมาใช้ก๊าซชีวภาพจำนวน 18 ครัวเรือน และกำลังขยายผลออกไปสู่ครัวเรือนอื่นๆที่เหลือ” อาจารย์เจษฎากล่าว

‘ธนาคารขยะ’ พัฒนาชุมชน

'อุตรดิตถ์โมเดล' ระดมกึ๋นใช้ขี้วัว-เศษขยะพลิกฟื้นชุมชนอย่างยั่งยืน

หรือที่ “ตำบลหาดสองแคว” ที่ทางคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เข้าไปช่วยชุมชนแก้ปัญหาในการจัดการ “ขยะ” โดยจับมือกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เริ่มจากการปลูกฝังแนวคิด “ลดขยะในครัวเรือน” จนทำให้เกิดการ “พัฒนาคน” แล้วต่อยอดขยายผลไปสู่การทำ “เกษตรอินทรีย์” ของชุมชน จนทำให้ตำบลแห่งนี้ได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบการจัดการขยะถึง 6 ปีติดต่อกัน

นายสถิต เม่นแต้ม แกนนำชาวบ้านหาดสองแคว เปิดเผยว่า ทางชุมชนได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์หาวิธีการแก้ปัญหามลพิษจากขยะในชุมชนมาตั้งแต่ปี 2547 โดยใช้ขยะสร้างคนในชุมชน ให้มีส่วนร่วม มีความคิดในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน

“จากการแก้ปัญหาเรื่องขยะเมื่อคนในชุมชนรู้จักการคัดแยกขยะก็เกิดเป็นธนาคารขยะสร้างอาชีพให้คนในชุมชน ขยะเศษอาหารก็สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยได้ ซึ่งจากจุดเริ่มต้นคือเรื่องของขยะได้ขยายผลออกไปสู่การส่งเสริมให้คนในชุมชนทำนาด้วยการลดต้นทุนการผลิตทำนาแบบเกษตรอินทรีย์โดยปัจจุบันมีโรงปุ๋ยอินทรีย์จำนวน13 โรงในชุมชน มีแปลงปลูกข้าวอินทรีย์รวมกันกว่า 454 ไร่ ผลผลิตที่ได้ยังมีชาวต่างชาติมารับซื้อถึงในชุมชนเพื่อส่งขายยังต่างประเทศได้ในราคาที่สูงถึงตันละ 18,360 บาท” นายสถิต กล่าว

สร้างองค์ความรู้-สู่การเปลี่ยนแปลง

ทพ.กฤษฎา เรืองอารีย์รัชต์ ทพ.กฤษฎา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ บอกว่า “อุตรดิตถ์โมเดล” เป็นรูปแบบการทำงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ร่วมกับภาคีภาครัฐและชุมชนในการร่วมกันพัฒนาและสร้างสุขภาวะให้กับคนในพื้นที่เพื่อสร้างชุมชนน่าอยู่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามทำงานในเรื่องนี้กันมาก แต่ก็เห็นได้ชัดว่ายังไม่สามารถจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ หรือว่าการเปลี่ยนแปลงที่ถาวรได้ เพราะสิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือเรื่องของ “องค์ความรู้”

“ที่อุตรดิตถ์เห็นได้ชัดว่าปัญหาหลักของพื้นที่คือ เรื่องปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไรมหาวิทยาลัยจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากโดยมีอาจารย์มากกว่าครึ่งหนึ่งที่ลงไปทำงานกับชุมชน ซึ่งทำให้รู้ปัญหาในพื้นที่จริงๆ นำองค์ความรู้ที่เป็นสากลเข้าไปปรับปรุงกับพื้นที่ได้ พอทำแล้วก็เกิดผลทันทีเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

'อุตรดิตถ์โมเดล' ระดมกึ๋นใช้ขี้วัว-เศษขยะพลิกฟื้นชุมชนอย่างยั่งยืน

เพราะฉะนั้นสสส.หวังว่าโมเดลแบบนี้จะถูกขยายผลแนวคิดออกไป โดยสิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือมหาวิทยาลัย มีความคิดและพร้อมที่จะออกไปรับใช้สังคมแล้วหรือยังซึ่งก็จะไปตรงกับแนวคิดเรื่องหนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัดถ้าเกิดขึ้นก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทยอย่างมหาศาล” ผู้จัดการ สสส. กล่าวสรุป

ก้าวย่างเล็กๆ ของ “อุตรดิตถ์โมเดล” ในวันนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ให้กับสังคมไทยอย่างแน่นอน…

         

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code